xs
xsm
sm
md
lg

คกก.สมานฉันท์ฯ นัดแรกเหลว ไล่กลับ 3 อนุฯสรุปข้อเสนอใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง
ที่ประชุม คกก.สมานฉันท์ฯ รับฟังความเห็นทั้ง 3 อนุฯ แต่เสียงแตกเสนอแนะทำประชามติยุติข้อเสนอ ยุบพรรค เพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ด้านกรรมการจาก ชทพ.ทะลึ่งเสนอ “แม้ว-ป๋าเปรม” ออกวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เคลียร์ใจ อนุฯ “เพื่อไทย” จี้ ชี้แจงข่าว ส.ว.สรรหาหนุนนิรโทษแลกอยู่ยาว 6 ปี ปธ.ดิเรก ไล่กลับไปหาข้อสรุปและนำไปสู่การปฏิบัติได้กลับมาเสนอใหม่ในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งเป็นการรับฟังรายงานผลการทำงานของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 3 ชุด

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทาง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้พิจารณาเรื่องดังนี้ 1.การได้มาซึ่ง ส.ส.ตามมาตรา 93-98 โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน ส่วนระบบบัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศ จำนวน 100 คน แต่ไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 ทำให้พรรคที่มีผู้สนับสนุนน้อย มีโอกาสได้รับเลือกด้วย 2.การยุบพรรค ตามมาตรา 68 และมาตรา 237 นั้น เสียงส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเห็นว่า ไม่ควรยุบพรรค แต่กรณีมาตรา 237 วรรคสอง ที่บัญญัติให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้ยับยั้ง ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปีด้วย อนุกรรมการเกือบทุกพรรคเสนอให้ตัดวรรคดังกล่าวออก เพื่อให้ความผิดของกรรมการบริหารพรรค เป็นความผิดเฉพาะตัว และไม่นำไปสู่การยุบพรรคนั้น แต่ก็มีบางส่วนเสนอให้คงไว้ เพราะเห็นว่า ปัญหาการซื้อเสียง มียาวนานเป็นโรคร้าย ทำกันโดยไม่เกรงกลัว

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า การทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมีระดับแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาถึงการกระทำนั้นด้วยเพื่อพิจารณาโทษ และไม่ควรเอาผิดกับผู้ไม่ได้กระทำผิด จึงมีการมองว่า ควรลงโทษบุคคลที่ทำผิดให้หนักขึ้น เช่น มีโทษเป็น 2-3 เท่า หรือ เอาผิดอาญา หรือไม่ให้พรรคนั้นได้รับเงินสนับสนุนจาก กกต.เป็นต้น ทั้งนี้ คณะอนุฯ จะดู 6- 7 ประเด็น ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ หรือ 2-3 ครั้ง ก็จะได้ข้อสรุป เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ เป็นประชาธิปไตยตามแบบสากล ลดความตรึงเครียด เพิ่มความสมานฉันท์ของคนในสังคม ส่วนประเด็นที่คนยังสงสัยว่า นักการเมืองทำเพื่อตัวเองหรือไม่ คณะอนุฯ ก็จะเสนอให้ทำประชามติ ซึ่งมี 2-3 พรรคได้เสนอแนวทางนี้

ด้าน นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น 4 ประเด็น คือ 1.โครงสร้างทางสังคมการเมือง และเศรษฐกิจตามรัฐธรรมนูญ 2.วัฒนธรรมทางการเมือง และการเผยแพร่ความรู้ประชาธิปไตย 3.หลักกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย การทำให้ประเทศเป็นนิติรัฐ และ 4.บทบาททางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ใช้วิธีการศึกษา คือ รวบรวมงานวิจัยและเปิดให้ประชาชนเสนอความเห็นมา โดยจัดลำดับความสำคัญคือ 1.ศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญและกฎหมายในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นธรรม รวมถึงประเด็นที่อาจมีผลต่อการพัฒนาการเมืองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราในอนาคต แต่ยังไม่ฟันธงว่าจะแก้ 2.การเผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตยผ่านระบบการศึกษา 3.อาจนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้มีการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อปฏิรูปครั้งใหญ่ในอนาคต

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า เมื่อเจาะไปที่โครงสร้างทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนแรกมองว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง เช่น ให้ประชาชนสามารถหักภาษีของตนเองให้พรรคการเมืองได้ ส่วนการยุบพรรค อนุฯมองว่า ไม่ส่งเสริมการพัฒนาพรรคให้เป็นสถาบันการเมือง นอกจากนี้ ควรปฏิรูปค่าครองชีพของนักการเมืองเพื่อไม่ให้นักการเมืองไปหากินข้างนอกแต่อนุฯก็มองว่า ทำยาก ส่วน กกต.ไม่ควรให้อำนาจมากไปโดยอาจให้มีศาลเลือกตั้งเพื่อถ่วงดุล นอกจากนี้ ที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ ยังขาดการเชื่อมโยงฐานจากประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าคณะอนุฯ น่าจะประชุมอีก 1-2 สัปดาห์ ก็จะได้ข้อสรุป

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย กล่าวว่า คณะอนุฯ เห็นว่า การจัดทำข้อเสนอ ต้องมาจากการเห็นพ้องของทุกฝ่ายในสังคม ต้องเปิดรับฟัง โดยวันที่ 20 พฤษภาคม จะเริ่มไปรับฟังภาคีทางสังคม ทั้งนี้ เป้าหมายการทำงานแบ่งเป็นระยะสั้น กลางและยาว โดยจากการศึกษาของคณะอนุฯ ขณะนี้พบ 6 ประเด็นที่ตรงกัน คือ 1.ลดวิวาทะทางการเมืองที่มีการตอบโต้ใส่ร้ายกัน 2.รัฐบาลและฝ่ายค้านต้องลดการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง 3.เชิญสื่อมาเป็นภาคเพื่อลดความขัดแย้ง 4.มีการเจรจากับคู่ขัดแย้งทุกระดับ ทุกองค์กร 5.ทำสมัชชารับฟังความเห็นจากประชาชน เป็นสมัชชาสมานฉันท์ 4 ภูมิภาค 6.ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ ศึกษารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเพื่อเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

นายตวง กล่าวต่อว่า การทำงานครั้งต่อไปได้เชิญเครือข่ายภาคีมาแล้ว เบื้องต้นอยากฟังความเห็นของเครือข่ายทางสังคมที่จะขับเคลื่อนและกลุ่มสานเสวนาของสถาบันพระปกเกล้า กลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุภาพ กลุ่มนักวิชาการและมหาวิทยาลัย สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และสวนดุสิตโพล และจะให้มาช่วยกันคิดว่า จะออกแบบกิจกรรมอย่างไร และนำไปสู่กระบวนการความร่วมมือเหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีการรณรงค์สีเขียวรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะผ่อนคลายนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมเปิดให้กรรมการแสดงความเห็น โดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.สัดส่วน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสมานฉันท์ เคยคิดที่จะเชิญ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งเริ่มต้นมาหารือหรือไม่ เพราะเป็นความขัดแย้งภายใน ส่วนความขัดแย้งภายนอก คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.กับนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ และหากเป็นไปได้อยากให้ออกวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ด้วย หากทำได้ ความขัดแย้งภายนอกจะสงบ และภายในก็จะเงียบ

นายตวง จึงชี้แจงว่า ถ้าเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ควรให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการ ซึ่งผู้อาวุโสทางการเมืองควรเป็นคนกลางในการแก้ไข ถ้าจับคู่ความขัดแย้งไม่ตรงกันจะกลายเป็นความขัดแย้งอีกรอบ

นายประยุทธ ศิริพานิชย์ กรรรมการจากโควตาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีข่าวว่าคณะกรรมการไปยื่นข้อตกลงให้ ส.ว.สรรหา สนับสนุนการนิรโทษกรรมผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแลกกลับการให้ ส.ว.สรรหา อยู่ 6 ปี ถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย ต้องชี้แจงต่อสังคม หรือที่มีอนุกรรมการออกมาพูดเรื่องใบสั่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีความชัดเจนว่า มีจริงหรือไม่อย่างไร จึงควรทำความจริงให้ปรากฏ

นายดิเรก ได้แจ้งว่า ข่าวเรื่องการยื่นข้อตกลงนิรโทษกรรมแลกกับ ส.ว.สรรหาอยู่ 6 ปี ตนไม่สบายใจ และได้คุยกับ ส.ว.คนนั้นเพื่อทำความเข้าใจแล้ว ตนขอยืนยันว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าวแน่นอน

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการ กล่าวว่า คณะอนุฯ แก้รัฐธรรมนูญ เสนอบางเรื่อง เหตุผลยังไม่คงเส้นคงวาพอ เช่น บอกว่า ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวดูแลพื้นที่ได้ทั่วถึง แต่กลับบอกว่า ให้ใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบเขตประเทศ ซึ่งก็แย้งกันเองอยู่ส่วนที่อนุฯเสนอว่า ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 แต่เลือกตั้งระบบเขต กลับให้ใช้เสียงข้างมากครั้งเดียว คนที่ได้ที่สองที่สาม บางครั้งได้คะแนนมากกว่าคนที่ได้ที่หนึ่ง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนไม่ได้เต็มที่ รวมถึง คณะอนุฯยังไม่ได้คิดเรื่องการไม่ต้องสังกัดพรรค หากคิดเรื่องนี้ การยุบพรรคอาจหมดไปได้ ส่วนมาตรา 237 มีมาตรการออกมาล่วงหน้า เป็นที่รู้กันทุกคน แต่ก็มีการกระทำผิดจนมีผลให้ยุบ 3 พรรค จริงๆแล้วมาตรานี้ทำให้การพยายามซื้อเสียงยากลำบาก และเสี่ยงมากขึ้น และลงโทษผู้ที่ร่วมได้ประโยชน์จริง แต่ตอนนี้พรรคก็เริ่มปรับตัว ตั้งกรรมการบริหาร โดยที่ไม่เอาคนดังๆเข้ามา แต่หัวหน้าและเลขาพรรค ยังคงเป็นผู้ที่จะชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งก็เหมือนเริ่มดื้อยาแล้วบางส่วน ตรงนี้ ถ้ามองกันว่า สถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวกันหมดแล้ว ใช้ไม่ได้ผลแล้ว ฉะนั้นอาจคงโทษยุบพรรค และคงโทษหัวหน้าและเลขาธิการพรรคไว้ เพราะทั้งสองคนเป็นคนกำหนดยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง และให้เงินไปใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แล้วจะมาบอกว่า ไม่รู้เห็นคงฟังยาก แต่ถ้าจะตัดเรื่องกรรมการบริหารพรรคทุกคนต้องรับผิดด้วยออกไปก็น่าจะทำได้

“นิพิฏฐ์” ติง ให้ระบุโทษให้ชัดเจน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กรรมการ กล่าวว่า ที่ประชุมพูดกันเรื่องความไม่เป็นธรรมในกฎหมาย ตนคิดว่า ต้องตอบให้ชัดว่า อะไรและเพราะเหตุใด ที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้คดียุบพรรคไทยรักไทย ตุลาการที่ยุบพรรค ตุลาการบางส่วนมาจากประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือในวงการตุลาการ ตนเห็นว่าหากมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแสดงว่ามีการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน อีกครั้ง จึงควรมีการพิจารณาถึงโทษให้ชัดเจนก่อน

“เสธ.อู้” นอตหลุด จวก พวกปกป้อง รธน.กลัวแก้แล้วเสียเปรียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมง พล.อ.เลิศรัตน์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ระบบเลือกตั้งแบบใดนั้น เป็นเรื่องความถนัด หรือความชอบว่าแบบใดเป็นประโยชน์กับตัวเอง ที่จริงแบบเขตเดียวเบอร์เดียวก็ใช้กันเกือบทั่วโลก แต่จะเอาอย่างไร ก็คงต้องไปถามประชาชน วันนี้เรามาแก้ไขเรื่องเล็กน้อยตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีและประธานสภา ไม่ได้มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ส่วนที่บางพรรคไม่อยากให้แก้บางเรื่องนั้น คงเป็นเพราะกลัวเสียเปรียบ จึงมีการปกป้อง เรื่องนี้คงไม่ต้องอ้อมค้อมที่จะพูดแล้ว แต่ทั้งนี้ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็ควรฟังเสียงส่วนใหญ่ อย่าตั้งธงว่าไม่ควรแก้ หรือควรแก้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวเนื่องกับการสร้างความสมานฉันท์

จากนั้น นายดิเรก กล่าวสรุปว่า สัปดาห์หน้าคณะอนุฯ ทั้ง 3 ชุด ต้องมีข้อสรุป ข้อเสนอ พร้อมเหตุผลชัดเจน ปฏิบัติได้ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่ จะพิจารณาไล่ไป สัปดาห์ละคณะอนุฯ เริ่ม คณะอนุฯ แรกวันที่ 26-28 พฤษภาคม และเชื่อว่าแต่ละอนุฯ จะพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว
รุมชี้"แม้ว"ต้นตอขัดแย้ง อนุฯปฏิรูปแนะปรับคนเข้าหารธน.
อนุฯแก้รธน. ถกวันแรกเสนอให้การเลือกตั้งทั้งส.ส.แบบแบ่งเขต และสัดส่วนกลับไปใช้รธน.ปี 40 เจิมศักดิ์ ยัน รธน.ไม่ใช่ต้นเหตุปัญหา จึงไม่อยากเห็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์นักการเมือง ส่วนอนุฯสมานฉันท์ ทั้งในส่วนของ ส.ว.- ส.ส.ปชป.รุมจวกแม้ว สาเหตุวิกฤติขัดแย้ง ขณะที่ฝ่ายค้านอ้างผลพวงจากปฏิวัติ-รธน.50 –ใช้กม. 2 มาตรฐาน พร้อมเสนอนิรโทษกรรม 111+109ซาก ด้านศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรธน.สายแม้ว ใช้ลมปากต่างใบเสร็จ อ้างมีใบสั่งให้ยุบพรรค- ตั้งองค์กรอิสระ ส่วนอนุฯปฏิรูปการเมือง ให้เน้นแก้ที่คน ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น