ที่ประชุม ครม.ตีกลับโครงการเช่าซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน วงเงิน 6.9 หมื่นล้าน “มาร์ค” สั่งตั้งทีมศึกษาเปรียบเทียบค่าเช่าใหม่ และให้ชงที่ประชุมภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมเห็นชอบชดเชยส่วนต่าง รถเมล์ฟรี 1.2 พันล้าน
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า สำหรับการเช่ารถเมล์ 4 พันคันที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ขอเรียนว่า หลักที่ทางรัฐบาลบอกว่า สามารถดำเนินการได้คือ หนึ่ง จะต้องเป็นการประกอบในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ประการที่สอง จะต้องให้ดูเรื่องการปรับลดตัวเลขต่างๆ ตามที่คณะทำงานของพล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ สมัยรัฐบาลนั้น ได้ดำเนินการไว้ หากเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นปัญหาในเรื่องใดก็ตามให้ทางกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณก่อนที่จะเสนอกลับเข้ามาให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ให้ทาง 3 หน่วยงานกลับไปดูเรื่องตัวเลข ซึ่งกระทรวงคมนาคมยังมีประเด็นยังเห็นไม่ตรงกับคณะทำงานของพล.ต.สนั่น ในตัวเลขบางส่วน ครม.จึงให้กลับไปดูให้เรียบร้อย ทั้งนี้ตัวเลขที่ว่า เช่น การคำนวณหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องค่าซ่อมรถ ส่วนราคาค่าเช่ารถได้มีการปรับลงมาขณะนี้ทุกอย่างปรับลงมาหมด มีเพียง 2 รายการ คือ ค่าซ่อมรถ กับดอกเบี้ย จึงได้ให้นำกลับไปทบทวน
“เป็นหน้าที่ของครม.ที่จะพิจารณาทุกเรื่องที่เข้ามาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัดกุม เป็นธรรมดา ไม่งั้นไม่ต้องมีครม.”นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบคำถามที่ว่า เป็นเพราะมีการนำเสนอเรื่องเข้ามาจำนวนมากจึงต้องมีการเบรกกันใช่หรือไม่
เมื่อถามว่า รมว.คมนาคมว่าอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ว่าอย่างไร ท่านเข้าใจดี เพราะท่านบอกว่า เรื่องนี้มันมีเรื่องที่ส่งไปที่รองนายกฯสนั่น และมีการปรับลดตัวเลข แต่เรื่องการปรับลดตัวเลข รมว.คมนาคมบอกว่า ทางขสมก. ติดใจมาตั้งแต่ต้น ว่าปรับได้ตามนั้นจริงหรือไม่ เมื่อเสนอมาครม.ก็บอกว่า เมื่อยังไม่สามารถทำได้และยังไม่มีความชัดเจน ก็ให้กลับไปดูร่วมกัน ทางกระทรวงก็ไม่ติดใจอะไร เมื่อถามว่า มีกรอบเวลาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2 สัปดาห์
ขณะที่นายชัยรัตน์ สงวนซื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี ว่า ในหลักการเรื่องการเช่าซื้อรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 4,000 คัน ถือว่า น่าจะผ่านความเห็นชอบ แต่ที่ประชุมมอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษพิจารณาค่าเช่ารถเมล์ต่อวันต่อคัน โดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ ร่วมหารือใหม่ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่ากรอบวงเงินค่าเช่าล่าสุด 4,780 บาทต่อคันต่อวันยังสูงเกินไป โดยให้นำเข้ารายงานต่อที่ประชุม ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ส่วนกรณีที่ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอแผนฟื้นฟูของกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือ ทีโออาร์ โดยขอเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่ภายหลังได้แก้ไขกรอบวงเงินค่าเช่า จากวันละ 4,784 บาทต่อคัน เหลือวันละ 4,780 บาทต่อคัน ซึ่งลดลงเพียง 4 บาทนั้น รักษาการผอ.ขสมก.กล่าวว่า อัตราค่าต่างของกรอบวงเงินค่าเช่า 4 บาท เป็นไปไม่ได้ ไม่มีประวัติหรือสัญญาที่ว่า ขสมก. สามารถจ้างซ้อมหรือเช่าในอัตรานี้ได้ เพราะที่ผ่านมา ขสมก.ทำสัญญาได้ที่ 8 บาท ถึง 9.50 บาท ขณะเดียวกันคณะกรรมการชุดพล.ต.สนั่น ก็เห็นว่า กรอบวงเงินค่าเช่าน่าจะอยู่ที่ 7.50 บาท
“นายกฯเห็นว่า หาก ขสมก.มีความสามารถที่จะพัฒนาหรือจัดหารถภายในประเทศได้มากกว่า 70 % ก็สามารถทำได้ เพราะในเบื้องต้น ครม.รับหลักการว่า จะเช่ารถในประเทศ 70% และจากนอกประเทศ 30%”
รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันที่ตั้งขึ้นในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอเรื่อง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เรื่อง แผนปรับปรุงตามนโยบายการจัดการและบริหารระบบขนส่งมวลชนขององค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) โดยมีสาระสำคัญ คือ ขสมก.ได้ทบทวนโครงการเช่ารถ 4,000 คัน (ไม่รวมค่าอู่) 69,788 ล้านบาท จากเดิม 6,000 คัน มูลค่า 111,690 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนที่ได้รับปรับลดในส่วนค่าตัวรถ ค่าอิเล็กทรอนิกส์ และ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และ ปรับเพิ่มค่าซ่อมรถเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการนี้ ขสมก.จึงขอเสนอกรอบเงินในวงเงินโครงการเช่ารถ 4,000 คัน (ไม่รวมค่าอู่) 69,788 ล้านบาท ทั้งนี้ในการปรับลดวงเงินเดิม 111,690 ล้านบาท โดยปรับจำนวนรถ 2,000 คัน มูลค่า 37,230 ล้านบาท หักระบบอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะรถร่วม 4,277.80 ล้านบาท พร้อมกับปรับลดค่าจัดหาอู่ 4,000 คัน จำนวน 4,161 ล้านบาทด้วย
ขณะที่ นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบแผนการชดเชยการให้บริการต่อสาธารณะ (พีเอสโอ) แก่ ขสมก.ในการดำเนินโครงการรถเมล์ฟรี วงเงิน 1,289 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2552 ได้ให้ ขสมก.กู้เงิน 639 ล้านบาท มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เนื่องจากไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ ส่วนที่เหลืออีก 650 ล้านบาทจะใช้งบประมาณปี2553 มาดำเนินการ