xs
xsm
sm
md
lg

ล้มบอร์ด ธปท.จ่อศาล "เลี้ยบ"เย้ยทูลเกล้าฯ แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยื่นแล้วผู้ตรวจการแผ่นดิน สกัดแผน"แก๊งเลี้ยบ" ยึดตลาดเงินตลาดทุน ปชป.หวังถึงมือศาลปกครอง ย้ำความผิดชัด กรณีแต่งตั้งกรรมการสรรหาที่มีมลทินไปคัดเลือกบอร์ดแบงก์ชาติ ด้านรัฐมนตรีคลังประกาศกร้าวเดินหน้า อ้างทูลเกล้าฯ แล้ว ชี้กฎหมายแบงก์ชาติไม่มีข้อห้ามกรรมการสรรหามาจากแบงก์พาณิชย์ "สมัคร" ดัน ดร.โกร่ง ทำหน้าที่กรองงานเศรษฐกิจให้ ครม. "ธาริษา" โต้ยังไม่มีสัญญาณลดดอกเบี้ย

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรมว.คลังเงา เปิดเผยว่า ได้ยื่นเรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด ธปท. ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วเมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) ประเด็นสำคัญคือการที่ นพ.สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง นอกจากเสนอ ครม.ให้อนุมัติแล้ว ยังเป็นผู้คัดเลือกกรรมการสรรหาไปแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ธปท. พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า คณะกรรมการสรรหาฯ ชุดดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องการเป็นบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียกับ ธปท.

"7 คนที่ได้รับการแต่งตั้งมี 3 คน ที่มีตำแหน่งในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ ธปท.โดยตรง ซึ่งขั้นตอนนี้เชื่อว่าจะส่งผลเสียหายต่อองค์กรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินประเทศ คือ ธปท. และขัดต่อเจตนาของ พ.ร.บ.ธปท.ปี 2551 มาตรา 28/1 ที่ต้องการให้การทำงานของ ธปท.มีอิสระจากการเมือง" นายกรณ์ กล่าวและว่า การที่การเมืองแทรกแซงการตั้งแต่งบอร์ด ธปท. ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักธุรกิจและประชาชน และจะมีผลระยะยาวต่อความน่าเชื่อถือของ ธปท.ด้วย

3 ใน 7 กรรมการสรรหา ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย ขณะที่บอร์ด ธปท.ที่ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นายพรชัย นุชสุวรรณ เป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ นายคณิศ แสงสุพรรณ และนายจรุง หนูขวัญ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายพรชัยและนายวุฒิพันธุ์ เป็น 2 ใน 47 คน ที่เป็นจำเลยในคดีหวยบนดิน ส่วนนายชัยเกษม ก็ถูก คตส.ชี้มูลว่าเกี่ยวข้องกับ คดีซีทีเอ็กซ์

นายกรณ์ กล่าวว่า รมว.คลังจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ทั้งหมดเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์และความตั้งใจของกฎหมายที่เพิ่มความเป็นอิสระกับสถาบันเหล่านี้ แต่ นพ.สุรพงษ์ กับเอาการเมืองมาเกี่ยวข้อง และอ้างว่าไม่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้ นพ.สุรพงษ์ ต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะต่อระบบการเงิน การคลังต่อประเทศหรือไม่

“การให้สัมภาษณ์ของ รมว.คลัง ที่ผ่านมา สร้างความกังวลอย่างมาก กับการที่ออกมาบอกว่าเป็นดุลพินิจของกรรมการสรรหา ตัวเองมีหน้าทีเพียงยื่นชื่อที่กรรมการสรรหาส่งมาให้ ถ้าคิดว่า นพ.สุรพงษ์ คิดว่ามีหน้าที่เพียงแค่นั้น ผมขอบอกตรงว่า เอาบุรุษไปรณีย์มาเป็น รมว.คลังก็ได้ ” นายกรณ์กล่าว และว่า เจตนารมณ์ของพรรคต้องการยื่นเรื่องให้ศาลปกครอง แต่เราคำนึงถึงข้อจำกัดศาลปกครองที่จะมีวิจารณาณต่อผู้เสียหาย ซึ่งเราคาดหวังว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง อาจเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการสรรหาชุดนี้ ซึ่งอาจจะออกมายื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลปกครองได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยการปกป้อง ธปท. โดยการยื่นเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน เชื่อว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องแล้วจะดำเนินการยื่นฟ้องศาลปกครองแทนเราต่อไป

"หมอเลี้ยบ"กร้าวรอโปรดเกล้าฯ

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศเดินหน้าการแต่งตั้งบอร์ด ธปท.ต่อไป เนื่องจากตามกระบวนการตอนนี้รายชื่อบอร์ด ธปท.ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว และอยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธานบอร์ด ถือเป็นการเดินหน้าไปตามกระบวนการปกติ ที่สำคัญกระบวนการแต่งตั้งดังกล่าว ไม่ได้ห้ามกรรมการสรรหา แต่กฎหมายห้ามบอร์ด ธปท.ไปมีตำแหน่งในสถาบันการเงินเท่านั้น กรรมการสรรหาจึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท.

"การที่มีผู้ยืนเรื่องขอตรวจสอบถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ในทุกองค์กรไม่เว้นเฉพาะแบงก์ชาติ หากมีข้อสงสัย ผู้ที่สงสัยสามารถยื่นเรื่องตามกระบวนการเพื่อขอตรวจสอบได้ แต่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำให้ขั้นตอนตามกฎหมายต้องสะดุดลง" นพ.สุรพงษ์กล่าว

"หมัก" ให้ "โกร่ง" กรองงานก่อน ครม.

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อกลั่นกรองและพิจารณางานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะจัดการประชุมทุกวันจันทร์ โดยคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวจะมีนายกฯ เป็นประธาน ส่วนรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจจะรับหน้าที่เป็นรองประธานฯ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจต่าง ๆ จะทำหน้าที่เป็นกรรมการ

ทั้งนี้ หน่วยงานที่จะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ ธปท. ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นเลขานุการ

นายวีรพงษ์ กล่าวภายหลังนำคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เข้าหารือกับนายกฯ พร้อมด้วย นพ.สุรพงษ์ว่า นายกฯ และผู้ที่เข้าร่วมหารือต่างเห็นด้วยว่าควรจะมีการประชุมในระดับคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณางานหรือโครงการต่างๆ ก่อนจะเสนอเข้า ครม. โดยจะมีการประชุมกันทุกวันจันทร์ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ จะเสนอความเห็นโดยตรงถึงนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ยกเว้นการร่วมประชุมครม. ยังคงขึ้นกับดุลพินิจของนายกฯ

ธปท.โต้คลังมั่วตีความลดดอกเบี้ย

กรณีที่ 5 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจากการหารือโฆษกกระทรวงการคลังได้ออกมาระบุว่า ความเข้มงวดในการใช้นโยบายการเงินของ ธปท.ในอนาคตอาจมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายมากขึ้นหรือมีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงได้นั้น

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือแบบตึงตัว ซึ่งทุกอย่างก็ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มลดลงเยอะ และมาตรการ 6 ข้อของภาครัฐก็ช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อได้สมควร ดังนั้น ความกังวลของ ธปท. ที่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงและบางเดือนอาจเป็นตัวเลข 2 หลักนั้น ความกังวลดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายลง

“นโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องตึงตัวก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะผ่อนคลาย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันข้อมูลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเร็วทั้งราคาน้ำมันและดีมานท์ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในและต่างประเทศ”

ส่วนการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินนโยบายร่วมกันของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยในส่วนของกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อใหม่ จากปัจจุบันใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 0-3.5% เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะมีการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก่อน หลังจากนั้นจะหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ถึงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมต่อไป

"แม้ ธปท.จะเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่การตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต้องมีแนวคิดร่วมกันและให้ได้อัตราเหมาะสมที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตของประเทศได้ และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบยั่งยืน จึง ไม่ได้เอาตัวเลขในอากาศมากำหนดตัวเลขใดๆ ก็ได้”

อย่างไรก็ตาม กรอบในการดำเนินนโยบายการเงินจะใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเหมือนในปัจจุบันหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปต้องรอให้กนง.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้ต้องรอให้มีการแต่งตั้งบอร์ด ธปท.อย่างเป็นทางการก่อน และหลังจากนั้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยที่เข้ามาดูแลระบบการเงินและสถาบันการเงิน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นบอร์ด กนง.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ใน พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ได้กำหนดให้ กนง.เป็นผู้กำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินของทุกปี ซึ่ง กนง.จะหารือร่วมกันในเดือน ธ.ค.ของปีก่อนหน้า ส่วนความคืบหน้าการแต่งตั้งบอร์ด ธปท.นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธาน แม้กรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกอีก 5 คน ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถแต่งตั้งบอร์ด ธปท.ทั้งชุดอย่างเป็นทางการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น