ก่อนหน้านี้หากไปค้นข้อมูลเก่าๆก็จะพบว่ามีการเกี่ยวโยงไปในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทบทั้งสิ้น ที่ต้องการนำเงินกองทุนกบข.ที่มีจำนวนสินทรัพย์จำนวนมหาศาลไปลงทุนเพื่อหากำไร โดยมีวาระซ่อนเร้นซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย
การขาดทุนหลายหมื่นล้านบาทของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีข้าราชการทั่วประเทศเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 1.17 ล้านคน และมีสินทรัพย์เกือบสี่แสนล้านบาท ได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับบรรดาข้าราชการที่จ่ายเงินสะสมให้กับกองทุนดังกล่าว เพื่อหวังเก็บดอกเก็บผลไว้กินในยามเกษียณอายุราชการ
เมื่อผลการบริหารที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใส ออกมาในทางตรงข้าม เกิดการลุกฮือประท้วง และทำท่าจะลุกลามออกไปเรื่อยๆ หากไม่ชี้แจงให้กระจ่างชัดจนพอใจ
จากการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) ตามข้อร้องเรียนของข้าราชการจำนวนหนึ่งพบว่ามีการบริหารขาดทุนทำท่าจะ “บักโกรก” อยู่รอมร่อ
ขณะที่ฝ่ายกบข.ก็ออกมาชี้แจงยืนยันว่ามีการขาดทุนแค่ 5.8 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้สบายใจโดยเปรียบเทียบผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ตั้งกองทุนว่ามีเท่ากับร้อยละ 7.04 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.26
ยังอ้างอีกว่า ผลจากการขาดทุนดังกล่าวเกิดจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลมาถึงภายใน และบอกว่าให้รอไปอีกไม่นานเมื่อทุกอย่างฟื้นตัวคืนสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ทุกอย่างก็จะกลับมามีกำไรอีกครั้ง อ้างว่าหุ้นที่ถืออยู่นั้นมีพื้นฐานดี
ประเภทการลงทุนมีความเสี่ยง ซื้อหุ้นก็ต้องมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา อะไรประมาณนั้น
ก่อนหน้านี้หากไปค้นข้อมูลเก่าๆก็จะพบว่ามีการเกี่ยวโยงไปในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทบทั้งสิ้น ที่ต้องการนำเงินกองทุนกบข.ที่มีจำนวนสินทรัพย์จำนวนมหาศาลไปลงทุนเพื่อหากำไร โดยมีวาระซ่อนเร้นซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย
มีทั้งเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้มีการลงทุนโดยขยายวงเงินเพิ่ม รวมทั้งลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้
จากข้อมูลที่รับรู้มาการลงทุนของกบข.ที่ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนในหุ้นบริษัทของกลุ่มอำนาจเก่าประเภท “ขาใหญ่” ในตลาดไม่ว่า กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์(QH) ของกลุ่มอัศวโภคิน และบริษัทยานภัณฑ์(YNP) ของ วิชัย ทองแตง อดีตทนายความประจำตัวของ “เสี่ยแม้ว”
การตรวจสอบ “วงใน” ยังพบอีกว่า กบข.ได้เข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2550 แต่จากนั้นถัดมาในปี 2551 มูลค่าหุ้นได้ลดลง แต่กลับลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกเหนือจากนี้ หุ้นในกลุ่มบริษัทยานภัณฑ์ถูก “ขึ้นบัญชีดำ” จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ว่าเป็น “หุ้นปั่น” ก็ยังเข้าไปช้อนซื้อเพิ่มอีก
ข้อสังเกตก็คือว่า กองทุนกบข.ซึ่งมีสินทรัพย์จำนวนมหาศาล มีเครดิตสูงเมื่อเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทใดก็ยิ่งทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เป็นการทำกำไรในลักษณะ “การปั่น” ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มทุนบางกลุ่มในรัฐบาลก่อนเคยใช้อยู่เนืองๆ แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ถนัด เพราะกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
แต่เมื่อน้ำลดตอก็ผุด
นอกจากนี้การขาดทุนที่เหลือยังไปเกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนต่างประเทศซึ่งขาดทุนผสมปนเปกันไปเมื่อปี 2551 อีกนับหมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันมองในมุมการเมืองถือว่า เมื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ มาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้ามาควบคุมกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นต้นสังกัดของหน่วยงาน กบข.โดยตรงก็ย่อมเป็น “โอกาสทอง”ในการกวาดล้างบรรดาผู้บริหารที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างชอบธรรม แล้วจัดระเบียบใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอย ปราศจากทุนการเมืองสามานย์เข้ามาหาประโยชน์ เสียที
ที่สำคัญยังมีกระทรวงยุติธรรมที่มีหน่วยงานตรวจสอบคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รวมทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) และ ป.ป.ท.ซึ่งที่ผ่านมาได้นำร่องไปล่วงหน้าจนเกิดการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่
เพราะเชื่อว่ายังมีปัญหาที่ซุกซ่อนไว้ใต้พรมอีกมากมาย แม้จะรู้ดีว่าเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” แต่ช่วยไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการ
ดังนั้นในบรรยากาศแบบนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลในยุคประชาธิปัตย์น่าจะฉวยจังหวะเดินหน้าแน่นอน !!