อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
นักการเมืองหลายพรรค อย่างน้อยก็ “เพื่อไทย” คงสมใจกันไปแล้ว หลัง คกก.อนุกรรมการแก้ไข รธน.ที่ คกก.สมานฉันท์ฯ ตั้งขึ้น มีมติให้แก้ รธน.มาตรา 237 โดยตัดวรรค 2 ทิ้ง นั่นหมายความว่า ต่อไปก็ไม่ต้องมีโทษยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคอีกต่อไป หาก ส.ส.หรือ กรรมการบริหารพรรคคนใดทำผิด ก็ตัดสิทธิเฉพาะบุคคลนั้น ...แบบนี้ นักการเมืองได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ส่วนประเทศและประชาชนจะบรรลัยก็ช่างมัน อย่างนั้นหรือ? แถมมีข่าวฉาวว่า กรรมการสมานฉันท์ฯ เดินเกมล็อบบี้ ส.ว.ให้หนุนแก้ ม.237 และการนิรโทษกรรมคดีการเมืองอีกต่างหาก ...งานนี้ นอกจากสะท้อนธาตุแท้นักการเมืองแล้ว ยังต้องลุ้นด้วยว่า การยกเลิกเรื่องยุบพรรคจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่?
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
หลังรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ พยายามเปิดช่องให้มีการปฏิรูปการเมืองด้วยการให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมือง ซึ่งหมายถึงอาจมีการแก้ไข รธน.ด้วย โดยมี ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมืองเป็นประธาน แต่ในที่สุดก็พับไปแล้ว หลังพรรคเพื่อไทยพยายามดิสเครดิตด้วยการอ้างว่า ดร.สุจิต ไม่เป็นกลาง สถาบันพระปกเกล้าไม่เป็นกลาง
กระทั่งรัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีใช้เวทีรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการปฏิรูปการเมืองแทน โดยใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมือง(ส.ส.จากทุกพรรคการเมือง 23 คน-ส.ว.7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกโดยพรรคการเมืองอีก 10 คน) มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ
การให้นักการเมือง ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับการปฏิรูปการเมืองหรือการแก้ รธน.มาเป็นผู้ศึกษาหรือกำหนดประเด็นในการแก้ รธน.ทำให้หลายฝ่ายในสังคมปรามาสตั้งแต่แรกว่า การปฏิรูปการเมืองและการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือประโยชน์ของนักการเมืองกันแน่ เพราะนักการเมืองจ้องจะแก้ รธน.เพื่อให้มีการนิรโทษกรรมทั้งคดีการเมือง ด้วยการคืนสิทธิทางการเมือง 220 อดีต กก.บห.พรรคที่ถูกยุบ และคดีอาญาเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลุดพ้นโทษจำคุก 2 ปี และข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีร่ำรวยผิดปกติที่ พ.ต.ท.ทักษิณส่อถูกยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน!
สัญญาณแห่งการแก้ รธน.เพื่อช่วยเหลือนักการเมือง เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน.ออกมาแสดงความเห็นส่วนตัวหลังได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวว่า ควรมีการแก้ รธน.มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง โดยชี้ว่า การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้กระทำผิด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ส่วนการยุบพรรคก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองถือเป็นแม่บทสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากถูกสลายได้โดยง่าย โอกาสที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยคงเป็นไปได้ยาก
ต่อมา ทุกอย่างก็เหมือนเดินไปตามที่นายดิเรกส่งสัญญาณไว้ เพราะหลังคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด คือ 1.อนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ฯ 2.อนุกรรมการปฏิรูปการเมือง และ 3.อนุกรรมการแก้ไข รธน. ปรากฏว่า แค่ด่านแรก ก็ปิดช่องไม่ให้คนนอกเข้านั่งเป็นอนุกรรมการของทั้ง 3 ชุดแล้ว โดยกรรมการสมานฉันท์ฯ จากพรรคเพื่อไทย นายคณิน บุญสุวรรณ (อดีต ส.ส.ร.2540 สายเสื้อแดง) อ้างว่า การให้คนนอกเข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาและอาจขัดแย้งบานปลาย จึงให้กรรมการสมานฉันท์ฯ (ที่มีอยู่ 40 คน)มานั่งเป็นอนุกรรมการแต่ละชุดแทน โดยอ้างว่า ในกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็มีคนนอกในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว ซึ่งปรากฏว่า ในส่วนของอนุกรรมการแก้ไข รธน.(13 คน) นั้น มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา เป็นประธาน
และในที่สุด ที่ประชุมอนุกรรมการแก้ไข รธน.ก็มีมติ (เมื่อ 14 พ.ค.) ให้แก้ไขมาตรา 237 จนได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ (นายดิเรก ถึงฝั่ง)ส่งสัญญาณไว้ คือ ไม่ต้องมีการยุบพรรคและไม่ต้องมีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอีกต่อไป ใครซื้อเสียงหรือทำผิด ก็ตัดสิทธิเฉพาะบุคคลนั้น นั่นหมายถึงจะต้องแก้มาตรา 237 ด้วยการตัดวรรค 2 ในมาตรานี้ทิ้งไปเสีย
น่าเสียดายว่า แม้ในที่ประชุมอนุกรรมการจะเสียงแตก โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 237 โดยนายประยุทธ ศิริพานิชย์ อนุกรรมการจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งหนุนให้แก้ ม.237 ชี้ว่า มาตรา 237 เปรียบเหมือนยาพิษที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง ขณะที่อนุกรรมการจากพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.237 ให้เหตุผลว่า การซื้อเสียงเป็นมะเร็งร้ายที่เรื้อรังมานาน การจะทำให้การเมืองดีขึ้นและการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม คณะกรรมการบริหารพรรคต้องดูแลสมาชิกพรรคไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เมื่อกรรมการบริหารพรรคทำผิดเอง ก็ควรเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย แต่ในที่สุด อนุกรรมการเสียงข้างมากก็เห็นควรให้แก้ ม.237 โดยตัดวรรค 2 ที่ระบุโทษยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทิ้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า หากที่สุดแล้ว มีการแก้ รธน.2550 ตามที่อนุกรรมการแก้ไข รธน.เสนอจริงๆ คือตัดวรรค 2 ของ ม.237 ทิ้ง จะเท่ากับถอยหลังกลับไปยิ่งกว่า รธน.2540 ด้วยซ้ำ เพราะโทษยุบพรรคนั้น ใน รธน.2540 ก็ระบุไว้ เพียงแต่ไม่มีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แต่ รธน.2550 มีทั้งการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี
นอกจากอนุกรรมการแก้ไข รธน.จะมีมติแก้ ม.237 เพื่อยกเลิกการยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคแล้ว ยังมีข่าวฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมของคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วย เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ออกมาแฉ(เมื่อ 15 พ.ค.) ว่า เริ่มมีกรรมการสมานฉันท์ฯ มาล็อบบี้ ส.ว.สรรหาให้หนุนการแก้ ม.237 และการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยแลกกับการที่กรรมการสมานฉันท์ฯ จะเสนอให้แก้ รธน.โดยเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่งให้ ส.ว.สรรหาจาก 3 ปี เป็น 6 ปี เท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง
ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา 1 ในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และประธานอนุกรรมการแก้ไข รธน.รีบออกมาปฏิเสธ (เมื่อ 16 พ.ค.) เรื่องที่นายเรืองไกรออกมาแฉ โดยยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริง พร้อมเชื่อว่า การที่นายเรืองไกรนำข้อมูลต่างๆ มาพูดเป็นเพียงการพูดคุยในโรงอาหารเท่านั้น ไม่น่าจะถึงขั้นต่อรองกัน
ขณะที่ นายเรืองไกร ก็ออกมายืนยันว่า เรื่องกรรมการสมานฉันท์ฯ ล็อบบี้ ส.ว.สรรหาเพื่อแลกกับการอยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้น เป็นเรื่องที่มีการหารือในวงสนทนาของ ส.ว.จริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อ ส.ว.เหล่านั้นได้ เพราะเป็นมารยาททางการเมือง และตนยินดีจะรับผิดชอบเรื่องนี้เพียงคนเดียว
เมื่อความพยายามแก้ ม.237 เพื่อยกเลิกการยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ดูท่าว่าจะมีการฮั้วระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.ที่นั่งอยู่ในกรรมการสมานฉันท์ฯ แถมยังจะต่อรองแลกผลประโยชน์กับ ส.ว.สรรหาในสภาอีก ต้องลองไปฟังข้อเท็จจริงจาก ส.ว.สรรหาบางคนว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ รวมทั้งฟังมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ว่า รู้สึกอย่างไรที่อนุกรรมการแก้ไข รธน.เสียงข้างมากมีมติให้ตัดวรรค 2 ของ ม.237 เพื่อไม่ให้มีการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอีกต่อไป
รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยกับการตัดวรรค 2 ของ ม.237 เพราะนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประชาธิปไตยแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็มีเพียงกลุ่มเดียว คือนักการเมือง ทั้งนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิไปแล้วและนักการเมืองในอนาคตที่จะหาเสียงแบบผิดๆ
“ถ้าตัดวรรค 2 จะเป็นประโยชน์แค่กับพวกนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิไป และนักการเมืองในอนาคตที่จะหาเสียงอย่างผิดๆ โดยที่กรรมการบริหารพรรคไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ซึ่ง กก.บห.พรรคควรต้องรับผิดชอบ ขนาดบริษัทห้างร้านต่างๆ บางทีคนๆ คนหนึ่งทำผิด กก.บห.เขาก็ต้องรับผิดชอบชดใช้หมด ทุกคนก็ต้องเสียประโยชน์กันไป อีกอย่างหนึ่ง การจะบอกว่า ทำไมพรรคต้องรับผิดรับโทษด้วย เมื่อคนๆ หนึ่งทำผิด ก็บอกได้เลยว่า ถ้า ส.ส.คนนั้นทุจริต และเข้ามา ก็หมายความว่าพรรคจะมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 คน การมีคะแนนเสียงเพิ่มอีก 1 คนของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มันสามารถส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นอาจจะจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ หรืออาจจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ เพราะฉะนั้น 1 เสียงมันมีค่าสำหรับพรรคการเมืองแน่ๆ 1 เสียงมีที่นั่งเพิ่มในสภา 1 คน อำนาจต่อรองมันก็มากขึ้นแล้ว เช่น ที่ผ่านมา เขาก็นับว่าพรรคมีกี่คน เช่น ถ้าพรรคมีที่นั่งในสภา 20 ที่นั่ง จะต้องได้รัฐมนตรีกี่คน อะไรอย่างนี้ เขาคิดคำนวณเก้าอี้อย่างนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อโกงเข้ามา พรรคได้ประโยชน์ แต่เมื่อ ส.ส.ถูกลงโทษ พรรคกลับบอกไม่ต้องรับรู้อะไรตรงนี้ มันไม่ใช่ไง มันต้องร่วมรับผิดชอบ”
“และที่ไปเปรียบว่า เหมือนกับพ่อแม่ ถ้าลูกทำผิด ทำไมพ่อแม่ต้องถูกลงโทษ มันไม่เหมือนกัน เอาเรื่องครอบครัวกับเรื่องพรรคการเมืองมาเปรียบกันไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองมันเป็นเรื่องของคนที่เท่าเทียมกันมาตกลงกันภายใต้หลักการอะไรบางอย่างร่วมกัน และคนก็รู้อยู่แล้วว่า หลักการประชาธิปไตยมันจะต้อง ประชาชนต้องเลือกด้วยใจเขาจริงๆ เลือกด้วยเขาชอบ ส.ส.คนนั้นจริงๆ ไม่ใช่ด้วยเงิน แต่ผมว่าในอนาคต ถ้าสังคมมันแย่จริงๆ บางทีถ้าลูกทำผิด บางทีพ่อแม่อาจจะต้องโดนปรับตังค์ก็ได้ในอนาคต แต่ตอนนี้มันยังไม่มีตรงนี้ไง เพราะฉะนั้นผมว่ามันชัดเจนในตัวมันเองแล้วว่า วรรค 2 เนี่ย ตัดออกไปไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยด้วย ถ้าคนที่พรรคเขาไม่มีปัญหา เขาถึงไม่เดือดร้อน”
“(ถาม-คุณประยุทธ ศิริพานิชย์ จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า มาตรานี้มันเหมือนยาพิษ ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตาม ม.65 ที่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง?) ปัดโธ่! ถ้าพรรคการเมืองมันไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่แท้จริง โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่พรรคการเมืองอยู่แล้ว เป็นพรรคการเมืองแต่ในนาม รธน.มาตรา 237 วรรค 2 มันพยายามทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองจริงๆ ดังนั้น ถ้าคุณจะบอกว่ามันทำลายพรรคการเมือง มันทำลายสิ่งที่ไม่ใช่พรรคการเมืองให้ออกไปจากแวดวงของการเมืองต่างหาก ให้เหลือแต่กลุ่มคนที่เป็นพรรคการเมืองจริงๆ ต่างหาก”
รศ.ดร.ไชยันต์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มติของอนุกรรมการที่เสนอให้ยกเลิกการยุบพรรคและการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคนั้น ทำให้กระบวนการแก้ปัญหาการซื้อเสียงแย่ยิ่งกว่า รธน.2540 เสียอีก ซึ่งหากยืนยันจะแก้เช่นนี้จริง ก็เท่ากับว่า การนำความขัดแย้งมาพูดกันในสภามาแก้กันในสภา ถือว่าล้มเหลว เพราะไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อนั้นการเมืองก็ต้องเกิดบนท้องถนนอีกจนได้ ถ้านักการเมืองยังคงทำอะไรแบบนี้อยู่
ขณะที่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดวรรค 2 ของ ม.237 เช่นกัน เพราะคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 ต้องการให้การยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เป็นไม้เด็ดสำหรับป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง และต้องการให้พรรคการเมืองวางระบบของพรรคให้เข้มแข็ง ซึ่งการที่พรรคจะมีระบบที่เข้มแข็ง ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่เข้มแข็งด้วย โดยกรรมการบริหารพรรคต้องดูแลลูกพรรคและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกพรรค และว่า จริงๆ แล้ว รธน.2540 ก็มีโทษยุบพรรค แต่ รธน.2550 เพิ่มอุปกรณ์ให้ด้วยการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาการซื้อเสียงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“มันชัดเจนว่า เมื่อ 2540 เขามีไว้ แล้วมันก็ยังแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งไม่ได้ กกต.ก็พยายามทำหน้าที่เต็มที่เท่าที่มีกฎหมายอยู่นั้น แต่มันก็ยังขาดอุปกรณ์ เพราะฉะนั้น รธน. 2550 เขาก็เลยให้อุปกรณ์นี่เพิ่มเติม ก็คล้ายๆ กับ 2540 เนี่ยมีแค่กุญแจมือ แต่พอ 2550 เขาก็เรียกว่ามีบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น ให้มันรู้สึกว่า ถ้าจะแก้ไขกันจริงๆ เนี่ย จะต้องทำให้จริงๆ และแรงๆ ด้วย คิดว่ามันก็ต้องกันไปตามสถานการณ์ ถ้าเผื่อจะยกเลิก เราต้อง การเลือกตั้งก็ต้องดีขึ้น ตอนนี้มันยังไม่ดีขึ้น การยกเลิกก็ไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้นผมคิดว่า น่าจะลำบากในการแก้ไขครั้งนี้ (น่าจะสำเร็จยาก) และอาจจะเป็นชนวนในการให้เกิดความรุนแรง ทั้งความคิดเห็น และมีการประท้วงกันตามมาด้วย โดยเฉพาะทางฝ่ายพันธมิตรฯ เองเขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย”
“(ถาม-คุณประยุทธ ศิริพานิชย์ จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า ม.237 มันเปรียบเหมือนยาพิษ ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของ ปชช.ตาม ม.65 ที่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง?) เขาเชื่อมโยงอย่างนั้นผิดนะ คือ ถ้าเราบอกว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเนี่ย มันต้องเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่นี่มันเป็นสิทธิที่ คือ สิทธิส่วนรวมก็มี สิทธิของชุมชนก็มี แต่นี่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง มันชัดเจนว่าเป็นสิทธิกลุ่ม สิทธิกลุ่ม ก็คือ ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อบอกว่าจะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเนี่ย ผมว่าค่อนข้างจะไม่เห็นด้วย และที่บอกเป็นยาพิษเนี่ย น่าจะมองในแง่ดีว่า นี่ล่ะคือยาบำรุง เป็นยาทั้งปฏิชีวนะ ในการที่จะเสริมสร้าง ต่อต้านโรคร้าย และในขณะเดียวกันก็เป็นยาที่ทำให้เกิดการบำรุงระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่าคุณประยุทธ์อาจจะหาเหตุผลมาเพื่อที่จะสนับสนุนความคิดในการยกเลิกมาตรานี้ที่ผิดพลาดไป”
ส่วนกรณีที่นายเรืองไกร ส.ว.สรรหา ออกมาแฉว่ามีกรรมการสมานฉันท์ฯ ล็อบบี้ให้ ส.ว.สรรหาหนุนแก้ ม.237 และการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยแลกกับการที่ ส.ว.สรรหาจะได้อยู่ในตำแหน่งนานขึ้นนั้น ผศ.ทวี บอกว่า คิดว่า ส.ว.สรรหาส่วนใหญ่เป็นคนมีอุดมการณ์ อุดมคติ น่าจะมีจุดยืนที่มั่นคง คงไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เพราะหากรับ ก็จะเป็นการทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีที่พวกเขาได้รับการสรรหามาเป็น ส.ว.
ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา บอกว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการตัดวรรค 2 ของ ม.237 ทิ้ง เพราะการแก้ รธน.โดยยกเลิกโทษยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคนั้น ไม่เพียงเป็นการแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว แต่ยังเป็นการช่วยคนทำผิดอีกด้วย ซึ่งผิดหลักของการสร้างกฎหมาย
“จริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้ มันมุ่งที่จะพัฒนาการเมือง ถ้าตัด 237 ออกก็คือเรามุ่งที่จะช่วยคนทำผิด และก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะพัฒนาการเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เราแก้กฎหมาย รธน.เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว ซึ่งมันผิดหลักของการสร้างกฎหมาย (ถาม-บางคนบอกว่า ก็ตัดสิทธิเฉพาะคนที่ทำผิดไปสิ?) ผมเรียนอย่างนี้ว่า การกระทำความผิดอย่างนี้ หลายคนอธิบายว่าเป็นการกระทำความผิดทางการเมือง ไม่ใช่ความผิดอาญา ผมกราบเรียนอย่างนี้ว่า มันเป็นการประกอบอาชญากรรมทางการเมือง เพราะการได้อำนาจของประชาชนมาเนี่ย เป็นแค่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยนะ คุณต้องรักษาประโยชน์ของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ถ้าคุณไปทำผิด ก็ถือว่าคุณเป็นอาชญากรคนหนึ่งที่ปล้นสะดมอำนาจและทรัพยากรของประเทศไป เพราะฉะนั้นคุณควรจะต้องรับโทษมากกว่าการกระทำความผิดทางอาญาอีก (ถาม-บางคนเสนอแบบอะลุ้มอล่วยว่า ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคได้ แต่ไม่ต้องยุบพรรค?) คือเรื่องของบ้านเมือง เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง อะลุ้มอล่วยไม่ได้นะ ผมถือว่าคนที่ทำเนี่ย คือคนที่ทรยศต่อประเทศนะ ถือว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดินนะ คนพวกนี้ควรตายด้วยนะ”
นายวรินทร์ ยังพูดถึงกรณีที่นายเรืองไกร ส.ว.สรรหาออกมาแฉว่ากรรมการสมานฉันท์ล็อบบี้ให้ ส.ว.สรรหาหนุนการแก้ ม.237 และการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยแลกกับการให้ ส.ว.สรรหาอยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้นด้วย โดยยืนยันว่า มีการล็อบบี้เรื่องดังกล่าวจริง และมีการพูดเรื่องนี้ในที่ประชุม ส.ว.หลายครั้งแล้ว โดยออกมาจากปากคนที่อยู่ในกระบวนการสมานฉันท์
เมื่อถามว่า ส่วนตัวแล้วมองข้อเสนอที่กรรมการสมานฉันท์พยายามล็อบบี้ ส.ว.สรรหาอย่างไร นายวรินทร์ บอกว่า “ถ้าผมจะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อครบ 3 ปี ผมก็ยังมีศักดิ์ศรีมากกว่าที่ผมจะไปออกเมื่อ 6 ปี โดยการไปแลกตรงนั้น หากผมยอมแลกกับตรงนั้น ผมก็ไม่คงไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ต้องการความปรารถนาอย่างสัตว์เดรัจฉานทั่วไป”!!