xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เสนอขยายเวลาทำงานชี้45วันรับฟังไม่รอบด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯวางกรอบการทำงาน 45 วัน ส่วนตัวเห็นว่า กรอบเวลาน้อยเกินไป เพราะการรับฟังความเห็นของประชาชนต้องทำหลายด้าน ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้นถ้าคณะกรรมการฯไม่สามารถทำได้ทันก็ต้องขยายเวลาออกไป เพราะถ้าเร็วแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ตามที่ประชาชนต้องการ การยืดเวลาการทำงานออกไป 3-4 เดือนเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้ได้ก็ถือว่าคุ้ม
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กรรมการสมานฉันท์ฯ ในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าข้อสรุปของคณะกรรมการจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การกำหนดกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมการไว้ 45 วัน คงไม่ง่ายที่จะเสนอแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง และนำสังคมกลับคืนสู่ความสมานฉันท์ ดังนั้น ประธานรัฐสภาจะต้องวางกรอบอย่างเป็นรูปธรรม ในแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองต่อไป
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะโฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว่าแนวคิดของ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันทฯที่ระบุว่า ยังไม่ควรมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ทำให้ตนเป็นห่วงแนวคิดของนายเสนาะ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของนักการเมือง ส.ส. หรือ ส.ว. หากไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน อาจเกิดปัญหาได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้มีการทำประชามติ และมีประชาชน 14 ล้านเสียง ที่ให้การยอมรับ
ผมไม่อยากให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ทำการขีดเส้นกรอบการดำเนินการ ว่า จะต้องให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน เพราะจะเป็นการปิดประตูตีแมว ปิดกั้นข้อเสนอ และสร้างความกดดันของแต่ละฝ่ายที่จะเข้ามา
ส่วนกรณีที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวภายในที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯว่า การปฏิวัติ คือต้นเหตุของปัญหาวิฤตทางการเมือง ตนมองว่าเป็นการพูดตัดตอนทางการเมืองของนายสมศักดิ์ เนื่องจากก่อนที่จะมีการปฏิวัติ ได้เกิดวิกฤต ทางการเมือง อันเกิดมาจากความเข้มแข็งเกินไป มีการรวบรวมพรรคการเมือง และปฏิเสธการตรวจสอบ แทรกแซงองค์กรอิสระ มีการทุจริตเชิงนโยบาย จนทำให้เกิดการ ปฏิวัติ ซึ่งระบุว่า การปฏิวัติ คือต้นเหตุของปัญหานั้นเป็นการชี้แจงข้อมูล ที่ไม่รอบด้านต่อประชาชน
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการที่นายเสนาะ เสนอแนวคิดให้นิรโทษกรรมคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น สิ่งสำคัญต้องฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนก่อน เพราะหากเริ่มต้นจากแนวคิดของนักการเมืองก่อนก็จะเกิดปัญหาขัดแย้ง จะทำให้เกิดกลุ่มมวลชนลุกขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีจุดยืนและตั้งใจตั้งแต่ต้นจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา อย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีธงใดๆ อยู่ในใจ ยกเว้น คดีอาญา อย่านำมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไข เพราะจะเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับฟังความเห็นจึงไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการโดยรวม
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการหยิบยกคดีอาญาของพ.ต.ท.ทักษิณ มาพิจารณานิรโทษกรรมพรรคเห็นด้วยหรือไม่ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า พรรคมีความชัดเจนว่าคดีอาญาไม่ควรอยู่บนโต๊ะของการปฎิรูปการเมือง ควรจะยกเว้นความผิดที่กระทำต่อแผ่นดิน หรือที่ทำต่อทรัพย์สินและชีวิตของคนอื่น ดังนั้นคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในอดีต หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบรุนแรง รวมถึงคดีอาญาของพ.ต.ท.ทักษิณ พรรคมีจุดยืนว่าไม่ควรเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นจุดเริ่มต้นของคณะกรรมการฯชุดนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 12 พ.ค.พรรคประชาธิปัตย์จะเรียกประชุมส.ส.ที่รัฐสภา เพื่อกำหนดท่าทีของพรรคให้กับตัวแทนกรรมปฎิรูปการเมือง
ด้าน นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปทางการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ว่า มีต้นเหตุจากฝ่ายบริหารขาดเสถียรภาพทางการเมือง กลไกในสภาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเกิดกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวนอกสภา ดังนั้นกระบวนการแก้ปัญหาควรเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ การปฏิรูปการเมืองและความสมานฉันท์
นายคณิน ยืนยันว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการประนีประนอมทางการเมือง และเชื่อว่าการนิรโทษกรรมทางการเมืองน่าจะเป็นทางออกเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าในการประชุม พรรคภูมิใจไทย วันจันทร์ที่ 11 พ.ค.ว่า เชื่อว่าที่ประชุมจะหารือถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวนั้นตนเห็นด้วยกับสมาชิกพรรค ที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีให้มีการจัดเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว และให้ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ของประชาชน 2,414 คน หัวข้อประชาชนคิดอย่างไรกับการสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าวิธีที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้คือ การลดทิฐิ หันหน้าเข้าหากัน เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ความร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันทำงานเพื่อประเทศชาติ การวางตัวเป็นกลางโดยพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อย่างมีสติ ส่วนผู้ที่จะทำให้ความสมานฉันท์ทางการเมืองเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม คือ นักการเมือง รัฐบาล และประชาชนทุกคน
ทั้งนี้ สิ่งที่คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อสร้างความสมานฉันท์ควรทำ คือมีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด รับฟังความคิดเห็น ความต้องการของประชาชนและนำมาพิจารณากลั่นกรองอย่างละเอียด ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น