xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เปิดงาน “Cool Earth Seminar” สัมมนาแก้ปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนาโครงการ Cool Earth Seminar ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยงานดังกล่าวถือเป็นงานสัมมนาที่รัฐบาลไทยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายเคียวจิ โคมาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย


วันนี้ (4 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนาโครงการ Cool Earth Seminar ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นที่กรุงเทพฯ พร้อมได้กล่าวยกย่องความพยายามของญี่ปุ่นซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการแก้ไขโลกร้อน ผ่านโครงการ Cool Earth Promotion Programme ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการและความร่วมมือต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและต้องพึ่งพิงกับฤดูกาล ซึ่งปัญหาโลกร้อนจะก่อให้เกิดผลที่เลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อม การเติบโตเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อที่จะสนับสนุนโลกในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้ลงนามใน UNFCCC ในปี 1992 และได้เข้ามามีส่วนร่วมกับที่ประชุมของ UN ภายหลังการให้สัตยาบันในปี 1994 ในเวลาต่อมา ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาเกียวโต ในปี 2002 และในเดือนตุลาคมปีนี้ ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมการหารือในประเด็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงเทพฯ ก่อนที่จะมีการประชุมที่เมืองโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม โดยเป็นการดำเนินรอยตามความสำเร็จของการประชุมในรอบแรกเมื่อปี 2008

รัฐบาลไทยมีแนวทางนโยบายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในฐานะเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของชาติ และในฐานะประธานคนปัจจุบันของคณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้มีการวางแนวทางยุทธศาสตร์ระดับชาติในประเด็นเกี่ยวกับ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสำหรับปี 2008-2012 ซึ่งจะสร้างกรอบการทำงานสำหรับการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลในระดับประเทศและการมีมาตรการต่อปัญหาดังกล่าว ผ่านแรงจูงใจทาง ด้านภาษีสำหรับพลังงานทางเลือก การปลูกป่า และการใช้เทคนิคในการเกษตรกรรมที่ให้ก๊าซมีเทนต่ำ รัฐบาลยังได้ผลักดันโครงการธนาคารต้นกล้าเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนและเพิ่มศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนในระยะยาวที่จะสนับสนุนการบริโภคพลังงาน ที่มีความสะอาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รัฐบาลกำลังผลักดันแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจแผนที่สองที่มีมูลค่า 45 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งปรับใช้ต่อแนวทางที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเพื่อขยายความเป็นไปได้ในขอบเขตของทางเลือกของพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในด้านการผลิตพลังงานจากพืช เช่น ปาล์มและมันสำปะหลัง

 
สำหรับความพยายามของรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการฝนเทียมในพระราชดำริ และแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันที่จำเป็นในการต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ และการพัฒนาเศรษกิจและสังคม ของคนไทย โดยเฉพาะช่วงแห้งแล้งหรือเกิดอุทกภัย

 
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งที่ประกาศโครงการ “Cool Earth Promotion Programme” ไว้ในปีที่แล้ว โดยกำหนดเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพภายใต้ กรอบPost-2012 เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Post-2012 Framework on Climate Change) ซึ่งประเทศเศรษฐกิจทั้งหลายต้องร่วมมือกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และในขณะเดียวกันต้องจัดหาเทคโนโลยี่ที่สนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาในการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยปราศจากการต่อรองด้วยขนาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การรวมตัวกันในวันนี้ไม่เพียงแต่เหมาะสมต่อโอกาสเวลาเท่านั้น พรุ่งนี้วันที่ 5 มิถุนายนก็เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก แต่สาระสำคัญที่จะได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ ยังเป็นการย้ำเตือนว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังอยู่ในจุดเชื่อมต่อที่วิกฤต นั่นคือ จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน (climate change) ซึ่งวิกฤตการณ์ทั้งสองอย่างนี้ ถูกเริ่มขึ้นโดยมนุษย์และจะหยุดได้โดยมนุษย์เท่านั้น ในขณะนี้เราไม่มีเวลาสำหรับที่จะเสียกันต่อไปอีกแล้ว เราต้องให้ความพยายามและใส่ใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่า หากเราต้องการที่จะประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่วิกฤต 
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายเคียวจิ โคมาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย






นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน



กำลังโหลดความคิดเห็น