รมว.คมนาคม ฝากรัฐบาลชุดใหม่ สานต่อโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย การปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รวมถึงการแก้ปัญหามลภาวะทางเสียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมแตะเบรก บขส.-ขสมก. ปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร
วันนี้(3 ม.ค.) พลรือเอกธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงานในส่วนของกระทรวงคมนาคม ต้องการให้สานต่อโครงการเมกะโปรคเจคที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้วแต่ยังไม่เสร็จทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะเข้ามาสานต่อได้ทันที รวมถึงการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ซึ่งทั้ง 2 องค์กรที่กำกับดูแล ต้องมีการปรับตัวให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ ที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชน
ส่วนการแก้ปัญหามลภาวะทางเสียงโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติออกมาใหม่เมื่อวานนี้(2 ธ.ค.) ที่ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พิจารณารับซื้อ หรือชดเชยทางการเงิน เฉพาะส่วนที่ก่อนสร้างก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2544 และให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง รับภาระทางการเงินเพื่อรับซื้อและปรับปรุงอาคาร เฉพาะก่อสร้างหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2544 นั้น ทางกระทรวงคมนาคม จะหารือกับสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อสรุปถึงที่มาของวงเงินที่รัฐบาลจะนำมาชดเชย นอกเหนือจาก ทอท. ที่ต้องรับภาระ
ส่วนกรณีที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมขึ้นราคานั้น กระทรวงฯ ได้สั่งให้ตรึงค่าโดยสาร และจะครบระยะเวลา 3 เดือน ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ล่าสุด บอร์ด บ.ข.ส.และ ขสมก.จะต้องเป็นผู้พิจารณาหลังจากครบเวลาที่กำหนดแล้วว่า บ.ข.ส.และ ขสมก.จะปรับขึ้นค่าโดยสารตามรถร่วม บ.ข.ส. ที่ขึ้นค่าโดยสารกิโลเมตรละ 3 สตางค์ และรถร่วม ข.ส.ม.ก.ขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท ไปก่อนหน้านี้หรือไม่ หลังจากนั้นให้นำเรื่องเสนอคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาอนุมัติ หากทั้ง 2 หน่วยงานสามารถแบกรับภาระต่อไปได้ ขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บ.ข.ส.แบกรับภาระต้นทุน เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ประมาณ 80 ล้านบาท หากรวมกับการลดราคาตั๋วโดยสารในช่วงวันที่ 21-24 ธันวาคม 2550 ทำให้ บ.ข.ส.แบกภาระต้นทุนรวมแล้วประมาณ 110 ล้านบาท ส่วนจะปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่นั้น ขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ด
นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการแท็กซี่ยื่นขอปรับอัตรามิเตอร์ใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นว่า กรมจะเสนอเรื่องให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้กรมได้ให้เจ้าหน้าที่ศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่าโดยสารของรถแท็กซี่และรถโดยสารประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารตามความเป็นจริง โดยเห็นว่าแท็กซี่สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถ้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มจุดจอดรถแท็กซี่ เพราะปัจจุบันแท็กซี่วิ่งรถเปล่าหาผู้โดยสารคิดเป็นความสิ้นเปลืองประมาณ 30% ของค่าใช้จ่าย
"กรณีที่รถร่วม บ.ข.ส.ขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีกกิโลเมตรละ 6 สตางค์ มีผลในวันที่ 19 มกราคมนี้นั้น ในเบื้องต้นจากการวิเคราะห์ต้นทุนพบว่า ราคาน้ำมันไม่ได้ทำให้ต้นทุนรถร่วม บ.ข.ส.สูงถึง กม.ละ 6 สตางค์ เพราะราคาน้ำมันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถร่วม บ.ข.ส.ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารบางส่วนแล้ว" นายศิลปชัยกล่าว