xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลหุ่นเชิดไม่สนชาติล่มจม วางแผนละเลงงบลงทุนเมกะโปรเจค1.8ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
ผู้จัดการรายวัน - เอ็กซเรย์โครงการผลาญเงิน1.8 ล้านล้านบาทยุครัฐบาลนอมินี บทพิสูจน์‘สมัคร’ไม่สนชาติจะล่มใช้เงินอย่างมือเติบ ละเลงงบลงทุนเมกะโปรเจกต์ ประชานิยมสร้างภาพทางเศรษฐกิจ หาช่องทุจริตคอร์รัปชั่น และ ทุ่มซื้อเสียงล่วงหน้าชิงความได้เปรียบก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่


เวลานี้ รัฐบาลกำลังเร่งตีปี๊บโครงการเมกะโปรเจคซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อฐานะทางการคลังของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกรอบงบประมาณรายงานจ่ายปีงบประมาณ 2551 อยู่ที่ 1,635,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2550 จำนวน 68,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ขณะที่กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2552 วงเงิน 1,835,000 ล้านบาท ขาดดุลถึง 249,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น เมกะโปรเจคบางโครงการ ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ การศึกษาผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ เช่น โครงการลงทุนด้านระบบน้ำ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ ไปรวบรวมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งหมดครอบคลุมทั้งด้านขนส่งมวลชน ระบบน้ำ การศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ พร้อมกันนั้น รัฐบาลเตรียมจัดงาน “มั่นใจไทยแลนด์ : การลงทุนเพื่ออนาคตของคนไทย” ระหว่างวันที่ 13 – 15 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือเพื่ออวดผลงาน สร้างภาพว่ารัฐบาลมีแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ นำพาประเทศสู่ความรุ่งเรือง เป็นการตีปี๊บที่ลอกเลียนแบบมาจากยุครัฐบาลทักษิณ

นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการคลัง ระบุว่า ภายในปี 52 จะเห็นเม็ดเงินลงทุนในโครงการเมกะโปร์เจ็กต์ ประมาณ 2 แสนล้านบาทในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในงานมั่นใจไทยแลนด์ฯ จะมีความชัดเจนในแผนการลงทุนเมกะโปร์เจค งบประมาณ 1.7 - 1.8 ล้านล้านบาท

ในงานโชว์แผนงานลงทุนเมกกะโปรเจค ประกอบด้วย โครงการของภาคราชการ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวง 4 ช่องจราจร โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน โครงการพัฒนาสาธารณสุข และโครงการพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้

โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการระบบรถไฟชานเมือง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โครงการพัฒนาของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุเพื่อสนับสนุนการลงทุนขนาดย่อม

โครงการลงทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ปูนซิเมนต์และก่อสร้าง ปิโตรเคมี เหล็กและเหล็กกล้า อาหาร และโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น

*** เร่งดันเมกะโปรเจครถไฟฟ้า

กล่าวสำหรับเมกะโปรเจคที่ถูกใช้หาเสียงมาหลายรัฐบาล คือ รถไฟฟ้า ซึ่งคราวนี้หลังการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยุติลงด้วยการผลักดันให้นายยุทธนา ทัพเจริญ เข้ารับตำแหน่ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายงานด่วนให้นายยุทธนา คือ เดินหน้าเมกะโปรเจคของ ร.ฟ.ท. ประกอบด้วย โครงการรถไฟสายสีแดงช่วง บางซื่อ-รังสิต มูลค่า 77,563 ล้านบาท,

โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ ระยะทาง 2,644 กม.วงเงิน 367,312 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงทางรถไฟมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท,โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์วงเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังให้มีการลงทุนในเส้นทางสำหรับโดยสาร โดยเป็นรถไฟด่วนความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้บริการในเส้นทางที่มีรัศมีจากกทม. 200-300 กม. ใช้เวลาเดินทางภายใน 2 ชั่วโมง คือ จ.นครสวรรค์, นครราชสีมา, จันทบุรี, พัทยาและหัวหิน

***จ่อเปิดประมูลรถไฟสายสีแดง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ถือเป็นโครงการที่สำคัญของร.ฟ.ท. ซึ่งใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ เจบิก ซึ่งได้ปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างเป็น77,563 ล้านบาท จากเดิม 59,888 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเร่งรัดขั้นตอนด้านเงินกู้เพื่อเปิดประมูลให้ได้ภายในปีนี้

สำหรับการประมูล รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว กำลังส่อเค้ามีปัญหาและอาจจะมีการยกเลิกการประมูล เนื่องจากผู้รับเหมาที่มีสิทธิ์เสนอราคาเพียงรายเดียว ขอปรับเพิ่มราคากลาง จาก 8,748 ล้านบาทเป็นกว่า 10,000 ล้านบาท โดยอ้างสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามมติครม.

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ มูลค่ารวม 59,803 ล้านบาทนั้น เป็นโครงการแรกที่มีการเปิดประมูลภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานและการเตียมความพร้อมมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดประกวดราคาก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2551 และคาดว่าจะสามารถทำสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนธ.ค.2551 นี้

โครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเตรียมเพื่อเร่งเปิดประมูลเช่นกัน

*** สุวรรณภูมิเฟส 2 เค้กก้อนโตกว่า7หมื่นล้าน

แผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นอีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่มีความพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ

ชุมชนรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เรียกร้องให้ทอท.แก้ปัญหาด้านเสียงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปิดใช้สนามบินที่มี 2 รันเวย์ ผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปีให้เรียบร้อยเสียก่อนและต้องเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการขยายเฟส 2 ซึ่งจะมีรันเวย์ที่ 3 และมีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารถึง 60 ล้านคนต่อปีด้วย

ขณะที่ ทอท. ไม่มีความชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียง ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศและท่าอาศยานได้มีมติเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 51 เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณสำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน วงเงิน 73,739.47 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณ 5 ปี (2554-2558) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ กล่าวว่า จะเร่งผลักดันการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ภายในปี 2554 โดยเจรจากู้เงินจากเจบิก ประมาณ 56,000 ล้านบาท จากแผนโครงการลงทุนเมกะโปรเจคที่อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมประมาณ 70,000 ล้านบาท

*** เร่งรีบเช่าเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 6.7หมื่นล้าน

โครงการจัดหารถเมล์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่ได้เสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง แต่ครม.ยังไม่กล้าอนุมัติเนื่องจากถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจัดหารถเอ็นจีวี โดยวิธีการเช่าจำนวน6 ,000 คัน มูลค่า 111,690 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นค่าเช่าคันละ 18 ล้านบาทเศษนั้น แพงเกินไปและมีเงินกินเปล่าให้นักการเมืองที่เกี่ยวข้องอีกคันละ 1ล้านบาทด้วย กระทั่ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แนวคิดในการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสมัครเข้ามาบริหารประเทศ จากเดิม ขสมก. กำลังศึกษาปรับเปลี่ยนวิธีการจัดหารถเอ็นจีวี โดยขสมก.มีแผนเสนอจัดซื้อจำนวน 2,000 คันเนื่องจากเห็นว่าใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งกำลังหาแนวทางอื่นเปรียบเทียบ

ต่อมา ขสมก.ได้ปรับเปลี่ยนแผน เช่นใช้วิธีการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถเมล์โดยสารที่ ขสมก.มีอยู่ในปัจจุบัน 3,500 คันมาใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวี แต่ติดปัญหาสภาพรถของขสมก.ไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนและอาจไม่คุ้มกับค่าบำรุงรักษา จึงมีแนวคิดที่จะใช้วิธีการเช่ารถเอ็นจีวีใหม่ 2,000 คัน เท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา ก็เพิ่มจำนวนมาเป็นการเช่าสูงถึง 6,000 คัน

โครงการนี้ ได้เสนอครม.อีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2551 แต่ที่ประชุมให้ความเห็นชอบเฉพาะแผนฟื้นฟู ขสมก.เท่านั้น ส่วนการเช่ารถเอ็นจีวี 6,000 คัน ยังไม่ผ่าน จึงตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิเศษที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ประชุมกันถึง 3 ครั้ง จึงสรุปให้ขสมก.เช่ารถเอ็นจีวีจำนวน 4,000 คัน พร้อมกับปรับลดวงเงินค่าเช่าจาก 1.1 แสนล้านบาทเหลือ 6.7 หมื่นล้านบาท และหากกรณีที่มีปัญหารถไม่เพียงพอกับความต้องการก็ให้ขสมก.ปรับปรุงรถที่มีอยู่ 1,700 คันมาใช้สำรอง โดยจะเสนอขออนุมัติครม.อีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.นี้

*** เมกกะโปรเจกส์น้ำแสนล้าน

สำหรับโครงการพัฒนาระบบชลประทาน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เห็นชอบในการหลักการตามที่กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ รายงานต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาแผนการจัดหาน้ำเพิ่มเติมด้วยการผันน้ำ จำนวน 7 โครงการ วงเงินงบประมาณ 150,400 ล้านบาท แยกเป็นโครงการของกรมชลประทาน 4 โครงการ และของกรมทรัพยากรน้ำ 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง-ภูมิพล ปริมาณน้ำ 2,182 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ 43,898 ล้านบาท จะสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ชลประทาน 1 ล้านไร่ มีน้ำอุปโภคบริโภค750 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 558 ล้านหน่วย ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์(EIIR) 15.70% สามารถผลิตข้าวได้ 7 แสนตัน

2. โครงการน้ำเมย-ห้วยแขนง-เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำ 1,782 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ 15,912 ล้านบาท พื้นที่ชลประมาน 8.3 แสนไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 450 ล้านหน่วย EIIR 24.8% ผลิตข้าวได้ 6 แสนตัน

3. โครงการท่าแซะ-บางสะพาน ปริมาณน้ำ 191 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 4,530 ล้านบาท พื้นที่ชลประทาน 9 หมื่นไร่ ผลิตข้าวได้ 6 หมื่นตัน

4. โครงการอ่างเก็บน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว ปริมาณน้ำ 2,580 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 76,760 ล้านบาท พื้นที่ชลประมาน 3.20 ล้านไร่ EIIR 16.58% ผลิตข้าวได้ 2.20 ล้านตัน

5. โครงการตาปี-สิชล ปริมาณน้ำ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 2,100 ล้านบาท ใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 6.โครงการเขื่อนรัชชประภา-ภูเก็ต ปริมาณน้ำ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 7,200 ล้านบาท ใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยว ขณะที่โครงการที่ 7.การศึกษาการผันน้ำจากแม่น้ำเลย-แม่น้ำชี-แม้น้ำมูล นายกรัฐมนตรี ขอให้ไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนั้น นายสมัคร ยังอนุมัติแผนการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ ปี 2552 เพื่อดำเนินการฟื้นฟูแหล่งน้ำที่มีความเสื่อมโทรมมากและมีความพร้อมจำนวน 1,013 แห่งวงเงินลงทุน 4,477 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นแผนเดิมที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 6,552 แห่ง กรอบวงเงินลงทุนรวม 14,942 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี (2552-2554)

โครงการลงทุนระบบน้ำได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

*** โปรเจคสาธารณสุข 8 หมื่นล้าน

เมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการงบประมาณแผนการลงทุนพัฒนาสุขภาพของประชาชน กรอบวงเงิน 3.9 หมื่นล้านบาท ระหว่าง ปี 2552-2555

ทั้งนี้ แผนการลงทุนคือ 1.แผนงานพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข 2.4 หมื่นล้านบาท 2.แผนงานพัฒนาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข 1.1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2552-2555 เพื่อผลิตแพทย์ 2,862 คน พยาบาล 4 พันคน 3.แผนงานลดปัจจัยเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภค 2.3 พันล้านบาท และ 4.แผนงานพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้ 1.8 พันล้านบาท

ต่อมา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้เห็นชอบในหลักการลงทุนแผนการลงทุนพัฒนาสุขภาพของประชาชน ระหว่าง ปี 2552 - 2555 จากเดิมใช้งบประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นกว่าล้านบาท สำหรับแหล่งเงินทุน จะเป็นการออกพันธบัตร ระดมเงินกู้จากในประเทศ และ ต่างประเทศ ทั้งนี้ งบที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 4 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น เป็นก่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยสำหรับแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครชุมชนในพื้นที่ทุรกันดาร

*** 3 โครงการยักษ์ร่วมทุนรัฐฯ-เอกชน

นอกเหนือจากการลงทุนของภาครัฐแล้ว ยังมีโครงการความร่วมมือลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP : Public Private Partnership Committee) ครั้งที่ 1 / 2551 ได้รับหลักการ 3 โครงการนำร่อง ประกอบด้วย

1) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (บางปะอิน-โคราช) ระยะทาง 199 กิโลเมตร ที่อยู่ในแผนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เร่งด่วนระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2550 - 2560) รวมระยะทาง 730 กิโลเมตร งบประมาณ 170,050 ล้านบาท

2) โครงการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่โดยวิธีการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนจะจัดหาเงินทุน ออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาอุปกรณ์ การบริการ การบำรุงรักษา การบริหารบุคคลการแพทย์ ขณะที่ภาครัฐชำระเงินให้ภาคเอกชนสำหรับบริการด้านการแพทย์และด้านอื่น ๆ การให้ใบรับรองและใบอนุญาตการแพทย์ และเป็นผู้ติดตามผล

3) โครงการบริหารจัดการอุทยาน การให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทยานและการสร้างรายได้ โดยมีสัญญาระยะยาวเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กำหนดวันประชุมเชิงปฏิบัติการที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วันที่ 3 ก.ย. 2551

*** ลงทุนมือถือ 3 จี 29,000 ล้านบาท

โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3 จี ดำเนินการโดยบริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด หรือบริษัท บมจ.ทีโอที ตามที่กระทรวงไอซีที เสนอ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว การดำเนินการของโครงการจะใช้วงเงินลงทุน 29,000 ล้านบาท ใช้เงินกู้จาก บมจ.ทีโอที จำนวน 2,400 ล้านบาท ดำเนินการในระยะเริ่มต้น และครม.เห็นชอบในหลักการการจัดหาแหล่งเงินกู้ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 26,600 ล้านบาท

*** ปูพรมประชานิยม

ไม่เพียงแต่ตีปี๊บโครงการลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้น โครงการประชานิยมเอาใจประชาชนต่างได้รับการอัดฉีดอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเอสเอ็มแอล วงเงิน 15,000 ล้านบาท ที่ถึงมือรากหญ้าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามมาด้วย 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤต เช่น รถเมล์ รถไฟ น้ำ ไฟ ฟรี ลดอัตราภาษีน้ำมัน ชะลอการปรับขึ้นค่าก๊าซฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 46,000 ล้านบาท

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

เมกะโปรเจครัฐบาลสมัคร

1.โครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง 885,000 ล้านบาท
2.โครงการรถไฟรางคู่ 2.34 พันกม. 367,000 ล้านบาท
3.โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ 200,000 ล้านบาท
4.โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน 67,000 ล้านบาท
5.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 14,942 ล้านบาท
6.โครงการผันน้ำ 7 โครงการ 150,400 ล้านบาท
7.โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ 6,754 ล้านบาท
8.โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส2 73,000 ล้านบาท
9.โครงการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ 80,000 ล้านบาท
10.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 170,050 ล้านบาท
11. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์ 3 จี 26,600 ล้านบาท
12.มาตรการช่วยเหลือคนจน(6เดือน) 46,000 ล้านบาท


/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น