xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “แก้ รธน.-นิรโทษกรรมฯ”...ทำให้สังคมสงบหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้ทุกพรรครวบรวมประเด็นที่จะแก้ รธน.ภายใน 2 สัปดาห์ โดยพร้อมรับฟังหากมีการเสนอให้แก้ปัญหาความผิดทางการเมืองที่เกิดจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมด้วย
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน

ไม่ว่าเหตุผลกลใดที่ทำให้ นายกฯ “อภิสิทธิ์” ออกมาส่งสัญญาณเปิดทางให้ทุกพรรคการเมืองเสนอประเด็นที่จะแก้ รธน.ใน 2 สัปดาห์นี้ แถมใจดีให้พ่วงเรื่องนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ทำผิดทางการเมือง เข้ามาได้ด้วย ทำเอาทั้งพรรคร่วม รบ.และพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้าน พากันเนื้อเต้น รีบสนับสนุนกันยกใหญ่ โดยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การแก้ รธน.และการนิรโทษกรรม นั้น จะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้ คำถามคือ ความแตกแยกและความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ “รธน.”ไม่ดี หรือว่า “คน” มีปัญหากันแน่

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ประสบความสำเร็จในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่ปิดถนนและก่อจลาจล เมื่อวันที่ 13 เม.ย.(โดยไม่มีผู้ชุมนุมรายใดเสียชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่ใช้แค่แก๊สน้ำธรรมดาสลายการชุมนุม ไม่ได้ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเหมือนที่รัฐบาลนายสมชาย น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เจ้าหน้าที่ใช้ปราบผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนหน้านี้) กระทั่งแกนนำ นปช.หรือม็อบเสื้อแดงยอมประกาศยุติชุมนุม (14 เม.ย.) เพราะเกรงจะถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมรอบสอง แต่ยังมีการเคลื่อนไหวประปรายของเหล่าเสื้อแดงในต่างจังหวัดนั้น

ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ ได้ออกมาส่งสัญญาณสะท้านสังคม 2 ประการ ผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” (19 เม.ย.) คือ 1.เปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองไปรวบรวมปัญหาของ รธน.2550 ว่ามีจุดใดไม่เป็นกลางและไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไข รธน.โดยให้เวลาแต่ละพรรคไปพิจารณา 2 สัปดาห์ จากนั้นจะนำประเด็นที่ได้มาขอฉันทามติจากสังคมว่าควรจะแก้ไขด้วยวิธีใด โดยเชื่อว่า จะใช้เวลาไม่นาน 2.นายอภิสิทธิ์ บอกว่า พร้อมรับฟัง หากมีการเสนอว่าควรแก้ไขความผิดทางการเมืองที่เกิดจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่จะต้องไม่รวมความผิดทางอาญา เช่น การก่อจลาจลหรือยุยงปลุกปั่น หรือการใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้องหรือการทุจริตคอร์รัปชั่น(น่าจะหมายถึงคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ) ซึ่งหลายฝ่ายตีความตรงกันว่า คำพูดดังกล่าวเท่ากับว่า นายอภิสิทธิ์ พร้อมพิจารณาหากมีการเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้บรรดานักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากกรณียุบพรรค (ประกอบด้วย 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และ 109 อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย)

หลัง นายอภิสิทธิ์ ส่งสัญญาณดังกล่าว ปรากฏว่า ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างออกอาการกระดี๊กระด๊าดีใจจนเก็บอาการไว้ไม่อยู่ สังเกตได้จากนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีอุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินคนใหม่ บอกว่า “ผมอยู่ในการเมืองมากว่า 30 ปี พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจาก รธน.เพราะมีการมองกันว่า รธน.ถูกเขียนโดยคนอื่น ไม่ใช่พรรคการเมือง วันนี้จึงต้องฟังว่าพรรคการเมืองมีความเห็นอย่างไร”

ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็บอกว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองไม่ได้กระทำผิด พร้อมเชื่อว่า การนิรโทษกรรมทางการเมืองจะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเดินหน้าต่อไป

ขณะที่นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นอกจากจะสนับสนุนการแก้ไข รธน.และการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากกรณียุบพรรคแล้ว ยังพยายามหาข้ออ้างเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการนิรโทษกรรมในคดีต่างๆ ด้วย เพื่อจะได้กลับเข้ามาเล่นการเมืองอีกครั้งได้ โดย นายพีรพันธุ์ บอกว่า อยากให้แยกแยะว่า ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นความผิดในคดีอาญาหรือเป็นความผิดทางการเมืองกันแน่ เพราะความผิดที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.เกิดจากการยึดอำนาจ และตั้งคนที่เป็นศัตรูกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตรวจสอบ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ส่วนท่าทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อการแก้ รธน.และการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรคนั้น นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานพันธมิตรฯ ชี้ว่า แนวคิดดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ได้แล้ว ยังจะเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองด้วย พร้อมเชื่อ หากมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองจริง ต่อไปก็จะมีการรุกคืบให้มีการนิรโทษกรรมในคดีอาญาตามมาแน่นอน เพราะนักการเมืองหลายคนมีความผิดทั้งคดีการเมืองและคดีอาญา ดังนั้น แกนนำพันธมิตรฯ คงต้องหารือเพื่อกำหนดท่าทีอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ก่อนที่แนวคิดการแก้ รธน.และการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะถูกพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ลองไปฟังความรู้สึกของฝ่ายต่างๆ ในสังคมกันว่า การแก้ รธน.และการนิรโทษกรรมนั้น จะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ได้จริงหรือ?

ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด พูดถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า พร้อมรับฟังหากมีการเสนอเรื่องนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีความผิดทางการเมืองหรือผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากคดียุบพรรคว่า คิดว่า ถ้าดูหัวใจของนายกฯ คนนี้แล้ว น่าจะยังยืนหยัดอยู่กับสิ่งที่จะไม่ก่ออันตราย หรือก่อโทษในระยะยาว สังเกตได้จากนายอภิสิทธิ์ได้ประกาศต่อสื่อมวลชนตั้งแต่แรก ว่า จะจัดการระบบการเมืองที่ล้มเหลว ดังนั้นเมื่อชัดเจนว่าระบบการเมืองที่ล้มเหลว เกิดจากพฤติกรรมของนักการเมืองที่ทำผิดจนพรรคถูกยุบและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ดังนั้น หากให้บุคคลเหล่านี้กลับเข้าสู่การเมือง ย่อมทำให้การแก้ไขระบบการเมืองที่ล้มเหลว ทำได้ยาก

ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ ให้ทุกพรรคเสนอว่า จะแก้ รธน.มาตราไหนบ้าง โดยให้เวลา 2 อาทิตย์ แล้วค่อยหาฉันทามติจากสังคมว่าจะแก้อย่างไร โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานนั้น ทพ.ศุภผล บอกว่า ขณะนี้สังคมอึมครึม สับสน และมีเงื่อนไขที่พร้อมจะเกิดมิกสัญญีได้ตลอดเวลา จึงไม่แน่ใจว่า หากมีการขับเคลื่อนเรื่องแก้ รธน.จริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น

“ผมคิดว่า ณ เวลานั้นก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้สภาวะเมืองไทย ผมมองว่ามันเหมือนกับมีสถานการณ์ที่เป็นกระแสวิ่งคู่ขนานกันไปหลายกระแส คือ ต้องอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่จะจัดการ คล้ายๆ มันกำลังเป็นสัญญาณของมิคสัญญี ... หมายความว่า ณ เวลานี้ มันมีเงื่อนไขพร้อมจะเกิดมิคสัญญีตลอดเวลา สังคมอึมครึม สับสนไปหมด ไม่รู้ใครเป็นใคร ในต่างจังหวัด ก็คงเห็นข่าวว่า ยังมีการเคลื่อนไหว แจกใบปลิวเถื่อน โจมตีจาบจ้วงโดยเปิดเผยแล้วตอนนี้ สามารถพูดโดยเปิดเผยกับคนข้างบ้านเลยว่า คนนี้เป็นชู้กับคนนั้น อะไรต่ออะไร โดยไม่กลัวแล้ว นี่อันที่ 1 อันที่ 2 คือ กลุ่มใหม่ที่กำลังอาศัยสถานการณ์ เช่น เสื้อสีนี้ปลอมเป็นเสื้อสีนั้น แล้วก็สร้างละครฉากตีกัน เพื่อจะนำไปสู่การตายของคนนั้น การตายของผู้นำคนนี้ สังคมมันก็สับสน ยิ่งการยิงคุณสนธิ เป็นการตอกย้ำเลยว่ามิคสัญญีมันมาถึงแล้ว บอก กูจะยิงมึงกลางเมือง ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี่แหละ ใครจะทำไม อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นกระแสแบบนี้ ถ้าไม่ยับยั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยเทคนิคทางการเมือง ด้วยการปรับเปลี่ยนโยกย้าย บริหารจัดการภายในพรรคประชาธิปัตย์ ภายในกองกำลังที่รัฐบาลจะต้องใช้ที่เป็นกลไกอำนาจรัฐปั๊บ ผมคิดว่ามิคสัญญีมันก็จะ เมื่อเหตุปัจจัยมันประชุมรวมพร้อมกันแล้ว ฝ่ายเสื้อสีน้ำเงินหรือฝ่ายที่มันจงใจก่อเหตุการณ์เนี่ย มันพร้อมแล้ว เวลานั้นนายกฯ ก็จะโดดเดี่ยว เหมือนหนังเรื่อง โดดเดี่ยวผู้น่ารัก เพราะฉะนั้นถึงเวลานั้นปั๊บ คุมอะไรก็ไม่อยู่แล้ว”

ขณะที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา พูดถึงเรื่องการแก้ รธน.ว่า ก่อนจะแก้ ต้องมีงานวิจัยหรือมีหลักฐานที่พอเชื่อได้ว่า รธน.สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติจริงๆ และผู้เสนอให้แก้ ก็ควรมาจากคนกลาง ไม่ใช่ให้นักการเมืองที่กระทำผิด ซึ่งเปรียบเสมือน “ผู้ต้องหา” มาเป็นผู้เสนอ ส่วนการนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคนั้น นายวรินทร์ ก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะนักการเมืองเหล่านั้นคือผู้ที่ทรยศต่อคะแนนเสียงที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน

“ผมถือว่าเป็นเรื่องการไม่เคารพกติกาที่ถูกกำหนดแล้ว และที่สำคัญที่สุด ก็คือ โทษที่จะนิรโทษกรรมเนี่ย มันเป็นโทษทางการเมือง โทษการเมืองมันเป็นเรื่องที่คุณได้ทรยศกับคะแนนเสียงที่เป็นประชาธิปไตย ตรงนั้นถือว่าการลงโทษทางการเมืองเนี่ย คุณต้องเคารพกติกา นี่พบว่าคุณได้ใช้อำนาจของประชาชนไป และไม่ดูแล จะรู้หรือไม่รู้ คุณไม่ดูแลที่จะให้พรรคปฏิบัติตามกฎหมาย (ถาม-เพราะฉะนั้นไม่เชื่อว่า ถ้านิรโทษกรรม จะนำไปสู่ความสงบหรือยุติความขัดแย้งได้?) ไม่หรอก จริงๆ แล้วคนกลุ่มนั้นล่ะคือตัวปัญหา ถ้าคนกลุ่มนั้นไม่ออกมาเคลื่อนไหว ปัญหามันก็ไม่เกิดหรอก (ถาม-แล้วเรื่องแก้ รธน.นายกฯ บอกว่า จะให้ทุกพรรคเสนอมาว่าจะแก้อะไรบ้าง ซึ่งนักการเมืองบางคนบอกว่า ต้องแก้เรื่องเลือกตั้ง ส.ส.ต้องเขตเดียวเบอร์เดียว, ส.ว.สรรหาไม่ต้องมี ต้องแก้มาตรา 237 (การยุบพรรค) และ 190 ตรงนี้คิดอย่างไร?) จริงๆ แล้วผมถามว่า มันมีงานวิจัยหรือยังล่ะว่า สิ่งที่ต้องแก้เนี่ย มันใช้ไม่ได้ หลายๆ เรื่องมันอยู่ใน รธน.2540 ถามว่าถ้าแก้ ผมโอเคถ้าแก้ได้ ถ้ามีงานวิจัยออกมาว่ามันไม่ดี แต่เราฟังเหตุผลแล้วเนี่ย กลายเป็นว่านักการเมือง คนผู้ต้องหาเองเนี่ย คนกระทำความผิดเองออกมาเป็นคนแก้นะ คนกลางๆ เขายังไมพูดเลย แล้วคนกลางที่ออกมาพูดก็ไม่ใช่คนที่เป็นสายตรงของ รธน. เวลาจะอธิบายกฎหมาย รธน.มันต้องอธิบายด้วยอำนาจของกฎหมายมหาชน ไม่ใช่อธิบายด้วยสิทธิเสรีภาพของคนธรรมดา”

ด้าน อ.คมสัน โพธิ์คง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการภายใน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 มองว่า การแก้ รธน.นอกจากจะไม่ช่วยลดความขัดแย้งแล้ว น่าจะเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นด้วย เพราะความขัดแย้งจริงๆ คือการต่อสู้ระหว่างคนที่เอาระบอบทักษิณกับคนที่ไม่เอาระบอบทักษิณ ส่วน รธน.ไม่ใช่ตัวปัญหา ดังนั้น หากมีการแก้ รธน. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างรุนแรง

ส่วนกรณีที่นายกฯ ส่งสัญญาณเรื่องแก้ รธน.และการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น อ.คมสัน เชื่อว่า น่าจะเป็นเพียงเกมของนายกฯ ที่ต้องการลดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า ซึ่งรัฐบาลคงไม่คิดสั้นด้วยการทำอะไรที่สวนกระแสสังคมแน่

“ก็เป็นเรื่องของการวางเดินเกมทางการเมืองของนายกฯ เพื่อจะวางหลักการดังกล่าวเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอดได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะไปลดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าเราดูให้ดีแล้วจะพบว่า ภายในรัฐบาลเนี่ย พรรคร่วมรัฐบาลก็มีปัญหาเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร ที่พยายามกดดันให้รัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์พยายามแก้ไข รธน.เพื่อเอื้อกลุ่มพวกตัวเองให้สามารถกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พวกนี้พยายามที่จะกลับเข้ามามีอำนาจอีก เพื่อให้คนของตัวซึ่งถูกบ้านเลขที่ 111 โดนตัดสิทธิทางการเมืองไป โดนอยู่ในกลุ่ม 109 คน กลับเข้ามาทางการเมืองได้อีก พวกนี้ก็คือ ผมคิดว่าเป็นจิตวิทยาที่จะทำให้พรรคเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้กติกาการควบคุมของพรรคประชาธิปัตย์เอง แต่ถามว่าจริงใจถึงขนาดจะแก้ไขจริงหรือเปล่า ผมคิดว่าโจทย์ตรงนี้ยาวนะ ถ้ารัฐบาลคิดสั้น แก้ไขตามความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว กระแสสังคมจะไม่ตอบรับพรรคประชาธิปัตย์ คือ ตอนนี้เขาได้คะแนนเสียงจากการที่สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่คะแนนนี้ไม่ได้มีตลอดไปนะ คะแนนนี้มันเหวี่ยงขึ้น-ลงได้ตามพฤติกรรมหรือการกระทำของท่านนายกฯ เอง ของคนในรัฐบาลเองที่ทำอะไรออกมาแล้วมันจะส่งผลต่อคะแนนเสียงเหล่านี้ ผมคิดว่าประเด็นสำคัญเรื่องนี้ ถ้าถามว่าสถานการณ์เหมาะที่จะแก้ไข รธน.มั้ย ก็ต้องตอบว่า ยังไม่เหมาะที่จะแก้ไข รธน.รัฐบาลออกมาพูดตรงนี้ ผมคิดว่าเป็นเชิงของเกมมากกว่า เกมสร้างเสถียรภาพให้กับตัวรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เอง”

ส่วนกรณีที่รัฐบาลยังคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน กทม.นั้น อ.คมสัน เห็นด้วยว่า จำเป็นต้องคงไว้ในขณะนี้ แต่ไม่สามารถคงไว้ได้ตลอดไป ดังนั้น รัฐบาลควรใช้เวลาที่มีอยู่น้อยในช่วงนี้ที่ประชาชนยังให้โอกาส หลังเทคะแนนให้รัฐบาลจากการสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง โดยรัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น ต้องรีบจัดการแกนนำคนเสื้อแดงที่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว จัดการเจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายของรัฐบาล หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการ ต่อไประบบอุปถัมภ์ในระบอบทักษิณก็จะฝังเข้าไปในระบบข้าราชการ กลายเป็นปัญหาระยะยาว ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจไม่มีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกเลยก็ได้ในอนาคต

ขณะที่ นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา แม้จะเห็นด้วยที่รัฐบาลคงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน กทม.ต่อไป แต่เสนอว่า รัฐบาลน่าจะประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” ด้วย เพราะการประกาศแค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะน้อยไป เนื่องจากปัจจุบันเกิดปัญหาว่าไม่สามารถสนธิกำลังได้ เพราะหน่วยที่จะใช้กำลังไม่ยอมสนธิกำลัง ดังนั้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากใช้กฎอัยการศึก จะสามารถดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อรักษาความสงบ และอำนาจอธิปไตยของรัฐ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามปกติและระบุอยู่ใน รธน.ทุกฉบับ ไม่ใช่เรื่องการปฏิวัติแต่อย่างใด!!
ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม และ หน.พรรคเพื่อแผ่นดิน หนุนแก้ รธน.โดยอ้างว่า รธน.มีปัญหา เพราะไม่ได้ฟังเสียงพรรคการเมือง
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และ หน.พรรคภูมิใจไทย หนุนออก กม.นิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค
พีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และ ปธ.ฝ่าย กม.พรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณว่า พ.ต.ท.ทักษิณควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วย
สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ชี้ การแก้ รธน.และนิรโทษกรรมฯ จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น
ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชา ปชช.ภาคอีสาน 19 จังหวัด ชี้ การแก้ รธน.อาจยิ่งทำให้บ้านเมืองเกิดมิคสัญญีมากขึ้น
วรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ค้านการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิฯ จากคดียุบพรรค
อ.คมสัน โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 ยืนยัน รธน.ไม่ใช่ตัวปัญหา การแก้ รธน.จึงไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น