xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : เผด็จการ “รัฐสภาแห่งใหม่”…(สมัคร) “ชงเอง-กินเอง”!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช คุยโว จะสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ให้สำเร็จ เพราะตนเป็นทั้งนายกฯ ที่อนุมัติเงินก่อสร้าง และเป็น รมว.กลาโหมที่จะเห็นชอบให้ใช้ที่ดินของทหารได้
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

หลัง รบ.นอมินีของทักษิณ อย่าง นายสมัคร และพรรค พปช.เข้ามาบริหารประเทศ จนถึงขณะนี้ 6 เดือนกว่าแล้ว ยังไม่มีผลงานใดเป็นชิ้นเป็นอัน กม.สำคัญๆ ก็ยังไม่เคยผ่านสภาออกมาสักฉบับ นอกจากไม่ทำหน้าที่-ไม่มีผลงานแล้ว รบ.และสภาชุดนี้ยังอยากจะมีที่ทำงานใหม่-รัฐสภาแห่งใหม่ที่ใหญ่โตหรูหราสง่างาม นึกอยากจะสร้างที่ย่านเกียกกาย ก็จะสร้าง โดยไม่สนว่าจะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง หรือถือว่า รบ.มีอำนาจอนุมัติเงินฟาดหัวใครต่อใครให้ย้ายออกจากพื้นที่ก็ได้ จะมีโรงเรียนถูกทุบ 2 โรงก็ช่างมัน ส่วนพื้นที่เป็นของทหาร ก็ไม่มีปัญหา เพราะนายกฯ มีอำนาจท่วมฟ้า นอกจากมีอำนาจอนุมัติงบก่อสร้างแล้ว ยังใช้อำนาจ รมว.กลาโหม เซ็นเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ทหารได้อีก อย่างนี้ไม่เรียกว่า เผด็จการ ชงเอง-กินเอง แล้วจะเรียกว่าอะไร

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

เกือบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับวงการเมืองไทย ที่มีรัฐบาลหรือสภาชุดใหม่ทีไร ก็จ้องแต่จะสร้าง ที่ทำงานใหม่หรือ “รัฐสภาแห่งใหม่” เพื่อให้สมเกียรติสมฐานะของตัวเอง โดยอ้างว่าที่เดิมคับแคบบ้าง หรือใช้งานมานานแล้วบ้าง สังคมจึงได้เห็นฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติพยายามหาสถานที่ที่จะใช้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่มาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ยังไม่เคยสำเร็จ เพราะถูกกระแสคัดค้านจากเจ้าของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบ้าง มีความเคลือบแคลงน่าสงสัยในการหาสถานที่บ้าง เปลี่ยนรัฐบาลก่อนบ้าง พอเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อใด รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็มองหาที่ใหม่ ไม่สนใจที่เดิมที่รัฐบาลหรือสภาชุดเก่ามองไว้

พูดถึงพยายามจะสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ต้องย้อนกลับไปดูสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งแม้จะมีการศึกษาในสมัย นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา ว่า พื้นที่ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีความเหมาะสม แต่กลับไม่ถูกใจนักการเมือง โดยอ้างว่าไกลจาก กทม.ต้องใช้เวลาในการเดินทาง ต่อมายุคที่ นายโภคิน พลกุล เป็นประธานรัฐสภา ก็มีแนวคิดจะไปสร้างรัฐสภาใหม่แถวสุวรรณภูมิ โดยทางบริษัท กฤษดามหานครเสนอให้ที่ฟรีถึง 700 ไร่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แต่หลายฝ่ายเคลือบแคลงสงสัยว่ากฤษดามหานครกับรัฐบาลทักษิณจะมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือไม่ เพราะขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังพยายามผลักดันโครงการในฝัน “สุวรรณภูมิมหานคร” หวังให้เป็นจังหวัดที่ 77 และเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของไทย นายนิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ อดีตรองประธานวุฒิสภา และอดีตกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลทักษิณ เคยเล่าให้ฟังถึงความพยายามสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ

“จริงๆ แล้วเรามุ่งที่ที่เป็นของราชการ ที่ของราชพัสดุ หรือกรมธนารักษ์ แต่ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่า บางที พิจารณาไปพิจารณามายังไม่ได้บทสรุปมันก็หมดสมัยไป อย่างสมัยที่ผมอยู่ ท่านประธานสภาอุทัย (พิมพ์ใจชน) ท่านก็มีความคิดได้มีการศึกษา มีการจ้างนักวิชาการมาศึกษาสภาพแวดล้อม และเอาที่ดินทั้งหมดทั้งนครหลวงที่เหมาะสมมาเทียบกับเขื่อนป่าสักฯ ท่านอุทัยก็ศึกษา และโดยสภาพแวดล้อมถ้าไม่มีผลกระทบอะไรเลย ก็ต้องไป (ใช้) ที่เขื่อนป่าสักฯ นี่ก็เป็นแนวคิดของท่าน เพราะฉะนั้นก็ตกลงกันไม่ได้ เพราะเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการก็ไม่เห็นด้วย พอมาท่านโภคิน (พลกุล) ก็มีข่าวว่าจะไปเอาที่ตรงสุวรรณภูมิ เอกชนจะยกให้ มันก็พูดกันไปถึงว่า ที่ที่เขาให้มาเขามีประโยชน์อะไรแอบแฝงมั้ย ตรงนี้เราก็ต้องทำความชัดเจนอะไรต่างๆ ข้อครหาต่างๆ มันก็เลยต้องใช้เวลา เดิมเขาก็ใกล้จะมีมติด้วยซ้ำ ผมก็บอกว่า คิดให้ดี ตอนนั้นจะเอาที่กฤษดานครด้วยซ้ำไป ที่บางนา (ที่เขายกให้ 700 ไร่) ถือว่าได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีต้นทุน ไม่ต้องไปหาที่ชดเชย แต่อย่างที่ผมเรียนว่า รัฐสภาต้องอยู่ในสถานที่สง่างาม ไม่ใช่อยู่ในหมู่บ้านหรือล้อมรอบด้วยหมู่บ้าน อย่างนี้พวกเราคงยอมไม่ได้กัน ก็เลยเกิดปัญหา ก็เลยล้มเลิกไปอีก”

ต่อมา ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีแนวคิดสานต่อเรื่องการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยหลังจากพิจารณาสถานที่หลายๆ แห่งแล้ว เห็นว่าสนามกอล์ฟชลประทานเหมาะสมและมีผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่อธิบดีกรมชลประทานก็ยินดีให้ใช้สถานที่

นายประพันธ์ คูณมี สมาชิก สนช.และอนุกรรมการเจรจาเรื่องค่าชดเชยการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เคยเล่าให้ฟังว่า สนช.ได้พิจารณาสถานที่ต่างๆ ถึง 8 แห่ง ว่า แห่งไหนน่าจะเหมาะสมที่สุดต่อการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ก่อนจะลงเอยที่พื้นที่ของกรมชลประทาน

“คณะกรรมการพิจารณาที่หลายๆ แห่งแล้ว 8 ที่ ที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่คลองเตย เขาก็พิจารณาแล้ว ที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 2,000 กว่าไร่ ก็พิจารณามาแล้ว ที่ของชลประทานก็มี 2 แห่ง มีที่ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย (ย่าน ถ.พระราม 3) และที่ตรงนี้ (สนามกอล์ฟชลประทาน) ที่ของทหารก็ที่พัสดุ ที่เกียกกาย ที่ของโรงงานยาสูบก็พิจารณา ที่บริเวณสวนสัตว์ดุสิตเขาก็พิจารณา พื้นที่บริเวณโรงซ่อมบำรุงไฟฟ้าใต้ดิน ถ.พระราม 9 ก็พิจารณา พื้นที่ลำดับที่ 8 คือ บริเวณโน่น นครปฐม ตรงศาลายา ก็พิจารณา 8 แห่งนี้แต่ละแห่งจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน แปลงไหนปัญหาเยอะ ก็ตัดออก ต้องย้ายหน่วยงานออก ต้องสร้างสิ่งปลูกสร้างชดเชย และต้องเสียค่าใช้จ่ายเสียงบประมาณเยอะ มีผลกระทบมาก ก็ตัดออก ตัดไปตัดมาจนเหลือที่ของชลประทาน ซึ่งน่าจะมีผลกระทบน้อยที่สุด เหลือที่ของชลประทาน 2 แปลงนี้ ที่ริมน้ำกับที่ตรงนี้ (สนามกอล์ฟชลประทาน) สุดท้ายก็ได้รับคำยืนยันจากอธิบดีกรมชลประทาน ว่า ยินดีที่จะให้ใช้ ทางโรงเรียนเบื้องแรกที่เจรจา ก็พร้อมที่ว่า ถ้าเกิดมาสร้างตรงนี้ ถ้าโรงเรียนจะขยับไปอยู่ตรงนี้ จะขัดข้องมั้ย เขาก็มีการคุยหมด ถ้ามีใครกระทบ จะสร้างชดเชยให้ ก็คุยกันไปในเบื้องต้นแล้วตอนนั้น”

แม้จะมีการคุยถึงการชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องย้ายออกนอกพื้นที่ เช่น สนามกอล์ฟชลประทานเรียกร้องค่าชดเชย 3,500 ล้านบาท โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ขอค่าชดเชย 421 ล้าน แต่ต่อมา มีการชุมนุมคัดค้านของบรรดาแคดดี้สนามกอล์ฟชลประทาน รวมทั้งข้าราชการกรมชลประทาน และตัวแทนครูโรงเรียนชลประทานวิทยาประมาณ 500 คน(เมื่อ 28 มิ.ย.50) ที่ไม่ต้องการให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่สนามกอล์ฟชลประทาน หลังจากนั้นไม่กี่วัน (2 ก.ค.50) หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ก็ได้ออกมาร่วมคัดค้านเรื่องนี้ด้วย

ในที่สุด ทาง สนช.ได้ล้มเลิกแนวคิดที่จะสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่สนามกอล์ฟชลประทาน และหันไปพิจารณาที่อื่นแทน ซึ่งต่อมา (21 ม.ค.51) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.เผยว่า ได้ข้อยุติใหม่แล้วว่า จะใช้ที่บริเวณคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สำหรับสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ต้องขึ้นอยู่กับ ครม.และสภาชุดใหม่ว่าจะเห็นด้วยกับสถานที่ดังกล่าวหรือไม่ โดยบริเวณคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบกมีเนื้อที่ 265 ไร่ หากใช้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กระทรวงกลาโหม 1,000 ล้านบาท

แต่เมื่อรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามา และมีสภาชุดใหม่ กลับออกอาการไม่สนใจที่บริเวณคลังแสงที่ สนช.จัดหาไว้เท่าใดนัก โดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภา คนที่ 1 ได้ไปดูสถานที่ที่จะก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่ อ.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,400 ไร่ พร้อมบอกว่า มีตัวเลือกอยู่ 6-7 ที่แล้ว และจะคัดให้เหลือ 3 ที่ที่เหมาะสมที่สุด

ต่อมา 3 ก.ค.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา คนที่ 2 เผยถึงการจัดหาสถานที่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ว่า เบื้องต้นพิจารณาไว้ 3 ที่ คือ คลังน้ำมันท่าเรือคลองเตย, บริษัท ไทยเมล่อน รังสิต และคลังแสง ที่ จ.นนทบุรี

2 วันต่อมา (5 ก.ค.) นายสมัคร ได้นำคณะทั้งประธานสภา (นายชัย ชิดชอบ) และประธานวุฒิสภา (ประสพสุข บุญเดช) ล่องเรือไปดูพื้นที่บริเวณคลังน้ำมันท่าเรือคลองเตย ที่มีเนื้อที่ 260 ไร่ ว่า เหมาะสมต่อการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่หรือไม่ หลังจากดูพื้นที่ นายสมัคร บอกว่า ส่วนตัวแล้วพอใจ และต้องการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บนพื้นที่ดังกล่าว

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา คนที่ 2 ก็ออกมารับลูกนายสมัคร โดยบอกว่า ตนเห็นสอดคล้องกับนายกฯ ที่จะเลือกพื้นที่บริเวณคลังน้ำมันท่าเรือคลองเตยเป็นที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะอยู่ใจกลางเมือง และยังมีพื้นที่ 260 ไร่ เท่ากับบริเวณคลังแสง จ.นนทบุรี นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ต้องแบกภาระค่าเวนคืนที่ดินในชุมชนด้วย เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว โดยจะมีการคิดค่าเช่าพื้นที่ในราคาถูก

อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา (7 ก.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภา คนที่ 1 ได้ออกมาบอกว่า พื้นที่คลังน้ำมันท่าเรือคลองเตยมีปัญหา เพราะสหภาพการรถไฟฯ ตั้งเงื่อนไขเรื่องค่าเช่าสูงกว่า 10,000 ล้าน ที่ประชุมผู้เกี่ยวข้อง จึงเสนอพื้นที่บริเวณแยกเกียกกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหาร โดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม รับที่จะเป็นผู้เจรจากับทหารในเรื่องราคาด้วย

นายสมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า หากสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณแยกเกียกกาย อาจมีปัญหาเรื่องต้องย้ายโรงเรียน แต่ได้เตรียมเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าไว้แล้ว โดยจะสร้างโรงเรียนใหม่ให้ในพื้นที่ที่กว้างกว่าเดิม ส่วนเหตุผลที่ไม่เลือกพื้นที่บริเวณคลังแสง จ.นนทบุรี นั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า เนื่องจากบริเวณคลังแสงอยู่ไกลจากถนนใหญ่กว่า 1,250 เมตร!?!

ทั้งนี้ หากสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกาย จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เช่น กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.), โรงเรียนโยธินบูรณะ, โรงเรียนขนส่งทหารบก, วัดสร้อยทอง, กรมทหารราชองครักษ์, ชุมชนบ้านองค์การทอผ้า, ชุมชนตระกูลดิษฐ์ และชุมชน ขส.ทบ. ฯลฯ

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา พูดถึงสถานที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่(10 ก.ค.)โดยอ้างว่า เหตุที่ไม่เลือกบริเวณคลังแสง จ.นนทบุรี ตามที่ สนช.เคยเสนอ เพราะเห็นว่าสถานที่ราชการควรอยู่ในเมืองหลวง พร้อมอ้างว่า พื้นที่ที่เกียกกาย ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยศึกษาวิจัยแล้วว่า มีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะสม ติดแม่น้ำ แต่ปัญหาคือ ผู้ที่อยู่เดิมไม่ต้องการย้ายออก จะใช้กฎหมายก็ไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มที่ ดังนั้นถ้าประชาชนอยากให้สภาฯ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ก็ควรจะลดทิฐิและเสียสละที่ของหลวงให้สร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะรัฐสภาเกือบทุกประเทศอยู่ในเมืองหลวงทั้งสิ้น

ต่อมา 4 ส.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธาน หลังประชุม พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 บอกว่า ที่ประชุมมีมติเลือกพื้นที่ที่เกียกกาย ถนนทหาร โดยจะใช้พื้นที่ก่อสร้างเพียง 119 ไร่ และจะให้เงินชดเชยแก่หน่วยงานของทหารที่ได้รับผลกระทบ 4 พันล้านบาท จากเดิมที่ทหารเคยขอมาถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท(น่าสงสัยว่า นายสมัคร ใช้วิธีใดถึงทำให้ฝ่ายทหารยอมลดค่าชดเชยที่หน่วยงานทหารควรจะได้รับจาก 2 หมื่นกว่าล้านเหลือแค่ 4 พันล้านได้)

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ยืนยัน(11 ส.ค.)ว่า ได้มีการเจรจากับชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น โรงเรียนโยธินบูรณะ จะมีการสร้างโรงเรียนให้ใหม่ใกล้วัดสร้อยทอง ห่างจากที่เดิมกว่า 1 กม. และว่า ที่ใหม่กว้างกว่าที่เดิม 1 เท่าตัว จาก 8 ไร่ เป็น 16 ไร่ ตั้งงบไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนโรงเรียนขนส่งทหารบกและชุมชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบนั้น จะมีการย้ายไปอยู่บริเวณวัดสลัก จ.ปทุมธานี

ต่อมา 15 ส.ค.ซึ่งเป็นวันที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้นัดลงนามบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อยืนยันการใช้สถานที่บริเวณเกียกกาย ปรากฏว่า นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะกว่า 500 คน ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อคัดค้านการลงนามดังกล่าว

นายกรรณรวีร์ คุณะพานิชวงศ์ ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ บอกว่า โรงเรียนโยธินบูรณะก่อตั้งมายาวนานกว่า 73 ปี นักเรียนทุกคนเป็นลูกหลานทหาร มีความผูกพัน จึงไม่อยากให้โรงเรียนถูกทุบ แล้วไปสร้างที่ใหม่ และว่า หากย้ายโรงเรียนไปอยู่บริเวณวัดสร้อยทอง จะทำให้นักเรียนลำบาก เพราะไกลจากที่เดิม นายกรรณรวีร์ ยังชี้ด้วยว่า รัฐสภาปัจจุบันก็ยังดีอยู่ ทำไมไม่สงสารเด็กตาดำๆ บ้าง ตัดสินใจกันเองโดยไม่ถามเด็กนักเรียนเลย และชาวบ้านอีกกี่คนที่เดือดร้อน

ด้านนายปรัชญา มานพ ประธานนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ บอกว่า หากรัฐบาลยังดื้อดึงสร้างรัฐสภาที่เกียกกาย พวกตนจะยื่นศาลปกครองและถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อคัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด นายปรัชญา ยังเผยด้วยว่า หลังจากออกมาคัดค้านการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ พวกตนได้ถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ว่า “ทำเช่นนี้อาจจะไม่จบ ม.6 ได้” แต่ตนไม่กลัว เพราะทุกอย่างที่ทำ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง

ขณะที่นักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะบางส่วน ข้องใจว่า การที่ ผอ.โรงเรียน(มานพ นพศิริกุล)ไม่เดือดร้อนที่โรงเรียนจะถูกย้าย เป็นเพราะ ผอ.จะเกษียณในเดือน ต.ค.นี้แล้วใช่หรือไม่ จึงอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองอีกแล้ว นักเรียนบางส่วน ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า มีพื้นที่อื่นตั้งมากมายที่สามารถสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ได้ทำไมไม่เลือก เช่น พื้นที่คลังแสง จ.นนทบุรี กลับมาเลือกที่เกียกกาย และการให้โรงเรียนโยธินบูรณะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แม้จะอ้างว่าไม่ไกลจากเดิมมาก แต่ที่ใหม่ก็มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เพราะมีชุมชนแออัด ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด รวมทั้งยังมีปั๊มแก๊สอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย

ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม ได้กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570” (15 ส.ค.)โดยยืนยันว่า จะเดินหน้าสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่ย่านเกียกกาย แม้จะถูกต่อต้านจากชุมชนเกียกกายและนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะก็ตาม นายสมัคร ยังคุยโวด้วยว่า “โครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่คิดมานาน 16 ปี จะจบลงวันนี้ เพราะตนเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีที่อนุมัติเงินก่อสร้าง และเป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่จะเห็นชอบให้ใช้ที่ดินทหารได้ จึงต้องทำเรื่องนี้ให้เสร็จ”

จากนั้นเย็นวันเดียวกัน นายสมัครได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ 8 หน่วยงานเพื่อยืนยันว่ายินยอมให้ใช้สถานที่บริเวณเกียกกายสำหรับสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ประกอบด้วย รัฐสภา ,สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ,กองทัพบก ,กรมราชองครักษ์ ,สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ,องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ,กรมธนารักษ์ และ กทม. ท่ามกลางการเดินทางไปประท้วงของนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะกว่า 500 คน

หลังเกิดการคัดค้านของนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ นายสมัครได้ออกมาพูดผ่านรายการ “สนทนาประสาสมัคร” (17 ส.ค.)โดยอ้างว่า มีคนยุยงปลุกระดมให้นักเรียนออกมาคัดค้านการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย นายสมัคร ยังพูดทำนองว่า ไม่จำเป็นต้องหารือกับทางโรงเรียนโยธินบูรณะเพื่อเปิดทางให้ใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยบอกว่า “เรื่องอย่างนี้ทำไมต้องหารือ ก็คุณมี 8 ไร่ เราจะสร้างให้ใหม่ 16 ไร่”

นายสมัคร ยังเผยไต๋การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ด้วยว่า ต้องการให้เหมือนรัฐสภาของอังกฤษ โดยบอกว่า “ที่ดินย่านเกียกกายที่จะสร้างรัฐสภาใหม่ อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อไปก็จะมีสะพานข้ามจาก ถ.จรัญสนิทวงศ์ มาทางถนนทหาร(ย่านเกียกกาย) ...ถ้าใครไปลอนดอน จะเห็นสะพานเวสมินเตอร์ ทางซ้ายก็คือรัฐสภาอังกฤษ เราจะมีสะพานเหมือนอังกฤษอยู่ข้างรัฐสภา ...หลังเซ็นสัญญาแล้ว ต้องกินเลี้ยงกันเพื่อแสดงความยินดีว่า 16 ปีที่จะก่อสร้าง มาวันนี้จะเริ่มลงมือแล้ว”

ทั้งนี้ นอกจากนายสมัครที่ออกมาอ้างว่า มีคนยุยงปลุกระดมนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะให้ออกมาคัดค้านการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่ย่านเกียกกายแล้ว ทาง 3 อดีตแกนนำ นปก.อย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลด้วยการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ยังได้ออกมาสำทับคำพูดนายสมัครผ่านรายการทางโทรทัศน์ดาวเทียมช่องเอ็มวี 5 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.โดยกล่าวหาว่า กลุ่มพันธมิตรฯ คือผู้ปลุกระดมนักเรียนดังกล่าว เพราะต้องการหลอกใช้เด็กเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมืองให้กลุ่มตัวเอง

ซึ่งคำกล่าวหาของอดีตแกนนำ นปก.ทั้ง 3 ล้วนเลื่อนลอย เพราะความจริงแล้ว พันธมิตรฯ ได้ออกมาคัดค้านการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากเห็นว่านักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะกว่า 500 คนเดินขบวนไปคัดค้านที่รัฐสภา แล้วไม่สำเร็จ ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงมีมติที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ โดยจะดาวกระจายไปให้กำลังใจนักเรียนที่โรงเรียนโยธินบูรณะในวันที่ 22 ส.ค.นี้(ล่าสุด พันธมิตรฯ ได้ประกาศเลื่อนการดาวกระจายไปให้กำลังใจนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะจากวันที่ 22 ส.ค.ไปเป็นวันจันทร์ที่ 25 ส.ค.แทน หลัง ผอ.โรงเรียนโยธินบูรณะได้สั่งปิดการเรียนการสอนในวันที่ 22 ส.ค.)

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ชี้ว่า ไม่ควรสร้างรัฐสภาใหม่ในช่วงที่ข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจตกต่ำสุดแบบนี้ โดยเฉพาะการเอาเงินภาษีประชาชนกว่า 19,000 ล้านมาใช้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ หรือความเดือดร้อนของประชาชน พล.ต.จำลอง ยังถามรัฐบาลด้วยว่า “ทำไมต้องสร้างรัฐสภาใหม่ ทั้งๆ ที่ที่เดิม ก็ยังสามารถรองรับผู้แทนราษฎรได้ บางวันมี ส.ส.เข้าประชุมแค่ไม่กี่คน ดูโหรงเหรง แล้วทำไมต้องสร้างรัฐสภาใหม่ รัฐบาลมีอะไรแอบแฝงหรือไม่”

ทั้งนี้ 3 อดีตแกนนำ นปก.ไม่เพียงกล่าวหาว่าพันธมิตรฯ ยุยงนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ แต่พวกเขายังยืนยันด้วยว่า งบที่ใช้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ประมาณ 2 หมื่นล้านนั้น ไม่ได้สูงเกินไป โดยบอกว่า การก่อสร้างให้ยิ่งใหญ่ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว เพราะเป้าหมายของการสร้างรัฐสภา ก็เพื่อให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ซึ่งจะต้องยิ่งใหญ่ ตระการตา เมื่อมองจากริมแม่น้ำเจ้าพระยามายังรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว จะต้องได้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับการมองพระบรมมหาราชวัง !?!

คำพูดดังกล่าวของ 3 อดีตแกนนำ นปก.ที่เป็นเสมือนกระบอกเสียงของรัฐบาลนายสมัคร ไม่เพียงสะท้อนถึงความไม่บังควร ที่นำรัฐสภาแห่งใหม่ไปเทียบกับพระบรมมหาราชวัง แต่ยังบ่งบอกถึงแนวคิด ที่คิดได้แค่ว่า ที่ทำงานของนักการเมืองของพรรคพวกตัวเอง จะต้องยิ่งใหญ่ตระการตา สง่างาม สมฐานะของ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ แต่หาได้สำนึกไม่ว่า พฤติกรรมของตัวเองเป็นเยี่ยงใด มีความสง่างามเพียงพอที่จะทำงานในรัฐสภาหรือไม่ อย่าว่าแต่รัฐสภาแห่งใหม่เลย ลำพังรัฐสภาปัจจุบัน ที่ชอบอ้างว่า เล็ก-คับแคบ ไม่พอรองรับจำนวน ส.ส.-ส.ว.และกรรมาธิการชุดต่างๆ นั้น ถามว่า ถึงเวลา มาประชุมกันกี่คน แล้วเวลาจะทำอะไร เคยเห็นหัวประชาชนบ้างหรือไม่?

หรือคิดแต่ว่า มีอำนาจแล้ว จะทำอะไรก็ได้ เหมือนกับที่ต้องการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ก็อาศัยอำนาจและตำแหน่งที่มี ชงเอง-กินเองได้ดั่งใจ ดังเช่นนายสมัคร สุนทรเวช ที่ประกาศว่า จะสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ให้สำเร็จให้ได้ เพราะตนเป็นนายกฯ สามารถอนุมัติงบก่อสร้างได้ และตนก็เป็นรัฐมนตรีกลาโหม สามารถเห็นชอบให้ใช้ที่ทหารได้ พอเริ่มมีแม่บ้านของทหารที่เกียกกายออกมาคัดค้านเข้าหน่อย ก็มีการข่มขู่ปิดปากสั่งห้ามออกมาค้าน หาไม่แล้วทหารที่เป็นสามีของแม่บ้านรายนั้นจะถูกย้าย

เพราะเหตุนี้หรือ สังคมไทยจึงไม่ได้เห็นทหารคนใดกล้าออกมาค้าน แม้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ยังอ้อมแอ้มพูดได้แค่ว่า ถ้ารัฐบาลต้องการพื้นที่ ทหารก็ไม่อาจปฏิเสธได้

...เห็นท่าทีของทหารที่ยอมเก็บ “ความกล้า” เข้าลิ้นชัก เพียงเพราะไม่อยากถูกย้ายแล้ว อดนึกถึงท่าทีของนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะกว่า 500 คนขึ้นมาไม่ได้ ทั้งที่พวกเขายังเยาว์นัก แถมถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักว่าหากไม่เลิกคัดค้าน อาจถูกเล่นงานไม่ให้จบการศึกษา แต่นักเรียนเหล่านั้นก็หาได้ประหวั่นพรั่นพรึงไม่ ช่างสมกับเป็น “สุภาพบุรุษแห่งเกียกกาย” อย่างไรอย่างนั้น!!
ล่าสุด วันนี้(21 ส.ค.)ตัวแทน นร.โรงเรียนโยธินบูรณะ บุกกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

วันที่ นร.โรงเรียนโยธินบูรณะกว่า 500 คนมาคัดค้านที่รัฐสภา แต่แทนที่ผู้ใหญ่ใน รบ.และสภาจะฟังความรู้สึกของ นร. กลับให้ นร.มาฟังสิ่งที่ตัวเองอยากแถลงแทน(15 ส.ค.)
ป้ายแสดงเจตนารมณ์ของนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ไม่ต้องการให้ใช้พื้นที่โรงเรียนสร้างรัฐสภาแห่งใหม่
บริเวณหน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ
ขนาดห้องสมุด กทม.ในย่านเกียกกาย ใช้งบสร้างกว่า 100 ล้านบาท เพิ่งสร้างเสร็จยังไม่ทันได้เปิดใช้ กลับจะต้องโดนทุบทิ้งเพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น