xs
xsm
sm
md
lg

“รวมใจไทยฯ” หนุนเต็มสูบ แก้ รธน.เอื้อโกง-นิรโทษกรรมซากเน่า 111+109

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรรณรัตน์  ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค รช. และคณะ แถลงจุดยืนของพรรคในการเสนอประเด็นแก้ไขรธน.พร้อมหนุนนิรโทษกรรมซากเน่า 111+109 ที่โรมแรมปัญจดารา อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ (8 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – “รวมใจไทยฯ” แถลงจุดยืนพรรคชัดเจน เสนอแก้ รธน.50 มาตรา 93, 190, 211-221, 237 และ 265-266 เปิดช่องนักการเมืองสวาปามง่ายขึ้น พร้อมหนุนนิรโทษกรรมนักการเมืองซากเน่า 111+109 อ้างควรลงโทษเฉพาะตัวกับผู้กระทำผิดเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องคืนความเป็นธรรม ด้าน “ส.ส.สมชัย” ขู่ หากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 40 คน ทำงานไม่สำเร็จ ต้องรับผิดชอบต่อ ปชช.และสังคมด้วย

วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โรมแรมปัญจดารา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมของผู้บริหาร และ ส.ส.พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) เพื่อกำหนดท่าทีและข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม โดยผู้บริหาร ส.ส.และ สมาชิกร่วมประชุม เช่น นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ, นายประเสริฐ บุญชัยสุข, นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ส.ส.พรรค รช., นายประทีป กรีฑาเวช, นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม, นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์, ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ รองเลขาธิการพรรค และ นายขรรค์ชัย สุภิมารส สมาชิกพรรคและโฆษกสำนักงานพรรค สาขานครราชสีมา โดยใช้เวลาประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง โดยที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสินยุบพรรค

จากนั้น นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และคณะ ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โดย นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเมืองขณะนี้มีความจำเป็นจนต้องนำไปสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยรัฐสภา ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร, ตัวแทนวุฒิสภา และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมเป็นกรรมการทั้งหมด 40 คน นั้น ในส่วนพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา วันนี้ (8 พ.ค.) ได้ประชุมปรึกษาหารือทั้งกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค รวมถึง ส.ส.ของพรรค ได้ข้อสรุปตรงกันว่า พรรครวมใจไทยฯ เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธธรรมนูญ (รธน.) ปี 2550 ในบางมาตราที่เห็นว่ายังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร

ประกอบด้วย มาตรา 190 เห็นว่า ควรมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าเรื่องใดที่รัฐบาลฝ่ายบริหารต้องไปทำสัญญาระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆ เรื่องใดต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ และเรื่องใดที่ไม่จำเป็น เพราะขณะนี้ในทางปฏิบัติแล้วเกิดปัญหา บางเรื่องไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ฝ่ายบริหารเกรงมีปัญหาและขัดต่อ รธน. จึงจำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณา ทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหาร คือ 1.เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจของรัฐบาลต่อการเจรจาทำสัญญาระหว่างประเทศ อาจเกิดผลเสียต่อประเทศชาติบ้านเมือง 2.เป็นการเพิ่มภาระให้แก่รัฐสภา ที่ต้องพิจารณาในหลายเรื่องทั้งเรื่องที่จำเป็นและไม่จำเป็น ฉะนั้น ควรมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า เรื่องใดควรได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เรื่องใดที่ไม่จำเป็น

มาตรา 93 เกี่ยวกับเรื่องจำนวน ส.ส.พรรค เห็นว่าน่าจะใช้หลักเกณฑ์ตาม รธน.ปี 2540 คือให้ มี ส.ส.แบบเขต 400 คน และแบบสัดส่วน 100 คน รวม 500 คน และพื้นที่เขตของ ส.ส.สัดส่วนน่าจะเป็นพื้นที่ทั้งประเทศ ส่วนในการคิดจำนวน ส.ส.แบบสัดส่วน รธน.2540 ต้องมีคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5% ถึงจะมีสิทธิ์นับ พรรคจึงเห็นว่ามากเกินไปน่าจะตั้งเกณฑ์ที่ 1% คือ มีคะแนนเสียงเลือกตั้ง 1% ทั่วทั้งประเทศก็น่าจะพิจารณา สำหรับเขตเลือกตั้ง ทั้งเขตเดียวเบอร์เดียวหรือเขตละ 3 คน นั้น เรื่องนี้พรรคไม่ขัดข้อง

สำหรับมาตรา 211-121 ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พรรค เห็นว่า น่าจะใช้ รธน.2540 ตามเดิม ส่วน มาตรา 265-266 เกี่ยวการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.นั้น เนื่องจาก ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วนของประเทศน่าจะให้ ส.ส.มีบทบาทหน้าที่ในการรับรู้รับฟังปัญหาผลกระทบของประชาชนและสามารถสะท้อนปัญหานั้นให้แก่รัฐบาล หรือฝ่ายบริหารนำไปแก้ไขปัญหาได้ และสามารถเสนอแนะแนวทางทางแก้ไขปัญหาได้ด้วย แต่มาตรา 265 รธน.ฉบับปัจจุบันห้ามไม่ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ พรรคเห็นว่าการห้ามเช่นนี้ในฝ่ายบริหารเห็นด้วยในหลักการ ยกเว้นตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี และตำแหน่งที่ปรึกษา รัฐธรรมนูญ ตามที่ รธน.ฉบับก่อนๆ อนุญาตให้ทำได้นั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้มีโอกาสทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร และเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะ รัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจาก ส.ส.ถือว่าเป็นการเรียนรู้งาน ศึกษางาน และ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสภานิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร

และ มาตรา 237 นั้น พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เห็นว่า ควรจะให้คงไว้ แต่การลงโทษควรลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำความผิด ผู้ที่มิได้กระทำความผิดไม่ควรจะได้รับโทษ แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าพรรคดำเนินการในทางที่ผิดกฎหมาย รธน.ก็สามารถยุบพรรคได้ แต่ถ้าพรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องของบุคคลหรือเรื่องของกรรมการบริหารพรรคบางคน และควรลงโทษเฉพาะผู้นั้นเป็นการเฉพาะไป

“ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดข้างต้นนี้ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา จะเสนอต่อคณะกรรมสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองต่อไป โดยพรรค มี นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ เป็นผู้แทนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว

สำหรับการนิรโทษกรรมนักการเมือง อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคทั้งกรณี 111 คน และ 109 คน นั้น นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า เห็นว่าผู้ใดกระทำผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ควรจะได้รับโทษ แต่ถ้าผู้ใดไม่ใช่เป็นผู้กระทำความผิดก็ไม่ควรจะรับโทษ และการลงโทษก็ไม่ควรย้อนหลัง และผู้ที่ได้รับโทษโดยไม่เป็นธรรมนั้นควรจะคืนความเป็นธรรมให้แก่เขา โดยยึดหลักนิติธรรม

อย่างไรก็ตาม พรรครวมใจไทยฯ เห็นว่า ก่อนที่ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนหรือจัดทำประชามติจากประชาชนทั่วประเทศก่อน เพื่อจะได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการแสดงความคิดเห็น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีการแก้หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ แค่ 40 คนเท่านั้น” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว

ทางด้าน นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ ทั้ง 40 คน เป็นผู้ที่มีความสำคัญมาก ในส่วนของพรรครวมใจไทยฯ ได้ส่งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการฯร่วมด้วย 1 คน โดยส่วนตัวมองว่า หากคนทั้ง 40 คน ทำงานไม่ประสบความสำเร็จ คือ ได้ผลสรุปประเด็นต่างๆ ที่นำเสนอออกมาแล้วสะเปะสะปะไม่สามารถที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้ ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ คณะกรรมการ 40 คนนี้ ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมด้วย

“ไม่เช่นนั้นแล้ว คณะกรรมการแต่ละฝ่าย แต่ละพรรค แต่ละคน ก็มุ่งแต่ยึดมั่นถือมั่นในจุดยืนและความคิดของตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าการปฏิรูปการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่าเท่านั้น” นายสมชัย กล่าว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตราที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาเสนอแก้นั้น ล้วนแต่เป็นมาตราที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เขียนขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 190 มาตรา 265-266 หากมีการแก้ไขมาตราเหล่านี้ บรรดา ส.ส.นักการเมืองก็จะสามารถแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวได้ง่ายเหมือนเดิม


นพ.วรรณรัตน์  ชาญนุกูล
นายสมชัย  ฉัตรพัฒนศิริ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ์

กำลังโหลดความคิดเห็น