xs
xsm
sm
md
lg

กก.สมานฉันท์เคาะมติเสนอโละ ส.ว.สรรหา เหลือแต่ ส.ว.เลือกตั้ง 200

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา
ประชุมกรรมการสมานฉันท์ถกเครียดที่มา ส.ว.หลังหลายฝ่ายเห็นพ้อง ส.ว.สรรหา คัดเลือกจากคนเพียง 7 คน ต่างจาก ส.ว.เลือกตั้งที่มาจากประชาชน จนที่ประชุมเห็นพ้องเคาะให้โละ ส.ว.สรรหา เหลือแต่เพียง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ถอดถอนนักการเมือง ทั้งกำหนดจากเขตเลือกจังหวัดเป็นหลัก

วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาในประเด็นที่ 3 เรื่องระบบ ส.ว.โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการ รายงานว่า อนุกรรมการมีความเห็นแตกต่างกัน โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ควรให้ ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 200 คน แต่อีกส่วนเห็นว่า ให้คงรูปแบบตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ การกำหนดให้ ส.ว.มีที่มาจากการเลือกตั้งสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะยึดโยงกับประชาชน ส่วน ส.ว.สรรหา มาจากกรรมการสรรหา 7 คน แต่มีอำนาจสรรหาเท่ากับอำนาจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่เหมาะสม และในจำนวนกรรมการสรรหา 3 คนใน 7 คนนั้นมาจากศาล จึงเสมือนเป็นการนำองค์กรตุลาการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งกรณีนี้เคยมีคณะทำงานของศาลฎีกาได้แสดงความเห็นแล้วว่าไม่ควรให้ศาลเข้าไปเป็นองค์ประกอบ อย่างไรก็ดี ต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงกำหนดที่มาของ ส.ว.เพราะอาจกลายเป็นการกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่มากเกินความเป็นวุฒิสภา เช่น การมีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือ ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ระบบปัจจุบันในส่วน ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน หากเปรียบเทียบคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนในต่างจังหวัด ซึ่งมี ส.ว.ได้ 1 คนเท่ากับกรุงเทพฯ จะเห็นว่า คะแนนเสียงที่ได้ในบางจังหวัดไม่กี่หมื่นคะแนน ขณะที่การออกเสียงในกรุงเทพฯ ผู้ลงสมัครที่ได้คะแนนอันดับสองได้คะแนนสูงกว่า แต่กลับไม่ได้เป็น ส.ว.อย่างไรก็ดี อนุกรรมการบางส่วนเห็นว่า ควรคงที่มาของ ส.ว.ให้มีทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และสรรหา

จากนั้นได้เปิดให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็น โดยกรรมการมีความเห็นหลากหลาย ทั้งระบบผสมแบบปัจจุบัน, เปลี่ยนไปเหมือนปี 2540, ปรับปรุงระบบปัจจุบันให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อ ส.ส.จะใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว ส.ว.ก็น่าจะมาจากการสรรหาทั้งหมด โดยมีที่มาจากทุกสาขาอาชีพ เพื่อมากลั่นกรองกฎหมาย แต่หากไปกำหนดข้อห้ามว่าถ้าใครได้รับเลือกเป็นส.ว.แล้ว สมาชิกในครอบครัว ทั้งสามี ภรรยา หรือลูก ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นอยู่ด้วย ตนเห็นว่า จะขัดรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพราะบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถจะทำอะไรก็ได้ และตนไม่เห็นด้วยหาก ส.ว.จะมีที่มาแบบลูกผสมในปัจจุบัน เพราะอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจน และทำให้เกิดปัญหาการตีความในใจ

นายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา กรรมการ กล่าวว่า ส.ว.ระบบผสม ในส่วนสรรหา ส.ว.สรรหาหลายคนไม่สบายใจ เพราะถูกเลือกมาจากคน 7 คน เช่น พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ก็เคยบ่นกับตนว่ารู้สึกอึดอัดที่ได้รับการการคัดเลือกจากคนเพียง 7 คน เช่นกัน อย่างไรก็ดี การมี ส.ว.สรรหาก็มีประโยชน์ เพราะทำให้มีการผสมผสานในเรื่องผู้เชี่ยวชาญ แต่หากเกรงว่าจะเกิดปัญหาการยึดโยงกับประชาชนจะให้มีวุฒิสภาระบบผสมก็ให้คง ส.ว.เลือกตั้งไว้ตามเดิม ส่วน ส.ว.สรรหา ตนเสนอให้มีระบบเลือกตั้งทางอ้อม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการเลือก และได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพที่แท้จริง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กรรมการ กล่าวว่า ก่อนจะออกแบบที่มาของ ส.ว.ควรมีความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ก่อน การทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ส่วนตัวยังเห็นว่า วุฒิสภามีความจำเป็น เพราะต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชน และเห็นด้วยกับการออกแบบที่มาของ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะการมีที่มาของ ส.ว.แตกต่าง และแยกจากกันกับ ส.ส.มีส่วนทำให้ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.นอกจากนี้ ตนเสนอว่า การพิจารณาที่มา ส.ว.อาจยึด ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ส่วน ส.ว.สรรหาอาจจะออกแบบที่มาให้เหมาะสมมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน อย่างไรก็ดี หากจะเปลี่ยนแปลงที่มาของส.ว.ขอให้ประเมินผลการทำงานของ ส.ว.ชุดนี้ด้วยว่า สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็ควรเปลี่ยน

ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กรรมการ กล่าวว่า หากเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด จะเห็นว่า ส.ว.ชุดแรกทำงานล้มเหลวในระดับหนึ่ง ที่แน่ๆ คือ ไม่สามารถอดถอนนักการเมืองได้ และมีปัญหาเรื่องความอิสระ และเป็นกลาง ฉะนั้น การเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม น่าจะเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาที่สุดในตอนนี้ อย่างไรก็ดีคิดว่า ถ้าเลือกได้อยากให้สภาไทย มีสภาผู้แทนราษฎร เพียงสภาเดียว

นายประกิต พลเดช กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ดี ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่ ส.ว.สรรหา จะหมดวาระช่วงครบ 3 ปี อาจจะเขียนในบทเฉพาะกาล ขยายให้อยู่จนครบ 6 ปี ให้หมดวาระพร้อม ส.ว.เลือกตั้ง เพื่อประเมินการทำงาน

ผุ้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมอภิปรายนานกว่า 2 ชั่วโมง นายดิเรก สรุปว่า ให้แก้ไขที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีจำนวน 200 คน โดยใช้เขตจังหวัด มีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบ รวมถึงแต่งตั้ง ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และระบุเป็นสังเกตด้วยว่า อาจให้ตัดบทเฉพาะกาลเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.สรรหาที่ระบุว่า วาระแรก ให้อยู่ 3 ปี ทิ้ง เพื่อให้ ส.ว.สรรหาชุดแรกอยู่ได้ถึง 6 ปี อย่างไรก็ดี นายประยุทธ ศิริพานิชย์ นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการจากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ล็อบบี้ ส.ว.สรรหา ให้สนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญแลกกับการให้ ส.ว.สรรหาอยู่ 6 ปี ฉะนั้น หากไปแตะ เป็นเรื่องใหญ่แน่

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการชุดใดๆ ที่ต่อไปอาจมีการตั้งขึ้นมา เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เป็นผู้พิจารณา ฉะนั้น ข้อสังเกตเรื่องวาระของ ส.ว.สรรหา ก็น่าจะระบุไว้ได้ อย่างไรก็ดี นายดิเรก กล่าวสรุปว่า ให้ตัดข้อสังเกตเรื่องวาระของ ส.ว.สรรหา ทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหา
กำลังโหลดความคิดเห็น