“คมสัน” ยกกฎหมายตีแสกหน้า “เพื่อไทย” หลังฟูมฟายโยนบาป “รัฐบาล” ทำผิดกฎหมาย ระบุชัด “แถลงนโยบาย” ต้องกระทำต่อ “สถาบันรัฐสภา” ไม่ใช่แถลงต่อ “ตัวอาคาร” ด้าน “พีระพันธุ์” แจงชัดเปลี่ยนสถานที่ เหตุเพราะไม่ต้องการให้เกิดการปะทะเหมือน “7 ต.ค.เลือด” กร้าวดำเนินการกับ “เวปหมิ่นสถาบัน” ขั้นเฉียบขาด
วานนี้ (30 ธ.ค.) รายการรู้ทันประเทศไทย ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายคมสัน โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผู้ร่วมดำเนินรายการด้วย โดยกล่าวถึงประเด็นกล่าวถึงข้อกฎหมายกรณีที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงกลุ่ม นปช.ซึ่งไปปิดล้อมรัฐสภาฯ โดยย้ายไปแถลงนโยบายที่กระทรวงต่างประเทศ ว่า การที่รัฐบาลไปแถลงนโยบายที่กระทรวงต่างประเทศนั้น ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ แต่รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ว่า รัฐบาลจะต้องแถลงนโยบายต่อสถาบันรัฐสภา ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวอาคารรัฐสภา ฉะนั้นการที่รัฐบาลไม่ได้แถลงนโยบายที่สภาฯ จึงสามารถกระทำได้หากมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งไม่สามารถประชุมสภา ก็สามารถหาที่ประชุมที่อื่นได้
ส่วนจะผิดข้อบังคับการประชุมสภา หากไม่ประชุมในสภาหรือไม่นั้น นายคมสัน กล่าวว่า โดยข้อบังคับดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า ประธานสภาจะแจ้งเลื่อนการประชุมสภา ต้องแจ้งสมาชิกสภาล่วงหน้า 3 วัน แต่ถ้าหากมีเหตุจำเป็นกรณีเร่งด่วนที่ไม่สามารถประชุมได้ ก็สามารถแจ้งในที่ประชุมก็ได้ แต่โดยมากแล้วการนัดประชุมเพื่อแถลงนโยบายนั้น จะมีการทำวาระการประชุมล่วงหน้าเอาไว้แล้ว ส่วนจะแถลงนโยบายได้ หรือจะมีการเลื่อนประชุมนั้น ถือเป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัย ดังนั้นที่ระบุว่า หากรัฐบาลไปแถลงนโยบายด้านนอกที่ไม่ใช่รัฐสภาจึงสามารถกระทำได้ เพราะคำว่ารัฐสภาหมายถึงคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายคมสัน ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุมสภา แล้วจะถือว่าไม่ครบองค์ประกอบของการประชุมสภาหรือไม่ว่า อยู่ที่ว่ามีการเชิญ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านหรือไม่ แต่ถ้าได้มีการเชิญแล้วไม่มาประชุมสภา ถือเป็นเรื่องความรับผิดชอบของสมาชิกสภาเอง แต่ถ้าองค์ประชุมครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ถือว่าที่ประชุมสภาสามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนหากฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวนั้น สามารถทำได้หากมีข้อสงสัยในกรณีที่รัฐบาลกระทำไม่เหมือนปกติ แต่ในเชิงหลักวิชาการแล้ว การแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้น จะต้องแถลงนโยบายต่อสถาบันรัฐสภา ซึ่งหมายถึง ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ไม่ใช่แถลงต่อตัวตึกรัฐสภา
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเร่งแถลงนโยบายนั้น นายคมสัน กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วคาดว่า ฝ่ายการเมืองคงมองว่า หากเจรจาแล้วคงไม่เกิดผลอะไรมากนัก เพราะถึงอย่างไรแล้วทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็คงไม่ต้องการให้เกิดการประชุมสภา ดังนั้น รัฐบาลจึงแถลงนโยบาย เพราะถึงอย่างไรการเจรจาก็คงไม่เกิดผลสำเร็จ ส่วนที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงแถลงนโยบายเหมือนรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยใช้กำลังตำรวจสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเข้าไปประชุมในรัฐสภานั้น ตนคิดว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันคงดูจากบทเรียนที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากเป็นคดีเหมือนกับรัฐบาลชุดที่แล้ว
“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเร่งแถลงนโยบายของรัฐบาล เพราะเวลาที่กำหนดไว้ 15 วันนั้น สามารถยืดหยุ่นได้ ยกตัวอย่าง หากเกิดน้ำท่วมรัฐสภาขึ้นมา แล้วจะไปแถลงนโยบายที่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวถือรัฐบาลแถลงนโยบายถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว” นายคมสัน กล่าว
ด้าน นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นักกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่ารัฐบาลแถลงนโยบายผิดกฎหมายว่า ในเชิงกฎหมายแล้ว ถือว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งความเป็นจริงแล้วเงื่อนเวลา 15 วันของการแถลงนโยบายนั้น เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่จะต้องแถลงนโยบาย แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่อยู่เหนืออำนาจที่จะเข้าควบคุมนั้น ฉะนั้นเงื่อนเวลา 15 วัน จึงไม่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องความสง่างามนั้น หากพิจารณาแล้ว ก็คงต้องเกิดปัญหาตามมา เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างแน่นอน รวมทั้งจะมีการโต้แย้งกันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นทางออกที่จะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง
“ผมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะรัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อคณะรัฐสภา ไม่ใช่ตัวอาคารรัฐสภา เพราะเมื่อใดที่สมาชิกสภาไปร่วมกันประชุมที่ใด ก็ถือว่าเป็นเป็นคณะองค์ประชุมแล้ว เหมือนกับกรณีที่รัฐบาลที่ผ่านมา ไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่ จ.เชียงใหม่ หรือที่ จ.ต่างๆ ดังนั้นการที่สมาชิกสภาไปประชุมยังสถานที่อื่นๆ จึงถือว่าไม่ได้กระทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าความสง่างามเทียบไม่ได้กับการแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่เรายอมที่จะไม่สง่างามเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเร่งแถลงนโยบายนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมีภารกิจเยอะมาก ประกอบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะเร่งทำงาน เพราะไม่ต้องการให้เวลาหายไปแม้แต่วันเดียว รวมทั้งนายกฯ ยังต้องการให้งานทุกอย่างเดินหน้าอย่างเต็มที่ และทางกระทรงยุติธรรมจะดำเนินการกับผู้ที่กระทำผิดโดยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเฉียบขาด ซึ่งถือเป็นภารกิจที่กระทรวงยุติธรรมต้องเร่งดำเนินการ โดยจะประสานไปยังกระทรวงไอซีทีให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ซึ่งดูแลเรื่องนี้มีเพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่กฎหมายของไอซีทีสามารถตั้งคณะทำงานขึ้นมาได้ ฉะนั้นคงต้องไปขอให้กระทรวงไอซีที ตั้งคณะทำงานที่มีทหารเป็นเจ้าหน้าที่ขึ้นมาด้วย