“เทพไท” หนุนแนวคิด “อภิสิทธิ์” แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพิ่มโทษความผิดกรรมการบริหารพรรคจาก 5 ปี เป็น 10 ปี แต่ไม่ต้องยุบพรรค ย้ำที่มา ส.ว.ไม่สำคัญเท่าบทบาทหน้าที่ แต่ต้องมีคำตอบให้สังคมหากจะเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว.เหน็บ ส.ว.เลือกตั้งไม่ได้ใสสะอาดอย่างที่คิด แต่ก็มีข้อครหาเป็นสภาทาสของนักการเมือง
วันนี้ (22 พ.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ตนสนับสนุนแนวความคิดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ให้ยุบพรรคกรณีคณะกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิด หากใช้ตามมาตรา 237 เดิมจะกระทบต่อสมาชิกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ยุบพรรคการเมือง แต่คิดว่ามาตรการที่จะลงโทษผู้กระทำผิดต้องเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริหารพรรค ที่จะต้องถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ในขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มโทษคณะกรรมการบริหารที่กระทำผิดโดยตรงจาก 5 ปี เป็น 10 ปี เรียกว่ามาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ที่ทุจริตเลือกตั้งเข็ดหลาบ
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาราตา 111, 112 และ 113 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เมื่ออนุกรรมการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีข้อสรุปถึงที่มาของ ส.ว.โดยกำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ตนคิดว่า ที่มาของ ส.ว.ไม่สำคัญเท่าบทบาทหน้าที่ว่าจะมีหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้ แหล่งที่มาของ ส.ว.จากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง และสรรหา หรือจะยกเลิก ไม่ให้มี ส.ว.เลย ตนคิดว่าทุกแนวทางต้องมีคำตอบให้ประชาชน ถ้าคณะอนุกกรมการชุดนี้สนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ว.200 คน ก็อยากถามคณะอนุกรรมการและผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ว่า แนวการเลือกตั้งดังกล่าวจะซ้ำรอยกับการเลือกตั้ง ส.ว.200 คน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 หรือไม่
นายเทพไท กล่าวอีกว่า เพราะการเลือกตั้ง ส.ว.ในยุคนั้น ปรากฏชัดเจนว่า มีการซื้อและแทรกแซง ส.ว.จนเกิดสภาทาส และเกิดภาพของทาสที่ไม่ยอมปลดปล่อย ยังสวามิภักดิ์ต่อระบอบทักษิณอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น การที่ให้ ส.ว.ออกมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีหลักประกันใดเลยว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะสังกัดพรรค สังกัดกลุ่มหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา แม้จะเป็นการเลือกตั้งโดยอิสระก็ตาม แต่ภาพที่ออกมา คือ ส.ว.สังกัดพรรค สังกัดฝ่าย เพราะฉะนั้น ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้กลับไปดูบทบาทของสว.ในอดีตหรือไม่ ตนขอฝากเรื่องนี้ไว้
ส่วนกรณีที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวนิช ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ตอบโต้สื่อมวลชนในกรณีที่ระบุว่า การคิดแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ทำไมต้องมีการขัดขวาง ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มาจากเผด็จการนั้น ตนฟังข่าวนี้แล้วอยากฝากกับไปถึง พล.อ.เลิศรัตน์ ว่า ตัวเองเป็น ส.ว.มาจากรัฐธรรมนูญฉบับไหน ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 50 คงไม่มีใครขัดขวาง หากริเริ่มรัฐธรรมนูญปี 50 ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ และผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่วันนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 50 เป็นการแก้เพื่อคนส่วนหนึ่ง โดยบุคคลเพียงไม่กี่คน ที่สุ่มหัวกัน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งยอมรับว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐธรรมนูญปี 50 ผ่านการลงประชามติจากประชาชน ถ้าคณะอนุกรรมการเพียงไม่กี่คนคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญก็อยากให้กับไปถามเจ้าของประชามติ 14.7 ล้านเสียง