xs
xsm
sm
md
lg

รุมชี้"แม้ว"ต้นตอขัดแย้ง อนุฯปฏิรูปแนะปรับคนเข้าหารธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา10.00 น.วานนี้(13 พ.ค.) ที่ห้อง 206 อาคารรัฐสภา2 มีการประชุม คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ที่ประชุมมีมติเลือก พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา เป็นประธาน นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2 นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ให้ทหารเป็นประธานแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะอนุกรรมการชุดนี้มีความสำคัญโดยจะต้องทำงานสอดประสานกับ 2 คณะอนุกรรมการที่เหลืออยู่ โดยประเด็นใดที่ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เห็นชอบตรงกัน และมีเสียงเป็นเอกฉันท์ก็สามารถเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ได้ทันที
นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นว่ามีประเด็นที่คณะอนุฯจะต้องศึกษาหาข้อสรุปให้ได้ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1. ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2. ความขัดแย้งมาจากปัญหาระบบการเมือง และสถาบันทางการเมืองหรือไม่ ถ้าใช่จะทำอย่างไร 3. ผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีอะไรบ้าง เพราะหากไม่แก้ไขเสียทีเดียว ก็จะเป็นปัญหาต่อการบริหารงานในอนาคต และ 3. ข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ที่คณะอนุฯ จะต้องเปิดโอกาสให้มีการรับฟังข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆให้กว้างขวางมากที่สุด
ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความขัดแย้งของสังคมไม่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะความขัดแย้งของสังคมเกิดขึ้นในปี 48 ดังนั้นถ้าไม่ใช้รัฐธรรมนูญ 50 ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นอยู่ดี และความขัดแย้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเพราะมีคนจะแก้รัฐธรรมนูญ 50 ดังนั้นขอให้คณะอนุฯ คิดให้ดีว่า อะไรคือสาเหตุแห่งความขัดแย้ง
"ผมไม่อยากเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และอยากให้เราระมัดระวัง การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะยิ่งทำให้เกิดวิกฤติหนักขึ้น ถ้าทำไม่ดี ทั้งนี้ในส่วนของ ม.190 อยากชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ติดขัดมาจากกรณีที่รัฐบาล และสภาไม่ออกกฎหมายมารองรับ และปัญหาเกิดจากความกลัวของหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ที่กลัวว่าทุกสนธิสัญญา จะเข้ามาตรา 190 เลยบรรจุเข้าที่ประชุมสภา" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

**3พรรคขอเลือกตั้งเขตละเบอร์
อย่างไรก็ตามหลังจากหารือกันในกรอบกว้างๆของแนวทางการศึกษา และแก้ไขรัฐธรรมนูญของอนุกรรมการแล้ว ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้หารือใน ประเด็น การเลือกตั้ง ส.ส.โดยตัวแทนพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทย เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรจะกลับมาใช้การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 400 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 40 แทนการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ ส่วนส.ส.แบบสัดส่วนนั้นควรที่จะปรับให้เป็นแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คนตามเดิม
ขณะที่ตัวแทนจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และประชาธิปัตย์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยให้คงเขตเลือกตั้ง และแบบสัดส่วนตามเดิมของรัฐธรรมนูญ 50ไว้ เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่จะทำให้การซื้อเสียงสามารถทำได้ยากขึ้น และทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้สมัครที่มีความรู้แต่ไม่มีเงิน ส่วนเขตเล็กนั้นหากใครมีอิทธิพลสามารถยึดพื้นที่ตรงนั้นไม่ว่าคนๆนั้นจะทำดีทำชั่วก็จะได้รับเลือกอยู่ตลอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมจึงได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 พ.ค. เวลา 09.30 น. โดยจะเป็นการพิจารณาในมาตรา 68 และ มาตรา 237

**อนุสมานฉันท์ฯชี้"แม้ว"ตัวปัญหา
เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (13 พ.ค.) ที่รัฐสภามีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทยนัดแรก โดยนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นประธาน โดยเปิดโอกาสให้อนุกรรมการฯ นำเสนอปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่า สาเหตุเกิดจากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ และการใช้กฎหมาย 2 มาตราฐาน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางการยุบพรรค โดยทางทางออกคือ ควรหาหนทางไปสู่การยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง กล่าวว่า ต้นตอของความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่การแก้กฎหมายโทรคมนาคม เพื่อขายหุ้นโทรคมนาคมให้เทมาเส็กฯ การประกาศยุบสภาของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ปี2549 จนทั้งกระทั่งมาถึงการรัฐประหาร และยึดทำเนียบฯ ปิดสนามบิน
ด้านนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่แทรกแซงองค์กรอิสระและส.ว. การใช้อำนาจเพื่อองค์กรของตัวเอง ขณะที่นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการรัฐประหารปี 49 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ และการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่การยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้มวลชนที่สนันสนุนคนกลุ่มนี้เกิดความไม่พอใจ ดังนั้นหากแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ จะสามารถแก้ปัญหาได้
นอกจากนี้การผ่อนคลายความขัดแย้งระยะเร่งด่วน คือ การแก้ไขให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวน 220 คน ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งจะต้องออกกฎหมายเพื่อแก้ไข และไม่สามารถทำประชามติตัดสินได้
นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ควรคืนความเป็นธรรมไม่เพียงแต่ ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง220 คน แต่ต้องเยียวยาให้แก่คนทุกกลุ่ม ทุกสี ร่วมทั้งข้าราชการต่างๆที่ถูกกล่าวหาจากอีกฝ่าย เพราะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมอนุกรรมการไม่ควรเป็นผู้ตัดสินว่าผิดหรือถูก เพราะเป็นนักการเมืองด้วยกัน ดังนั้นการจะให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้ผลกระทบ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม นายตวง ประธานอนุฯกรรมการได้รับปากว่าจะนำเสนอเรื่องการนิรโทษกรรม220 คน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้คนนอก เช่น นักวิชาการ ร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย

**"ศักดิ์"อ้างมี"ใบสั่ง"ให้ยุบพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมได้มีสีสันขึ้นเมื่อนายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากในการตัดสินคดีซุกหุ้น ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามี “ใบสั่ง” ในเรื่องการยุบพรรค โดยกล่าวว่าตนเคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตอนมีคำสั่งยุบพรรคได้ถามเพื่อนฝูงทุกคนแล้ว เห็นว่าไม่ควรยุบพรรค ควรแค่ลงโทษหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่พอจะเขียนคำวินิจฉัยปรากฎว่ามี “ใบสั่ง” ซึ่งไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง แต่ว่ามีใบสั่งมามันสร้างความสับสนให้ผู้พิพากษาทั้งหมด คำวินิจฉัยจึงออกมาน่าเกลียดมาก รวมทั้งเรื่องโมฆะการเลือกตั้ง และองค์กรอิสระ ก็เป็น ใบสั่ง และผลก็ออกมาอย่างที่เขาคาดการณ์ทุกเรื่องร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนไม่ยอมทำตามใบสั่ง จึงไม่เจริญถึงทุกวันนี้ ส่วนคนที่ทำตามใบสั่ง ก็เจริญรุ่งเรื่องเป็นใหญ่เป็นโต ดังนั้นเราต้องหาวิธีพิสูจน์ว่าใบสั่ง มีจริงหรือไม่ ถ้ามีต่อไปนี้ต้องเลิกเด็ดขาด
นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช อดีตผู้ว่าฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสัดส่วนของวุฒิสภาแย้งว่าได้ยินเรื่องใบสั่งก็หนักใจ แต่อยากถามว่า มีหลักฐานหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ละคนที่นั่งตรงนั้น เป็นผู้มีเกียรติ มีความรู้ มีฐานะทางสังคม ใครจะออกใบสั่งได้ อย่างเก่งออกได้แค่ 1-2 คน แต่ถ้าออกพร้อมกันทั้งคณะ เป็นเรื่องยาก
**อนุฯปฏิรูปการเมืองเน้นแก้ที่คน
เวลา 10.30 น. วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง โดยที่ประชุมมีมติ แต่งตั้ง นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา เป็นประธาน นายกฤษ อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็น รองประธาน และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นเลขานุการฯ
ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้อนุกรรมการแต่ละคนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเสียงอนุกรรมการเกือบทั้งหมด สมควรให้ มีการปฏิรูป คน วัฒนธรรมทางการเมือง การศึกษา รวมถึง บทบาทในภาคส่วนต่างๆ อย่างเช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนยุติธรรม ตลอดจน องค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ในส่วนประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อนุกรรมการ ได้มีความเห็นแย้ง เป็น 2 ฝ่าย ระหว่างผู้ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์
โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าหลักใหญ่ต้องปฏิรูปคน ด้วยการปรับตัวเข้าหารัฐธรรมนูญ เพราะคนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ถ้าจะปรับรัฐธรรมนูญเข้าหาคน ก็จะต้องมีการแก้ไขกันอยู่ตลอดเวลา
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราโดยเฉพาะ มาตรา 291 ที่ทำให้เกิดส.ส.ร. 3 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบางมาตราที่ไม่เป็นธรรม แต่จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง เช่น การยุบพรรค และอยากเสนอให้ตั้ง สภาปฏิรูป ประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ โดยอาจเป็นการดำเนินการภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น