xs
xsm
sm
md
lg

"หมัก"หนี!ถูกจี้ผลาญเงินชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าแบงก์ชาติแถลงข่าวน้อมรับพระราชดำรัสในหลวง ขอทำงานยึดมั่นผลประโยชน์ชาติ เผยปลาบปลื้มที่สุดในชีวิต ส่วนพนักงานมีกำลังใจอย่างยิ่ง "สมัคร" ปากดี "เรื่องนี้ต้องรู้อยู่แล้ว" แต่พอถามว่ารวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์หรือไม่ กลับเดินหนีขึ้นรถ “เลี้ยบ” ประกาศใช้วินัยการคลังเพื่อประโยชน์สูงสุด แต่ รมช.คลังลั่นจีดีพีต้อง 6% ปชป.ตั้งกระทู้ถามหาธรรมภิบาล รมว.คลัง จวกตั้ง “ชัยวัฒน์" เป็นบอร์ดดีเอสไอทั้งๆ ที่ "ชัยวัฒน์" เคยเป็นประธานเอสซี แอสเสท

วานนี้ (21 ส.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. แถลงข่าวน้อมรับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องการใช้จ่ายและดูแลมูลค่าของเงินต่อ ธปท.นำความปลาบปลื้มมาสู่ตนเองและเจ้าหน้าที่ ธปท.ทำให้มีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยพร้อมจะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสยึดมั่นในบทบาทหน้าที่และการทำงาน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเข้มแข็งต่อไป

"ทำให้ในขณะนี้เรามีกำลังใจในการทำงานดีขึ้นเยอะให้สามารถฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ถือเป็นพระราชกรุณาธิคุณแก่หน่วยงานของแบงก์ชาติหาที่สุดไม่ได้ ส่วนตัวก็รู้สึกปิติยินดีเป็นที่สุดในของชีวิต และพนักงานทุกคนจะรับเอากระแสพระราชกระแสดำรัสนี้อยู่ในดวงใจของเราตลอดไป"

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินต่อไปอย่างไร ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า จากพระราชดำรัสได้เล่าให้ฟังถึงมูลค่าของเงินในขณะนี้ว่าจะมีมูลค่าน้อยลงไป ทำให้การใช้จ่ายต้องระมัดระวัง จึงเป็นหน้าที่สำคัญของวินัยการเงินและวินัยการคลัง ซึ่งการบริหารเงินของประเทศชาติเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล เพราะปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ฉะนั้น ธปท.จะรับเอากระแสพระราชดำรัสเหล่านี้ใส่เกล้าและหัวใจไว้ในการทำงานต่อไป รวมทั้งในเรื่องมูลค่าของค่าเงินที่น้อยลงไปเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินให้ดีที่สุด โดยเห็นด้วยที่มีการกำหนดคณะกรรมการต่างๆ มาค้านอำนาจ ธปท. เพราะจะทำให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

“ถ้าจะถามว่าแรงกดดันในการทำงานมีไหมตอบได้เลยว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่มีเคยมี การทำงานของแบงก์ชาติต้องยืนให้ตรง อย่ามองว่าจะมีแรงกดดันจากคนโน้นคนนี้มาแล้วทำให้เราไขว้เขวไป เราต้องมีสมาธิที่จะยืนตรงๆ แล้วก็ทำงานโดยคิดวัตถุประสงค์ของงาน และบทบาทหน้าที่” นางธาริษา กล่าว

สำหรับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีใจความตอนหนึ่งว่า "ขอบใจที่เหน็ดเหนื่อยเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นงานหนัก และสามารถปฏิบัติงานด้านการเงินเป็นที่เรียบร้อยไม่ให้บ้านเมืองล่มจม แม้ตอนนี้ใกล้ล่มจมแล้ว ซึ่งอาจใช้เงินไม่ระวังเพราะใช้เงินไม่ระวัง ขอบใจที่ท่านระวังเรื่องการดำเนินด้านการเงิน ขอให้สำเร็จในการบริหารการเงินของประเทศชาติ ขอบใจท่านที่เหน็ดเหนื่อยเรื่องการเงิน เรารู้ว่าท่านเหน็ดเหนื่อยลำบากใจ นอกจากเหน็ดเหนื่อยแล้วยังถูกหาว่าทำไม่ได้ดี ทำไม่ถูกต้อง ขอบใจทุกคนที่มาในวันนี้ และยังทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้บ้านเมืองมีเงินใช้ ใครที่บริหารการคลังควรรู้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญของชาติบ้านเมือง"

"หมัก" ลั่น "เรื่องนี้ต้องรู้อยู่แล้ว"

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวหลังจากเสร็จภารกิจการเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ที่กรมชลประทาน วานนี้ (21 ส.ค.) ว่า "เรื่องนี้ต้องรู้อยู่แล้ว ฟังแล้วต้องเอาใส่เกล้าทุกคน ไม่ต้องห่วง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ารวมถึงโครงการที่มีเม็ดเงินขนาดใหญ่ๆ (เมกะโปรเจกต์) ด้วยหรือไม่ นายสมัคร ไม่ตอบคำถามพร้อมกับขึ้นรถไปในทันที

"เลี้ยบ" ชี้ไม่มีใครบีบแบงก์ชาติได้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ดูแลนโยบายการคลังรวมถึง ธปท.ที่ดูแลนโยบายการเงินน้อมรับกระแสพระราชดำรัส ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายประเทศมีเงินสำหรับใช้จ่ายในอนาคต เน้นดำเนินการตามวินัยการเงินการคลังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายด้านการเงินนั้นการตัดสินใจในท้ายที่สุดแล้วเป็นหน้าที่ของ ธปท.ไม่มีหน่วยงานใดที่จะไปก้าวก่ายหรือบีบบังคับได้ ซึ่งในการประชุมร่วมหน่วยงานเศรษฐกิจ 5 หน่วยงานนั้นเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจในนโยบายที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบซึ่งในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ธปท.จะได้นำข้อมูลทางเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน

"ทุกฝ่ายจะน้อมนำพระราชดำรัสเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้หารือเรื่องนี้มาโดยตลอดเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างกันก่อนหน้านี้ยืนยันกระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการเพื่อแทรกแซงธปท.และไม่ต้องการยกเลิกเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อซึ่งธปท.ใช้เพื่อดำเนินนโยบายการเงิน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ส่วนการจัดทำงบประมาณขาดดุลหลายปีซ้อนกันนั้น ไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว แต่รายได้ของรัฐบาลไม่เพียงพอกับรายจ่าย และในการจัดทำงบประมาณปี 52 ก็ยังไม่ได้พิจารณาขาดดุลเพิ่มเติมจากที่ตั้งไว้แล้วว่าขาดดุล 2.5%ของจีดีพี ต้องรอความชัดเจนของภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังและการจัดเก็บรายได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ด้าน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมปฎิบัติตามพระราชดำรัสในเรื่องของการใช้จ่าย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมบัญชีกลางก็ได้กำชับให้ดูเรื่องการใช้จ่าย ให้มีเงินเหลือใช้ ซึ่งที่ผ่านมากรมบัญชีกลางก็ปฎิบัติตลอด สำหรับการประชุมร่วม 5 หน่วยงานที่ผ่านมานั้นเป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายงบประมาณ นโยบายหนี้สาธารณะ นโยบายการคลังและนโยบายเงินเฟ้อ เพื่อตั้งเป้าหมายการทำงานให้สอดคล้องกับการตั้งงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล

“หน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 5 มีอิสระในการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ที่ 6% ตามที่รมว.คลังให้ไว้ ซึ่งแม้ว่าธปท.จะยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อแต่กระทรวงการคลังก็ยังยืนยันที่จะใช้เป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากเราเป็นประเทศยากจนประชาชนยังต้องหาเช้ากินค่ำรัฐจึงต้องสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนแบงก์ชาติมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพก็ทำไป”นายสุชาติกล่าว

ปชป.ซักธรรมาภิบาล "หมอเลี้ยบ"

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานฯทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดของนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม. และ รมว.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถามเรื่องหลักธรรมาภิบาลของการปฎิบัติงาน ของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ใน3 เรื่อง คือ 1.กรณีไม่จัดการกับปัญหกาอดีตผู้นำในเรื่องของการซุกหุ้นในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(กลต.) 2.การเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ3.กรณีคัดเลือกบุคคล เข้ามาเป็นกรรมการ กลต.และกรรมการ ธปท. เพราะหากไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล ตนกล้าพูดว่า รมว.คลังไม่มีทางประสบความสำเร็จในการทำงาน และจะทำให้ประเทศล้มเหลว วันนี้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น มีการถอนการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว

"การตั้งกรรมการในบอร์ดของ กลต.และ ธปท.มีการแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเข้ามาเป็นกรรมการโดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. โดยคณะกรรมการสรรหา อย่างน้อย 3 คน ขาดคุณสมบัติ และเกี่ยวข้องกับคดีอาญา และในส่วนของ กลต.มีการแต่งตั้งที่ปรึกษารมว.คลัง มาเป็นกรรมการสรรหา กลต. และสุดท้ายได้รับเลือกเป็นกรรมการ กลต. ซึ่งบุคคลที่ได้เข้ามาเป็นกรรมการ มีพฤติกรรม ที่เกี่ยวข้องว่าส่อทุจริตเกี่ยวกับสถาบันการเงิน"

นายกรณ์ กล่าวว่า ตามหลักธรรมาภิบาลของ ธปท. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่าในการตั้งคณะกรรมการสรรหา ผู้ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการ จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับคดีความทางอาญา หรือเป็นผู้ทุจริตฉ้อฉล เกี่ยวกับการบริหารในสถาบันการเงิน แต่พบว่ากรรมการสรรหาบางคนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไปแล้ว แต่กระบวนการยังไม่สิ้นสุด กลับได้รับเลือกเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในธปท. ขณะเดียวกัน กลต. ก็ได้มีหลักธรรมาภิบาลไว้หลายข้อเช่นเดียวกับโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการส่อทุจริต ของบุคคลเกี่ยวกับสถาบันการเงินแม้คดียังไม่สิ้นสุดก็ไม่สมควร ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า รมว.คลัง ไม่เข้าใจหลักธรรมาภิบาล ที่มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นบอร์ดขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุน และมีเหตุผลอย่างไรจึงต้องตั้งคนเหล่านี้เข้ามา

ค้าน "ชัยวัฒน์" นั่งบอร์ดดีเอสไอ

นายกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลนอกจากจะยึดตามหลักของกฎหมายแล้ว จะต้องยึดหลักจิตสำนึกของความถูกต้อง และคุณธรรมของผู้บริหารที่ดี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ต่อการพัฒนาประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุดการแต่งตั้งกรรมการต่างๆของรัฐบาลก็ได้ส่อให้เห็นความไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยเมื่อวันที่19 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติแต่งตั้งนาย ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีต ผู้ว่า ธปท. เป็นกรรมการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.) แม้ว่านายชัยวัฒน์ จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นอดีตผู้ว่า ธปท. ที่มีความชำนาญด้านสถาบันการเงินและด้านเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่สำคัญคือนายชัยวัฒน์เคยเป็นประธานบริษัท เอสซีเอสเซท จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่มีปัญหา หรือเกี่ยวข้องกับคดีซุกหุ้นภาค 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตุว่าการตั้งนายชัยวัฒน์ เป็นกรรมการของดีเอสไอ. อยู่ในช่วงที่อัยการสูงสุดฝ่ายคดีพิเศษตีกลับสำนวนคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอสซีเอสเซท กลับไปทำสำนวนรวบรวมหลักฐานอีกครั้ง ซึ่งดีเอสไอ. อ้างว่ายังขาดข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ที่ต้องขอความร่วมมือกับ กลต. จึงเป็นที่น่าสังเกตุว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่เพราะอัยการสูงสุด ยังไม่ได้สั่งฟ้องในคดีนี้ ดังนั้นจึงอยากถามหาความเหมาะสม ที่มีการเสนอบุคคลที่เป็นปัญหาเข้ามาเป็นกรรมการในดีเอสไอ. จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือไม่อย่างไร โดยนายชัยวัฒน์ ถูกเสนอชื่อเข้า ครม. โดย รมว.ยุติธรรม

นายกรณ์ กล่าวว่า การเสนอบุคคลเหล่านี้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และมีส่วนได้เสียกับรัฐบาลหรือไม่ รัฐบาลต้องมีการชี้แจง แต่เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดหลักธรรมาภิบาล และพระบรมราชโชวาท ที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “…ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และป้องกันคนไม่ดี ไม่ให้เข้ามามีอำนาจ”

น.พ.สุรพงษ์ชี้ แจงว่า การทำงานของตน ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการตรวจสอบ ความสุจริต และความโปร่งใส ส่วนเรื่องการสรรหาบุคคลไม่เหมาะสมก็ต้องกลับไปพิจารณากฎหมาย ที่มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งหากเห็นว่ากรรมการสรรหา มีส่วนได้เสีย และอาจจะมีผลในทางใดทางหนึ่งก็ต้องกลับไปแก้ที่กฎหมาย อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งบุคคล นอกจากจะยึดหลักธรรมาภิบาลแล้ว ต้องยึกหลักนิติศาสตร์ เพราะเราปกครองตามหลักนิติรัฐ ทั้งหมดเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เวลา ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวกำหนด ภาพที่ปรากฎไม่ได้เป็นการสะท้อนตัวตนของบุคคล แต่ให้ดูผลของการกระทำ หากเห็นว่ามีปัญหา หรือมีผลบกระทบประการใด จะได้ทบทวนและหาทางแก้ปัญหาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น