xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนทั่วโลก : โลกแห่งโอกาส (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ จับกระแสลงทุนกับอเบอร์ดีน

อเบอร์ดีนเชื่อว่ามีโอกาสมากมายที่จะเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้นจากการลงทุนทั่วโลก แต่การลงทุนทั่วโลกจริงๆ แล้วนั้นหมายความว่าอย่างไร การนำเอาคำที่มีความหมายทั่วไป 2 คำคือการลงทุน และทั่วโลก มารวมกัน อาจจะได้ความหมายทั่วไป ซึ่งไม่สามารถสื่อความหมายที่เหมาะสม และทำให้ยากต่อการหาคำตอบสำหรับคำถามพื้นฐานเช่นนี้

การลงทุนทั่วโลกมีความหมายแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน บางคนเข้าใจว่าคือการจัดสรรเงินไปลงทุนตามตลาดต่างๆทั่วโลกโดยเลียนแบบดัชนี บางคนคิดว่าคือการลงทุนไปตามกระแส เช่นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี หรือลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่สำหรับอเบอร์ดีน การลงทุนทั่วโลกคือการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในธุรกิจต่างชาติ ในราคาที่สมเหตุสมผล และมีการบริหารจัดการที่ดี โดยวิเคราะห์ตรวจสอบอย่างละเอียด ผ่านกระบวนการเพื่อลดความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะจากการลงทุนในประเทศไทย เช่นการเมือง หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลงอย่างรวดเร็ว

ในบทความนี้ เราได้กล่าวถึงความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการลงทุนทั่วโลกอยู่ 8 ประการ โดยหวังว่าเมื่อได้เผยแพร่ไปแล้ว จะได้สร้างความเชื่อมั่นในผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนนอกประเทศ และในฐานะผู้จัดการกองทุนของ กองทุนเปิด อเบอร์ดีน เวิลด์ ออพพอร์ทูนิตี้ส์ ฟันด์ เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถปฎิบัติหน้าที่ในการสร้างผลตอบแทนดังกล่าวให้แก่ท่านได้เป็นอย่างดี

ประการที่ 1 ดัชนีเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการลงทุนในหุ้นของนักลงทุนเชิงรุก
โดยทั่วไปดัชนี หมายถึงเกณฑ์มาตรฐานหรือเกณฑ์อ้างอิงที่สามารถใช้วัดเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ดี ในโลกของการลงทุน ดัชนีไม่เพียงถูกใช้ในการเปรียบเทียบ แต่ถูกใช้เป็นต้นแบบในการสร้างพอร์ตการลงทุนด้วย ผู้ที่ใช้รูปแบบการลงทุนตามดัชนีดังกล่าวจะต้องลงทุนในหุ้นของญี่ปุ่น 40.3% และลงทุนในประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นเพียง 1.5% สำหรับพอร์ตการลงทุนทั่วโลกของตนในเดือนธันวาคม 2532 แต่ทุกคนทราบดีว่าต่อมา ญี่ปุ่นประสบกับ “ทศวรรษแห่งการสูญเสีย (Lost Decade)” เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันภายหลังจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย สัดส่วนการลงทุนในประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น กลับเพิ่มขึ้น และที่น่าหงุดหงิดใจเช่นเดียวกัน คือหากสร้างพอร์ตการลงทุนตามดัชนีแล้ว เราต้องมีสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐ ฯ เพิ่มเป็น 56.9% ในเดือนธันวาคม 2544 ซึ่งจะรวมถึงการที่เราต้องเป็นเจ้าของหุ้นอย่างเช่น เอ็นรอน เวิลด์คอม และโกลบอล ครอสซิ่ง ซึ่งยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่เราจะได้รับจากการอ่อนค่าลงของเงินเหรียญสหรัฐฯ

ปัจจุบันกองทุนดัชนี เป็นการลงทุนที่ใช้กลยุทธ์อิงดัชนี (benchmark-hugging) มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจำนวนมากของตลาดส่วนใหญ่ แม้ว่าจะไม่สามารถทราบถึงขนาดเงินทุนที่แท้จริง การลงทุนดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ระยะสั้น อันนำไปสู่ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า ตลาดมีประสิทธิภาพ (ราคาหุ้นสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริง) และการกระจายการลงทุนเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะกลายเป็นการเข้าไปช่วยพยุงบริษัทที่มีพื้นฐานไม่ดี และมองข้ามบริษัทที่ดีไป ดังนั้นหากนักลงทุนแห่ทำตามกลยุทธ์นี้คือการซื้อหุ้นตามดัชนี ท่านจะได้หุ้นของบริษัทที่มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง และพลาดการค้นพบเพชรเม็ดงาม คือหุ้นของบริษัทคุณภาพดี ที่ยังมีราคาต่ำ

ปัญหาของการลงทุนอิงดัชนี คือเป็นการลงทุนที่อิงกับอดีต ซึ่งไม่สามารถทราบถึงแนวโน้มของหุ้นบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี และนั่นไม่ใช่กลยุทธ์การลงทุนของอเบอร์ดีน

ประการที่ 2 การกระจายการลงทุนแสดงถึงการมีหุ้นจำนวนมากในพอร์ตการลงทุน
ความเชื่อที่ว่าการกระจายการลงทุนต้องเป็นสิ่งดีเสมอไปนั้น มีที่มาจากหลักสำคัญและเป็นหนึ่งในสมมติฐานที่ทำให้สำคัญผิดที่สุดประการหนึ่งของทฤษฎีพอร์ตการลงทุนสมัยใหม่ นั่นก็คือความเชื่อที่ว่าตลาดมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผู้ลงทุนควรวางแผนที่จะลดความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะดังกล่าวโดยการกระจายการลงทุน แม้ว่าในช่วงทศวรรษ 1970 ยูจีน ฟามา ได้พิสูจน์แล้วว่าจุดแข็งของตลาดมีระดับประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้แสดงให้เห็นจากประสบการณ์ของเขาว่าเราอาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดได้อย่างทฤษฎีประสิทธิภาพตลาดทุน (EMH) ก็ยังคงเป็นหลักสูตรในโรงเรียนสอนธุรกิจและสมาคมการลงทุน บัฟเฟตต์เองได้สรุปความเห็นของเขาเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นคำกล่าวว่า “หากคุณทำธุรกิจขนส่งทางเรือ คงจะเป็นประโยชน์กับคุณถ้าคู่แข่งของคุณเข้าใจว่าโลกแบน” (อ้างอิงถึงหนังสือประจำปีถึงผู้ถือหุ้นของ เบอร์คไชร์ แฮธะเวย์ ปี 2549 หน้า 22)

ทฤษฎีประสิทธิภาพตลาดทุน (EMH) ระบุว่าข้อมูลที่สามารถรับรู้ได้ทั้งหมดจะถูกสะท้อนมาเป็นราคาหุ้น อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่ว่าบางคนอาจจะอ่านมากกว่าคนอื่น ทำให้รู้มากกว่า และถึงแม้คุณจะรู้ข้อมูลเช่นเดียวกับนักลงทุนคนอื่น แต่คุณอาจมีการตีความที่แตกต่างจากผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วหากคุณยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คุณอาจจะไม่ทำในสิ่งที่นักลงทุนคนอื่นทำ เป็นต้น

ประเด็นคือมีความเป็นไปได้ที่คุณมีข้อได้เปรียบคนอื่น และคุณจะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบนั้นได้อย่างไร? คำตอบคือ โดยการบริหารพอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นซึ่งคุณมั่นใจ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ กล่าวว่า “การสมมติว่า การลงทุนเล็กน้อยในบริษัทหลายๆบริษัทที่เราไม่มีข้อมูลมากพอในการตัดสินใจ ก็เปรียบเหมือนกับการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในบริษัทที่เรารู้จักดีพอนั้น เป็นความเข้าใจที่นำมาซึ่งความหายนะในการลงทุน” (ที่มา – รวมบทความ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ตัดตอนจากจดหมายถึง เอฟ.ซี.สก๊อตต์ 6 กุมภาพันธ์ 2485) ซึ่งอเบอร์ดีนเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้

ประการที่ 3 ปัจจัยทางเศรษฐกิจควรจะชี้นำกลยุทธ์การลงทุน
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้ความเห็นว่า แม้คุณจะทราบว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทราบว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อตลาดหุ้น (http://money.cnn.com/2008/04/11/news/newsmakers/varchaver_buffett.fortune/) เราสามารถแปลความหมายของประโยคดังกล่าวได้สองทางคือ ในทางแรก ตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการลดทอยมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น และการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตของเศรษฐกิจของคุณ แม้ต่อมาจะปรากฏว่าถูกต้อง แต่ราคาหุ้นก็อาจถูกลดทอนโดยตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในอีกทางหนึ่ง กำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเสมอไป ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาของเจมส์ มองติเยร์ นักยุทธศาสตร์แห่งโซซิเอเต เจนเนอราเล (ไมนด์ แมทเธอร์ 10 เมษายน 2551)

ความเห็นของประเด็นหลังนี้ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และบริษัท ต้องการนำเงินจำนวนมากมาลงทุน โดยบางครั้งไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ประกอบกับความด้อยคุณภาพของบรรษัทภิบาลของประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลที่ไม่น่าพอใจต่อผู้ถือหุ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือตลาดหุ้นของประเทศจีน ซึ่งในช่วงครึ่งทศวรรษแรกไม่ได้มีการขยายตัวสูงตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

การแก้ปัญหานี้คือการนำรูปแบบการลงทุนโดยพิจารณาจากรายละเอียดพื้นฐานของบริษัทเป็นสำคัญก่อนปัจจัยทางเศรษฐกิจ (bottom-up investment) ซึ่งการลงทุนรูปแบบนี้จะทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งในภาพรวมและแต่ละรายบริษัท ซึ่งเป็นประโยชน์ที่หาไม่ได้จากรูปแบบการลงทุนที่พิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนรายละเอียดของบริษัท (top-down)

ประการที่ 4 การลงทุนโดยอิงกระแส (Thematic Investment) คือการลงทุนในอนาคต
เมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องบินไอพ่น เราไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ เพื่อที่จะรู้ล่วงหน้าว่าอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์จะมีการเติบโตอย่างมาก แต่การลงทุนในหุ้นของธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อาจจะกลายเป็นประสบการณ์การลงทุนที่ย่ำแย่ของนักลงทุน บัฟเฟตต์ให้ความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจสายการบินในหนังสือประจำปีถึงผู้ถือหุ้นของเบิร์คไชร์ แฮธะเวย์ ปี 2550 ว่า “ข้อได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวของธุรกิจสายการบินได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องหลอกลวงนับตั้งแต่ยุคของพี่น้องตระกูลไรท์ หากมีนายทุนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลอยู่ร่วมในเหตุการณ์แสดงการบินครั้งแรกของสองพี่น้องที่เมืองคิตตี้ ฮอค เขาคงจะได้กระทำสิ่งที่นักลงทุนรุ่นหลังจะรู้สึกยกย่องคือการยิง ออร์วิลล์ ไรท์ ให้ร่วงลงมา” (หนังสือประจำปีถึงผู้ถือหุ้นของ เบอร์คไชร์ แฮธะเวย์ หน้า 8 ปี 2550)

เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าการที่ บัฟเฟตต์เสนอความคิดแบบผู้ก่อการร้ายของเขาแล้วจะช่วยการลงทุนได้หรือไม่ แต่เรารู้ว่าการลงทุนแบบอิงกระแส เช่น ธุรกิจสายการบินนั้น บ่อยครั้งที่มักจะไม่มีกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรูปแบบการลงทุนเป็นการพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนรายละเอียดของบริษัท (top-down) ธุรกิจตามกระแสมักเป็นกลุ่มอุตสาหรรมเกิดใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากได้ และมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก การลงทุนแบบอิงกระแสในกลุ่มธุรกิจ หรืออิงกระแสของประเทศ จึงควรดำเนินการเฉพาะเมื่อผู้จัดการกองทุนได้ทำการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนแล้วเท่านั้น

รูปแบบเฉพาะนั้นอาจจะเป็นที่น่าสนใจของสื่อต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนำมาซึ่งความสนใจในการลงทุนเพื่อเก็งกำไร และทำให้ราคาหุ้นถูกปั่นขึ้นไปในระดับที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นนักลงทุนต้องเยือกเย็นและมีเหตุผล เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเข้าไปอยู่ในกลุ่มของนักเก็งกำไรที่บ้าคลั่ง และต้องถูกบดขยี้จากผลขาดทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะตามมาในที่สุด และนี่ถือเป็นคำเตือนสำหรับนักลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) และในกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก (climate change fund)

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น