“อภิสิทธิ์” ปฏิเสธถูกพรรคร่วมกดดันให้แก้รัฐธรรมนูญ ย้ำทุกพรรคมีจุดยืนของตัวเอง ทั้งไม่เคยรับปากใครก่อนตั้งรัฐบาลว่าจะแก้มาตราใด โยนไปหารือในวงกรรมการของสภา ชี้หวังแก้เพื่อปรับระบบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น เชื่อ ชาวบ้านอยากให้แก้อยู่แล้ว แต่ต้องดูประเด็นแก้ไข
วันนี้ (6 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ถึงกรณีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลกดดันพรรคประชาธิปัตย์ให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ในประเด็นการยุบพรรค และให้มีการนิรโทษกรรม ว่า ไม่มีกระแสกดดัน ทุกพรรคมีจุดยืนหรือมีความคิดของตัวเองอยู่แล้ว และแต่ละพรรคทราบดีว่าขณะนี้ต้องไปที่คณะกรรมการที่รัฐสภาตั้งขึ้น ซึ่งต้องไปพิจารณากันตรงนั้น ส่วนที่มีการอ้างถึงพรรคชาติไทยพัฒนา นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนานั้น นายชุมพล ได้พูดกับตนแล้วว่าพรรคชาติไทยพัฒนามีจุดยืนในเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นการทำงานในฐานะพรรคการเมืองไป นอกจากนี้ ตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไม่เคยไปรับปากในช่วงจัดตั้งรัฐบาลว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใด แต่ที่จริงพูดกันชัดในภาพรวม ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองจะทำเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากขึ้น
“พรรคที่ร่วมรัฐบาลก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันในมาตราเดียวกันด้วยซ้ำ มีประเด็นเดียวที่ผมเคยพูดไว้ตั้งแต่วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้งว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็ยึดถือคำพูดนั้น ซึ่งตรงกับวันนี้ คือ ต้องการแก้ให้ระบบมันสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงการเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือประชามติก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอไปยังคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาว่าควรเปิดกระบวนการในการทำงานให้กว้างและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเราไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ในการทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ เราไม่ขัดข้องอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นกับคณะกรรมการที่เป็นผู้ดำเนินเรื่องทั้งหมดในขณะนี้ โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 7 พ.ค.นี้ คงจะมีการวางกรอบการทำงานต่อไป ถ้าจะทำประชาพิจารณ์หรือประชามติถามประชาชนว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ทำได้ แต่เท่าที่ตนคิดว่าคนไม่ได้ขัดข้องว่าจะแก้หรือไม่แก้ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าจะแก้เรื่องใด เพราะตอนประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ คนจำนวนมากบอกให้รับแต่ต้องแก้ไขได้ เพียงแต่มีบางประเด็นมีความละเอียดอ่อน จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าแก้ไขเพื่อประโยชน์อะไรหรือไม่ ซึ่งอาจจต้องไปสำรวจว่ามีเหตุผลเพียงพอในการแก้ไขหรือไม่ และประชาชนยอมรับได้หรือไม่
“การทำประชามติหรือประชาพิจารณ์นั้นผมคิดว่าถ้าถามว่าควรแก้หรือไม่แก้ มันไม่ชัด ถ้าจะถามก็ควรถามหนเดียวไปเลยว่าจะแก้อะไรบ้าง เพราะงบ 2,000 ล้านบาท ควรถูกใช้หนเดียว ถ้าไปทำ 2 ครั้งก็ 4,000 ล้านบาท อย่าไปทำ 2 หนเลย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ต่อข้อถามถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่ระบุว่า นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ทำร้ายประเทศมากที่สุด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นักการเมืองเป็นจำเลยสังคมมาตลอด แต่เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทบทวนและแก้ไขปรับปรุง ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้านักการเมืองไม่ไปมีส่วนในความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาคงไม่ลุกลามบานปลาย แต่ไม่ควรเหมารวมว่านักการเมืองทุกคนเป็นปัญหา ขณะเดียวกันนักการเมืองไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีบทบาทแก้ไข เพราะการเมืองก็เป็นชนวนของความขัดแย้งมา
“บางเรื่องที่พูดแล้วดูเหมือนว่าเป็นการช่วยนักการเมือง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แต่เราต้องหาความพอดี เช่น มาตรา 265, 266, 267 ซึ่งตนเห็นด้วยว่าไม่ควรให้นักการเมืองที่เป็น ส.ส.ไปแทรกแซงงานความรับผิดชอบของราชการ แต่ถ้าเขียนจนทำให้นักการเมืองไม่สามารถนำความเดือดร้อนของประชาชนมาผลักดันให้แก้ไขได้ ก็ไม่สมกับสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่การจะแก้ดูว่าแก้อย่างไร ถ้าแก้จนกระทั่งไปแทรกแซงโยกย้าย แต่งตั้ง หรือกอบโกยงบประมาณเข้าตัวเอง ผมไม่เห็นด้วย ส่วนมาตรา 190 ผมคิดว่าควรแก้ไขเพื่อทำความชัดเจน หรือเปิดโอกาสให้มีกระบวนการในการทำความชัดเจนโดยไม่ต้องสร้างปัญหาร้องมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าจะแก้ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีความชัดเจน ปฏิบัติได้ง่าย มีประสิทธิภาพควบคู่ความโปร่งใส ส่วนมาตรา 237 เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาว เพราะมีประเด็นการยุบพรรคไปจนเรื่องการเพิกถอนสิทธิ์และขอบเขตการรับผิดชอบของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งก็ต้องหาความพอดี ไม่ได้หมายความว่าจะแก้เพื่อให้ซื้อเสียงง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรมจะเอาไว้พิจารณาทีหลังหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ไม่เห็นว่ามีประเด็นนี้ที่จะแก้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการมองไปที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบบ ส่วนแก้ไขแล้วมีผลตีความทางกฎหมายเป็นคุณ หรือโทษล่วงหน้า หรือย้อนหลังอย่างไรนั้น ก็ต้องมาพิจารณา เผื่อจะต้องมาเขียนบทเฉพาะกาลที่มีความชัดเจน แต่จะไม่มีการออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการเฉพาะ เมื่อถามว่า นายกฯพูดให้เกิดความสบายใจได้หรือไม่ว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์นักการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องมาพิสูจน์ที่ผลของงานขั้นสุดท้าย ถ้าจะไปพูดวันนี้จะมีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อกันอีก แต่สุดท้ายถ้าแก้เพื่อตัวเองอย่างไร ก็ไม่ผ่าน และไปไม่รอดด้วยกันทั้งหมด ไม่เฉพาะรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกหน้ามาตีกันพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ หัวเราะก่อนกล่าวว่า “เราจะไปเก่งอะไรขนาดนั้น” เมื่อถามต่อว่าจะต้องนัดทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำงานไปก่อน ถ้าทำงานแล้วไม่มีปัญหา ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีปัญหา ก็มาคุยกัน
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะนายกฯเคยบอกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลานี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจมีความคืบหน้าไปมาก เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกได้ถูกประกาศใช้แล้วและเงินก็ลงไปเข้าระบบหมดแล้ว ยกเงินส่วนที่จ่ายเป็นรายเดือนแต่ส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ส่วนมาตรการกระตุ้นระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงที่มาของแหล่งเงินต่างๆ ก็มีความชัดเจนหมดแล้ว เพราะฉะนั้น กลไกต่างๆ ก็เดินหน้าไป อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองได้กลับมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาของประชาชนรวมถึงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง ซึ่งถ้าการเมืองวุ่นวายรุนแรง จะเห็นชัดว่าแก้ไม่ได้ปัญหาอะไร ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นกระบวนการนำไปสู่การคลายเงื่อนไขที่เป็นคำตอบในตัว ทั้งนี้ ถ้าคิดจะแก้แล้วบ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น มันไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องแก้เพื่อให้บ้านเมืองสงบแบบยั่งยืน ไม่ใช่สงบแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วเพิ่มปัญหาใหม่ในวันหลัง