xs
xsm
sm
md
lg

“เลิศรัตน์” ย้ำไม่คิดรื้อ รธน.ทั้งฉบับ เชื่อ กก.ชุดใหญ่ต้องทำประชามติก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
“ประธานอนุฯ ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ยืนยันไม่คิดรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แจงแนวคิดต่างๆ เพียงชั้นต้น เชื่อหากเสนอเข้าที่ประชุมใหญต้องเสนอประเด็นทำประชามติรับฟังความเห็นประชาชนก่อน ด้าน อดีต ส.ว.-ส.ส.ร.โวยหากแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากเลือกตั้งควรเหลือสภาเดียวดีกว่า

วันนี้ (21 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น.ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมในได้พิจารณาทบทวนประเด็นที่ได้พิจารณาผ่านไปแล้วโดยก่อนเข้าสู่การพิจารณา พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการไม่เคยมีความคิดที่จะรื้อรัฐธรรมนูญ หรือมีผลประโยชน์ใดๆ ประเด็นที่เกิดขึ้นในที่ประชุมเป็นเพียงข้อเสนอในชั้นต้น ที่สุดแล้วไม่ว่าจะมีข้อเสนอในประเด็นใด คณะกรรมการชุดใหญ่คงจะเสนอให้นำประเด็นเหล่านั้นไปทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

จากนั้นประธานได้ขอความเห็นกรรมการว่าควรหยิบยกมาตรา 278 วรรคสอง การอุทธรณ์คำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาพิจารณาลงลึกอีกหรือไม่ (คำสั่งและคำพิพากษาของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เปิดเผยและเป็นที่สุด เว้นแต่กรณีวรรคสาม คือ หากมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อาจยื่นอุทรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาได้ภายในสามสิบวัน)

อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการฯบางส่วนเห็นว่าควรมีการพิจารณา บางส่วนเห็นว่าไม่ควรนำมาพิจารณาในเวลานี้ เนื่องจากจะเกิดผลกระทบต่อคดีความค้างอยู่ระหว่างการพิจารณา อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นศาลพิเศษแตกต่างจากศาลยุติธรรม อีกทั้งมาหน้าที่พิจารณาคดีความของนักการเมืองที่กระทำความผิดซึ่งในคดีอาญาของนักการเมืองถือเป็นโทษที่รุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป โดยนายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม อนุกรรมการสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรานี้เป็นข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย โดยมองว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระบบศาลเดียว จึงควรทบทวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อนักการเมือง และพรรคการเมือง

ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ได้สรุปตัดบทว่า ให้ถือว่าประเด็นมาตรา 278 อนุกรรมการยังไม่ได้มีข้อสรุป แต่ให้บันทึกไว้ว่าเป็นข้อเสนอที่ยังไม่มีการพิจารณาและให้บันทึกเป็นข้อสังเกตในรายงานที่เสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอในการเพิ่มบทบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โดยหลังจากที่ประชุมได้แสดงความเห็นค่อนข้างหลากหลาย ที่ประชุมเห็นว่าในประเด็นนี้คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมืองได้มีการพิจารณาลงลึกอยู่แล้วจึงควรรอฟังผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯก่อน โดยให้นำไปพิจารณาภายหลังในการประชุมกรรมการชุดใหญ่

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา 265 และ 266 ที่ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ใช้ตำแหน่งและไปก้าวก่ายแทรกแซงหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในการประชุมที่ผ่านมามีกรรมการเสนอให้เขียนข้อยกเว้นให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยและประธานฯ ได้สรุปว่าส่วนจะมีการแก้ไขอย่างไรให้เป็นข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา 266 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาค้างว่าควรตัดวงเล็บหนึ่งออกไปหรือไม่ โดยนายสุรชัย เสนอว่า หากแก้ไขมาตรา 266 เกรงว่าสังคมจะมองว่า ส.ส.จะเอาทำอำนาจบริหารและอำนาจทางการเมือง หากจะแก้ไขมาตรานี้ควรเพิ่มบทบัญญัติต่อท้ายในวรรคหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงหน่วยงานของรัฐ

นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ อนุกรรมการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นว่ามาตรา 266 ควรมีการขจัดปัญหาและอุปสรรคในการทำงานจึงควรตัดวงเล็บหนึ่งออกไป ด้านนายอรรคพล สรสุชาติ อนุกรรมการสัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเสริมว่า ที่มีความเห็นอยากแก้มาตรา 266 เพราะทั้ง ส.ส.และส.ว.ไม่มีใครกล้าไปทำงานให้ประชาชน ตนไม่อยากให้เข้าใจว่า ส.ส.จะเอาอำนาจทั้งหมด ส่วนการแก้ไขจะเขียนอย่งไรก็ได้ ขอให้ ส.ส.ทำงานได้ก็พอแล้ว ในที่สุด พล.อ.เลิศรัตน์ สรุปว่าให้ยึดตามที่พิจารณาไว้ก่อนหน้านี้โดยให้ ส.ส.สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อนุกรรมการสัดส่วนวุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อพูดถึง ส.ว.ต้องพูดถึงภาพรวมทั้งระบบ ทั้งอำนาจหน้าที่ของ ส.ว และที่มา โดยควรเริ่มพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ก่อนจากนั้นจึงพิจารณาว่า ส.ว.ควรมีที่มาอย่างไร ทั้งนี้การจะให้ที่มาของ ส.ว.ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น สามารถแก้ไขโครงสร้างกระบวนการสรรหาให้เชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้นได้ ตนอยากเสนอว่าหากจะทบทวนเรื่องวุฒิสภา ควรพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่อำนาจหน้าที่ จำนวน แล้วจึงพิจารณาถึงที่มาของ ส.ว.

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ข้อเสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นข้อเสนอของพรรคการเมือง หากจะพิจารณาทบทวนอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ทั้งหมด อาจจะต้องรื้อทั้งระบบซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างมาก ข้อเสนอของพรรคการเมืองจึงไม่ได้ลงรายละเอียดมากเพียงแต่เสนอให้มีการเลือกตั้ง 200 คนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกแบบข้อกำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.เลือกตั้งปี 2550 มีความยึดโยงกับพรรคการเมืองและนักการเมืองน้อยลงมาก

ด้าน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อนุกรรมการ กล่าวว่า วิธีคิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ได้ออกแบบให้ ส.ว.เป็นผู้แทนของประชาชน แต่ได้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเข้ามากลั่นกรองกฎหมายและทำหน้าที่บางประการ ดังนั้น การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่จึงเห็นว่าในจังหวัดหนึ่งๆ น่าจะสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิได้จังหวัดละ 1 คน ที่มาของ ส.ว.เลือกตั้งไม่ได้เหมือนกับ ส.ส. แต่เมื่อมีการเลือกในพื้นที่อาจมีความได้เปรียบเสียเปรียบ จึงกำหนดที่มาแบ่งตามสาขาอาชีพโดยรัฐธรรมนูญออกแบบให้เลือกผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองด้วยการสรรหา จึงเป็นที่มาของการให้ตัวแทนของศาลเข้ามาทำหน้าที่เลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 74 คน จากการสรรหาด้วยแนวคิดนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว. ตนมองว่าหากจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ส.ว.คงไม่แตกต่างจาก ส.ส. หากจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส.ก็ควรมีสภาเดียว ตนขอเสนอว่าหากจะให้ ส.ว.กลับมาเลือกตั้งทั้หมดก็ไม่ควรมีวุฒิสภา

“คำว่าสภาทาสนั้นมีจริง ที่ผ่านมาแทนที่ผมจะได้ทำงาน ผมต้องทำหน้าที่หยุดยั้งความชั่วร้ายไม่ให้เกิดขึ้น ถ้าจะกลับไปมี ส.ว.เลือกตั้งหมดและแบ่งสัดส่วนเหมือน ส.ส. ผมเสนอว่ามีสภาเดียวดีกว่า อย่าต้องเสียงบประมาณเลือกตั้งอีกพันสองพันล้านบาทเลย ความจริงความบกพร่องที่เกิดขึ้นของระบบเลือกตั้ง ส.ว.มาจาก ส.ส.ร.40 ที่ไปโหวดกันก่อนว่าจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ พอโหวตว่าต้องมาจากการเลือกตั้งแล้วเขาค่อยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้” นายเจิมศักดิ์ กล่าว

จากนั้นได้พิจารณามาตรา 190 โดยนายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช เลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้รายงานข้อสรุปของอนุกรรมการว่า ที่ประชุมครั้งที่ผ่านมาได้สรุปความเห็นมาตรา 190 ไว้ 4 ประการ คือ ให้ปรับปรุงประเภทหนังสือสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น, ให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบการออกหนังสือสัญญาให้สอดคล้องกับนานาประเทศเพื่อให้ฝ่ายบริหารดำเนินการได้, ให้มีการเร่งรัดการออกกฎหมายเกี่ยวกับการออกหนังสือสัญญาโดยเร็ว และควรกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่ควรรับฟังความเห็นของประชาชนให้ชัดเจนเนื่องจากหนังสือสัญญาบางประเภทเป็นความลับ โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันให้ส่งความเห็นเป็นข้อสังเกตุเสนอต่อกรรมการชุดใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น