5 กรรมมาธิการวุฒิฯ ผนึกกำลังต้านเมล์เอ็นจีวี แบ่งหน้าที่ตรวจสอบชัดเจน จวก ขสมก.ทุ่มงบซื้อโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ หวังตีปี๊บ แฉขาดทุนเกือบเท่าเป้ากำไร จับตาสัญญามีพิรุธ ชี้ รัฐมีแต่เสียกับเสีย ขณะที่ “เรืองไกร” ข้องใจตั้งเป้าตัวเลขรายได้กำไรโอเวอร์เกินไป จี้รัฐบาลทบทวนโครงการใหม่
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น.คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการคมนาคม คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม วุฒิสภา ได้ร่วมประชุมกันเพื่อพิจารณาปัญหาโครงการเช่ารถเมล์ปรับอากาศเอ็นจีวี 4,000 คัน ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษา 1 เดือน ก่อนนำกลับมาให้พิจารณา ทั้งนี้ เป็นการหารือเพื่อกำหนดการแบ่งหน้าที่ตรวจสอบโครงการนี้ ว่า ใครทำเรื่องใด หรือเรื่องใดที่ทั้ง 5 คณะต้องมาทำงานร่วมกัน
ภายหลังการประชุมนาน 2 ชั่วโมง คณะกรรมาธิการ 5 คณะ ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดย นางสาว รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล กล่าวว่า เห็นด้วยที่ให้ สศช.ศึกษาโครงการนี้ แต่ไม่ควรให้ศึกษาเฉพาะประเด็นเช่าหรือซื้อเท่านั้น แต่ต้องดูรายละเอียดของโครงการด้วย ไม่เช่นนั้นดูเหมือนว่ามีการอนุมัติโครงการไปแล้ว นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่องการจัดทำทีโออาร์ ซึ่งทราบว่ายังไม่ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด แต่มีปัญหาหลายประเด็น เช่น การบริหารในสัญญามีการแบ่งเป็นช่วง และพบหลายประเด็นที่ทำให้รัฐจะเสียประโยชน์ เช่น การเสียค่าปรับหากการส่งมอบรถไม่เป็นไปตามสัญญา 11.90 บาท ต่อวันต่อคัน ถือว่าน้อยมาก, ค่าประกันภัยรถรวมอยู่ในค่าเช่า ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้รับภาระ ทั้งที่ควรเป็นของเอกชน โดยเฉพาะค่าซ่อมที่ต้องจ่าย กม.ละ 7.50 บาท แต่หากวิ่งเกินวันละ 200 กม.จะคิดค่าซ่อมเพิ่มเติมตามจริง แต่ไม่ได้กำหนดว่าหากวิ่งไม่ถึง 300 กม.ผู้ให้เช่าต้องคืนส่วนต่างตรงนี้หรือไม่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วรถเมล์จะวิ่งวันละ 240 กม.ต่อวัน การกำหนดทีโออาร์เช่นนี้ทำให้รัฐขาดทุน ถือว่าจงใจทุจริต และการที่ขสมก.และรัฐบาลบอกว่าโครงการนี้จะได้กำไร 5 หมื่นล้านบาท แต่ความจริงขาดทุนถึง 6 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
นางสาว รสนา กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติแบ่งงานกันรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ไปศึกษาแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.คณะกรรมาธิการการคมนาคม ศึกษารูปแบบของโครงการที่เหมาะสม คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง และสถาบันการเงิน ศึกษาที่มาของตัวเลขรายได้และรายจ่าย คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ศึกษาเรื่องความเห็นของประชาชนและการทำประชาพิจารณ์ และคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ศึกษาเปรียบเทียบโครงการนี้กับโครงการยูโรทู
ด้าน นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม กล่าวว่า รัฐบาลต้องเคาะราคารถออกมาให้ตรงความจริงอย่าโอเวอร์ เพราะราคาที่ตั้งมานั้นแพงเกินจริงรับไม่ได้ คณะกรรมาธิการจะจับตาดูการพิจารณาของสศช. อย่านึกว่าเรารู้ไม่เท่าทัน และจะจับตาดูรัฐบาลด้วยว่าประชาชนคัดค้านกันทั้งประเทศ ยังยืนยันดำเนินการต่อไปหรือไม่
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า คณะกรรมาธิการชุดตนมีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาของ ขสมก.และรถเอ็นจีวี 4 พันคัน โดยขอให้รัฐบาล กระทรวงคมนาคม ขสมก.และ สศช. ทบทวนการฟื้นฟูกิจการของ ขสมก.ตามที่ ครม.สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อนุมัติไว้ในคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 คือ 1.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้สะสมและลดดอกเบี้ย 2.รัฐบาลต้องมีแนวทางชัดเจนในการแยกบัญชีระหว่างการขนส่งที่มีกำไรกับการขนส่งเพื่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ขสมก.ปลอดการขาดทุนในอนาคต 3.ปรับปรุงกิจการและฟื้นฟูแผนงานบริการการจัดการรถโดยสาร โดยเปลี่ยนรถขสมก.ที่มีอยู่จำนวน 2,800 คัน เป็นเครื่องเอ็นจีวีทั้งหมด ซึ่งจะตกคันละ 5 แสนถึง 2 ล้านบาท ตลอดจนการเจรจากับ ปตท.ให้คงราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ระยะเวลา 5 ปี ติดตั้งตั๋วอิเลคทรอนิค ระบบตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติการเดินรถ ซึ่งจะสามารถควบคุมความถี่ในการเดินรถได้สม่ำเสมอ ดำเนินโครงการเออร์ลี รีไทร์ พนักงาน 7 พันภายในระยะเวลา 5 ปี ยกเลิกสัมปทานรถร่วมเอกชนให้เป็นระบบจ้างบริหารเดินรถเป็นกิโลเมตร โดยเริ่มสัญญาใหม่หมด ระยะเวลา 10-15 ปี เพื่อให้เอกชนนำสัญญาไปเป็นหลักประกันยื่นขอกู้ลงทุนใหม่
นายสมชาย กล่าวว่า ตอนนี้มีการทุ่มโฆษณาโครงการนี้โดย ขสมก.และกระทรวงคมนาคม เต็มสองหน้ากลางในหนังสือพิมพ์ ซึ่งราคาเกือบ 6 แสนบาท ถามว่างบประมาณนี้เป็นของใคร การบอกว่าเป็นที่โฆษณาของ ขสมก.อยากทราบว่าเม็ดเงินกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งจะตามมาด้วย แอบโฆษณาผ่านสื่อทีวี และบิลบอร์ดจะต้องใช้งบเท่าไหร่ ขณะที่ ขสมก.ขาดทุนสะสมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยวันที่ 11 มิถุนายน ได้เชิญผู้อำนวยการ ขสมก.เข้าชี้แจงด้วย
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล กล่าวว่า มีข้อสังเกตการตั้งตัวเลขเช่ารถของ ขสมก.ที่ระบุว่าจะมีรายได้คันละ 1.5 หมื่นบาท โดยมีผู้โดยสาร 350 คนต่อวัน แต่ข้อเท็จจริงจากการเก็บสถิติจะได้ผู้โดยสารเพียงครึ่งเดียว ซึ่งจะมีรายได้เพียงคันละ 9,580 บาท ที่บอกว่าได้กำไร 1,137 บาท ก็จะเหลือแค่ 217 บาท เท่านั้น ดังนั้น ตัวเลขรายได้สูงสุดควรจะได้ 8-9 พันบาทเท่านั้น รัฐบาลต้องทบทวนตัวเลขรายได้ 1.5 หมื่นบาทไปเอามาจากไหน เพราะเป็นโครงการที่ผูกพันถึง 10 ปี ถ้า ขสมก.เก็บค่าเช่าไม่ได้ตามเป้าก็ต้องไปเอาเงินมาจากรัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลต้องไปกู้โดยเอาภาษีจากประชาชน