ปัญหาเช่ารถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 4 พันคันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) นาน 10 ปี ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องรอให้คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาหาข้อสรุปว่าจะใช้วิธีซื้อหรือเช่าว่าอย่างไหนจะเหมาะสมกว่ากัน ตามข้อเสนอของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยให้เวลาศึกษาภายใน 1 เดือน ซึ่งเมื่อวานนี้(8 มิ.ย.) ก็ได้เริ่มประชุมกันเป็นนัดแรกแล้ว
แต่ระหว่างที่รอการพิจารณาดังกล่าวก็น่าจะลองมาเปรียบเทียบตัวเลข และความเป็นไปได้ของตัวเลขกำไรขาดทุน หากใช้วิธีเช่าจากบริษัทเอกชน ตามที่รัฐมนตรีในกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” จากพรรคภูมิใจไทยผลักดันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ว่าจะเป็น โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม หรือแม้แต่ ชวรัตน์ ชาญวีระกูล รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก็ออกมาร่วมแรงกับเขาด้วย
อย่างไรก็ดีเพื่อให้เข้าใจตัวเลขในปัจจุบันว่าวงเงินล่าสุดซึ่งเป็นตัวเลขจากสัปดาห์ที่แล้วได้ลดลงมาเหลือ 6.4 หมื่นล้านบาท เป็นการลดแบบกระหน่ำช่วงหน้าฝนจากเดิมเคยตั้งเอาไว้ที่ราคา 6.9 หมื่นล้านบาท พอถูกด่า ถูกตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้นก็ยอมลดลงมาแบบพรวดพราดดังกล่าว
จากการให้สัมภาษณ์แบบฝันหวานของ ปิยะพันธุ์ จำปาสุต ประธานบอร์ด ขสมก.ซึ่งออกโรงแทนผู้อำนวยการ ขสมก.ที่จู่ๆได้ยื่นหนังสือลาป่วยอย่างกระทันหันเป็นเวลา 1 เดือน ย้ำว่า หากรัฐบาลไฟเขียวให้ดำเนินการก็จะทำให้ ขสมก.มีกำไรเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1,500 บาทต่อคันต่อวัน หรือสูงสุดประมาณ 10,000 บาทต่อคัน ถ้าคิดรวม 4 พันคัน กำไรวันละเท่าไหร่ ลองหลับตาบวกลบคูณหารเอาก็แล้วกัน
กำไรดังกล่าวเป็นการคิดหลังจากหักรายได้เฉลี่ยต่ำสุดจำนวน 10,500 บาท ต่อคันโดยหักจากค่าเช่าวันละ 9,000 บาทต่อคันแล้ว
ที่สำคัญยังเป็นการคิดคำนวณตัวเลขจำนวนผู้โดยสารแค่ 350 คน ต่อคนต่อวัน และอัตราค่าโดยสาร แค่เริ่มต้นที่คนละ 12 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ 30 บาทเหมือนแต่เดิมเสียอีก ฟังดูเผินๆก็อาจทำให้คนกรุงเทพฯที่ใช้บริการรถเมล์ปรับอากาศอยู่ทุกวันเคลิบเคลิ้มได้ไม่ยาก
เพราะรถที่นำมาบริการก็ใหม่เอี่ยม แถมราคาเมื่อเปรียบเทียบสภาพกันแล้วก็ยังถูกกว่ารถยูโรทูที่ “บุโรทั่ง” ในปัจจุบันนี้
ได้นั่งรถสบายแอร์เย็นฉ่ำมันก็น่าเห็นดีเห็นงามไปด้วย
แต่นั่นคือความฝัน และแผนหลอกต้มจากพวกนักการเมืองเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะมองในมุมไหนแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลย ทั้งในเรื่องของพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯในการใช้บริการของ ขสมก.ในอนาคตที่จะต้องมีทางเลือกมากขึ้น หรือหากเทียบจากจำนวนรายได้ของรถเมล์ ขสมก.ที่มีรายได้ในบางสายที่สูงที่สุดก็แค่ไม่เกิน 5-6 พันบาทต่อวันเท่านั้น
มองดูรูปการณ์แล้วน่าจะมีแต่ขาดทุน และในที่สุดก็ต้องให้กระทรวงการคลังที่เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาเข้ามาอุ้ม ซึ่งก็หมายถึงต้องใช้เงินจากภาษีของประชาชนทั่วประเทศนั่นแหละ
เมื่อไม่มีทางเป็นไปได้ในด้านของผลกำไรแล้วก็กลายเป็นว่านี่คือแผน ”หลอกต้ม” ของนักการเมือง โดยสร้างวิมานในอากาศให้ชาวบ้านเคลิบเคลิ้ม ซึ่งคราวนี้ถือว่าแยบยลกว่าเดิม นั่นก็คือเป็นการหลอกหาเสียงกับคนกรุงเทพฯ เพราะล่าสุดได้ยอมลดราคาค่าโดยสารลงมาให้เริ่มต้นที่คนละ 12 บาท แทนที่จะเป็น 30 บาทเหมือนเมื่อก่อน ที่สำคัญโครงการนี้สังคมรับรู้กันไปแล้วว่าเป็นของ ภูมิใจไทยเพียวๆ ประชาธิปัตย์ไม่เกี่ยว
อีกประการหนึ่งเป็นการหลอกต้มเพื่อหาเงิน “เข้ากระเป๋า” ตัวเอง นั่นก็คือหากโครงการนี้ได้รับ “ไฟเขียว”
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในทุกมุมแล้วถือว่างานนี้เป็น “เกม” ที่อำมหิตและเอาแต่ได้จริงๆ ขณะเดียวกันเมื่อเงยหน้ามองป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ขึ้นทั่วกรุงเทพฯในวันสองนี้แล้วทุกอย่างมันสอดคล้องกัน รวมไปถึงการลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อชี้แจงโครงการต่างๆของพรรคภูมิใจไทยเป็นการเฉพาะ มันก็ยิ่งทำให้เห็นภาพมากขึ้น
เพราะตามข้อมูลที่ออกมาให้สังคมได้รับทราบมาโดยตลอดก็คือ พรรคภูมิใจไทยกำลังคิดไปไกลก็คือหวังจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคราวหน้า และที่สำคัญต้องการได้ที่นั่ง ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเข้ามาเสริมน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้นเอง
แต่ทุกอย่างอาจจะไม่ง่ายตามที่นักการเมืองกลุ่มนี้ได้ฝันหวานเอาไว้ก็ได้ เนื่องจากสังคมได้รับรู้ความจริงได้มากขึ้น รู้ดีกว่าคนกลุ่มนี้คิดจะมาหลอกต้ม หวังว่าจะได้ทั้งเงินเข้ากระเป๋าและคะแนนเสียงเสียอีก ทุกอย่างมันไม่หมู
และที่สำคัญตัวประธานบอร์ด ขสมก.คือ ปิยะพันธุ์ จำปาสุต คนเดียวกันนี้ในอดีตสมัยเมื่อเป็นรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเคยผลักดันให้ซื้อรถยูโรทูจำนวน 500 คันในราคาที่แพงเกินกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนด และต้องเสียดอกเบี้ยแพงมหาโหดจนทำให้ ขสมก.ขาดทุน “บักโกรก” มาจนทุกวันนี้
ของเก่ายังเคลียร์ไม่จบ
แต่ปัจจุบันยังคิดจะมาผลักดันเช่ารถเมล์เอ็นจีวีอีก 4 พันคัน มันไม่เห็นแก่ตัว และน่าเกลียดเกินไปหน่อยหรือ !!