ที่ประชุมอนุกรรมการสมานฉันท์ฯ ถกนัดแรก เปิดโอกาสแสดงความคิดเห็น โดย ส.ว.-ส.ส.ปชป.รุมจวก “แม้ว” สาเหตุวิกฤตขัดแย้ง ขณะที่ฝ่ายค้านออกโรงแย้งบ้างชี้เป็นผลพวงจากเหตุปฏิวัติ และคลอด รธน.50 ซัดใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน พร้อมจี้นิรโทษกรรมคืนความเป็นธรรมให้ซากศพกรรมการบริการทุกคน ด้าน “ศักดิ์ เตชาชาญ” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำขึงขังแฉกลางห้องประชุมมีใบสั่งให้ยุบพรรค-ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่สุดท้ายเสียงอ่อยบอกไม่รู้จริงหรือไม่
วันนี้ (13 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมอนุคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทยนัดแรก โดยนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ซึ่งเปิดโอกาสให้อนุกรรมการฯ นำเสนอปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง ที่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเดิมๆ คือ รัฐธรรมนูญ 40 และ 50 สาเหตุเกิดจากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ และการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางการยุบพรรค โดยทางออกคือควรหาหนทางไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง กล่าวว่า ต้นตอของความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่การแก้กฎหมายโทรคมนาคม เพื่อขายหุ้นโทรคมนาคมให้เทมาเส็ก การประกาศยุบสภาของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ปี 2549 จนกระทั่งมาถึงการรัฐประหาร และปิดทำเนียบ ปิดสนามบิน
ขณะที่ นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่แทรกแซงองค์กรอิสระ ส.ว. การใช้อำนาจเพื่อองค์กรของตัวเอง ขณะที่นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการรัฐประหารปี 2549 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ และการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง ทำให้มวลชนที่สนับสนุนคนกลุ่มนี้เกิดความไม่พอใจ ดังนั้นหากแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ การผ่อนคลายความขัดแย้งระยะเร่งด่วน คือ การแก้ไขผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวน 220 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองซึ่งจะต้องออกกฎหมายเพื่อแก้ไข และไม่สามารถทำประชามติตัดสินได้
ส่วน นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ควรคืนความเป็นธรรมไม่เพียงแต่ ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 220 คน แต่ต้องเยียวยาให้แก่คนทุกกลุ่มคนทุกสี ร่วมทั้งข้าราชการต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาจากอีกฝ่าย เพราะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ขณะที่นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมอนุกรรมการไม่ควรเป็นผู้ตัดสินว่าผิดหรือถูกเพราะเป็นนักการเมืองด้วยกัน ดังนั้น การจะให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้ผลกระทบควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม นายตวง ประธานอนุฯ ก็รับปากว่าจะนำเสนอเรื่องการนิรโทษกรรม 220 คน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้คนนอก เช่น นักวิชาการร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมได้มีสีสันขึ้น เมื่อนายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากในการตัดสินคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากการอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามี “ใบสั่ง” ในเรื่องการยุบพรรค โดยกล่าวว่าตนเคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตอนมีคำสั่งยุบพรรคได้ถามเพื่อนฝูงทุกคนแล้วเห็นว่าไม่ควรยุบพรรค ควรแค่ลงโทษหัวหน้าพรรค เลขาธิการและผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่พอจะเขียนคำวินิจฉัย ปรากฏว่ามีใบสั่งซึ่งไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง แต่ว่ามีใบสั่งมา มันสร้างความสับสนให้ผู้พิพากษาทั้งหมด คำวินิจฉัยจึงออกมาน่าเกลียดมาก รวมทั้งเรื่องโมฆะการเลือกตั้ง และองค์กรอิสระก็เป็นใบสั่งและผลก็ออกมาอย่างที่เขาคาดการณ์ทุกเรื่องร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนไม่ยอมทำตามใบสั่งจึงไม่เจริญถึงทุกวันนี้ หลายคนที่ทำตามใบสั่งก็เจริญรุ่งเรื่องเป็นใหญ่เป็นโตในขณะนี้ ดังนั้น เราต้องหาวิธีพิสูจน์ว่าใบสั่งมีจริงหรือไม่ ถ้ามีต่อไปนี้ต้องเลิกเด็ดขาด
ทั้งนี้ นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช อดีตผู้ว่าฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสัดส่วนของวุฒิสภา แย้งว่า ได้ยินเรื่องใบสั่งก็หนักใจ แต่อยากถามว่ามีหลักฐานหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ละคนที่นั่งตรงนั้นเป็นผู้มีเกียรติ มีความรู้ มีฐานะทางสังคม ใครจะออกใบสั่งได้ อย่างเก่งออกได้แค่ 1-2 คน แต่ถ้าออกพร้อมกันทั้งคณะเป็นเรื่องยาก
อนึ่ง นอกจากนายศักดิ์ เตชาชาญ จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้น 1 ที่ลงความเห็นไม่รับพิจารณาคุณสมบัติ พ.ต.ท.ทักษิณ จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รอดพ้นจากคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544 แล้ว ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังเรืองอำนาจภรรยาของนายศักดิ์ คือ นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) อีกด้วย
นอกจากนี้ในสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้แต่งตั้ง นางจิตราภรณ์เป็น คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา โดยเป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีผู้บริหารสูงสุดเป็นรัฐมนตรีมาจากโควตาพรรคภูมิใจไทย ซึ่งนายศักดิ์มีความใกล้ชิด