“เลี้ยบ” หวั่นแถลงการณ์ “ทักษิณ” ละเมิดอำนาจศาล-บานปลาย ชี้ กระบวนการยุติธรรม แปลไทยเป็นไทย หมายถึง คตส.ไม่ใช่ศาล เชื่อไม่กระทบความมั่นใจการลงทุน ส่วน แก๊งออฟโฟร์ ยันไม่มีอิทธิพลกำหนดทิศทางตลาดหุ้น
วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เชื่อว่า แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมนั้น จะส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะเห็นว่านักลงทุนที่จะเข้ามาในไทยคงต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว และขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศก็ไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะหมายถึงกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ยังมีข้อมูลไม่รอบด้าน เช่น กรณีหวยบนดินที่ คตส.ยังมีความเห็นต่างจากอัยการ ซึ่งหลายคดีที่ คตส.ตรวจสอบ กลับมีการดำเนินการแตกต่างกัน เช่น คดีกล้ายาง ทั้งที่ตนร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย แต่กลับไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเหมือนอย่างกรณีการอนุมัติออกหวยบนดิน
นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์ ยังปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับแก๊งออฟโฟร์ โดยมองว่าเป็นความพยายามของบางกลุ่มที่ต้องการชี้ให้เห็นว่าแก๊งออฟโฟร์เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทั้งเรื่องการเมือง และเริ่มขยายวงไปถึงตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะภาวะปัจจุบันคงไม่มีใครสามารถกำหนดทิศทางของตลาดเงินตลาดทุนได้
“เศรษฐกิจใหญ่โตเกินไปที่จะทำได้ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความหลากหลายและเป็นผู้มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว คงไม่มีใครสามารถไปกำหนดทิศทางตลาดเงินตลาดทุนได้ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสร้างความเข้าใจว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลมากกว่า” นพ.สุรพงษ์ ระบุ
พร้อมเห็นว่า คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำงานได้ เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และต้องสามารถตรวจสอบการทำงาน
นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้ง นายนิพัทธ พุกกะณะสุต เป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยระบุว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเสนอชื่อกรรมการสรรหาประธาน ก.ล.ต.ดังนั้น การแต่งตั้งนายนิพัทธ ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนที่ตัดสินใจ แต่เชื่อว่าได้พิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่คงต้องไปถามผู้ที่คัดเลือก
อย่างไรก็ดี วันพรุ่งนี้ (14 ส.ค.)จะเรียกประชุม 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจในเวลา 16.00 น. ซึ่งได้แก่ สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาภาพรวมด้านเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก และประเมินเป้าหมายเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมกับแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ