ประธาน กก.สมานฉันท์เสนอตั้งอนุ 3 ชุดดันคนนอกเข้าร่วม ด้านกรรมการเพื่อไทยค้านดึงคนนอก เร่งศึกษาขีดเส้น 45 วันพร้อมยื่นเงื่อนไขขอยุบสภาเลือกตั้งใหม่ “คณิน- เลิศรัตน์” เตือนเปิดฟังคนนอกมากสร้างปัญหา ด้าน “เจิมศักดิ์” ดักคอแก้ 237 และ 309 เสนอตั้ง citizen dialogue ภาค ปชช.มีส่วนร่วม
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้นายดิเรกได้เสนอให้ที่ประชุมกำหนดกรอบแนวทางการทำงาน ได้แก่ 1.แนวทางสร้างสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย 2.แนวทางการปฏิรูปการเมืองและแนวทางการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญและ 3.กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด โดยมีกรรมการสมานฉันท์ 12 คนและเป็นคนนอก 6 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการสมานฉันท์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่ประธานกรรมการสมานฉันท์เสนอให้มีการนำคนนอกเข้ามานั่งในอนุกรรมการฯ นอกจากนี้ยังเห็นว่าระยะเวลา 45 วันควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า เราควรใช้เวลาไม่กี่เดือนในการแก้ไขปัญหา หลังจากนั้นก็ให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหลังจากตั้งรัฐบาลใหม่แล้วค่อยปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม เกิดจากประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว ดังนั้นเราควรศึกษาประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เพราะยิ่งทำให้เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ความขัดแย้งก็จะน้อยลง นอกจากนี้ ตนไม่อยากให้มีการขยายเวลาออกไปเกินกว่า 45 วัน เพราะไม่เช่นนั้นกระแสความขัดแย้งจะยิ่งมากขึ้น ดังนั้นขณะนี้ขอให้แก้รัฐธรรมนูญในมาตราที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายกฯบอกว่าหากการเลือกตั้งเป็นทางออก ก็ให้แก้ไขในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จากนั้นรัฐบาลก็ยินดีที่จะยุบสภา ดังนั้นเราต้องทำความเข้ากับประเด็นนี้ว่าการทำงานครั้งนี้เราจะทำเพื่ออะไร เพราะหากจะศึกษากันถึงปี 2 ปีก็คงไม่ใช่
นายคณิน บุญสุวรรณ กรรมการสมานฉันท์ ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้คงไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรใหญ่โตมากมาย ที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นมาหลายปี ภายใน 45 วัน หรือจะใช้เวลาปี หรือ 2 ปีในการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แต่หากเราจะมองว่าคณะกรรมการชุดนี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้นนำไปสู่การสมานฉันท์และการปฏิรูปการเมืองจะดีกว่า ซึ่งการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหากให้คนนอกเข้ามาร่วม เกรงว่าจะมีการขยายความมากเกินไป และอาจมีการขยายประเด็นและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ดังนั้น หากให้ตั้งอนุกรรมการฯขึ้นมาก็ควรเป็นคนในกรรมการสมานฉันท์ทั้งหมด เพื่อที่จะสรุปรวบรวม รายงานที่ศึกษากันมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างสมานฉันท์หรือการปฏิรูปการเมือง ตนไม่อยากให้เรามาเริ่มต้นกันใหม่ อย่างรัฐธรรมนูญก็ให้ศึกษาแค่ 2-3 มาตราว่า หากแก้ไขแล้วจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองหรือไม่
ด้าน นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า ตนคิดว่าในเรื่องสมานฉันท์ควรเปิดกว้างไว้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ามีการตั้งธงไว้ ที่ผ่านมาสังคมไทยขาดคนที่สังคมยอมรับเพื่อมาแก้ไขปัญหาทีเกิดขึ้น แต่เมื่อมีคณะกรรมการฯนี้ขึ้นมาแล้ว และเป็นที่ยอมรับของสังคม เราก็ควรให้คนในชาติมามีส่วนร่วม ให้คนท้องถิ่นมาร่วมกันออกแบบ และให้ประชาชนตัดสินเองว่าจะเอาอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร และจะสร้างสมานฉันท์อย่างไร
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า เราเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ แต่หากเปิดรับฟังมากเกินไปเราจะเป็นปัญหาในการทำงานได้ ซึ่งเราอยู่กันตรงนี้ก็รู้กันดีอยู่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ดังนั้นเรื่องการปฏิรูปและการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ได้ เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีก 8 เดือน - 1 ปี ซึ่งนำไปสู่ทางทีดีขึ้นแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้นายกฯก็รู้
นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า วันนี้ต้องค้นให้เจอว่าใครขัดแย้งกับใคร ถ้าคนไม่เจอเราก็ไม่สามารถออกจากวิกฤตการเมืองได้ ดังนั้นเราต้องรับฟังข้อเสนอ และนำขอเสนอไปรับฟังความคิดเห็น ส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้นให้ต้องประชาชนเป็นแสดงความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของประชาชนหรือของบุคคลกันแน่
ขณะที่ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า อยากให้กำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าเราจะศึกษาอะไร หรือต้องการแค่แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 และ 309 แล้วให้มาตราอื่นเป็นไม้ประดับเท่านั้น ถ้าจะเอาแนวนี้ก็ทำให้ชัดเจนทุกอย่างจะได้จบ แต่ตนขอเสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยการทำ citizen dialogue โดยแบ่งประชาชนทั่วประเทศเป็น 16 เขต สุ่มตัวอย่างประชาชนมา 50 คนเพื่อมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและนำข้อเท็จจริงมาเสนอ