“มาร์ค” ปลอบใจสมาชิก กบข.เข้าขอความเป็นธรรม ยืนยัน รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ “คลัง-ป.ป.ท.” พร้อมตรวจสอบ แก๊งนักการเมืองจับมือ บิ๊ก กบข.ปั่นหุ้น โยงใยมาเฟียขาใหญ่ใน ก.ล.ต.แนะเป็นบทเรียนให้ผู้บริหารทุกกองทุน ทั้งของรัฐและเอกชน เตรียมปลดล็อก สปส.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการติดตามแก้ปัญหาภาวะขาดทุนจากการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หลังจากสมาชิก กบข.ได้เข้าร้องเรียนต่อ โดยระบุถึงประเด็นในส่วนของการขาดทุน เนื่องจากมีข้อสงสัย ว่า เป็นเพราะบริหารงานผิดพลาด มีความโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลคงต้องมีการตรวจสอบกันไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกระทรวงการคลัง จะตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมาชิก กบข.นั้น ตนเองได้มอบหมายให้ไปดูแล้ว ถ้าหากกระทบสิทธิ์จริงๆ ก็ต้องพยายามดูว่าจะต้องมีวิธีการอย่างไร แต่เบื้องต้นขณะนี้สิทธิ์ของผู้ที่เกษียณอายุราชการในช่วงนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบ หรือถ้ามีก็ต้องร้องเรียนเข้ามา รัฐบาลก็จะดูแล
เมื่อถามว่า ดูเหมือนข้อมูลระหว่าง ป.ป.ท.กับ กบข.ไม่ตรงกัน เหตุใดจึงไม่มีการชี้แจงให้หายข้อสงสัย นายกรัฐมนตรี กล่าวเข้าใจว่า กบข.เป็นคนเสนอให้ ป.ป.ท.เข้ามาสอบ ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็อยากจะสอบด้วย ก็เลยเชิญ ป.ป.ท.เข้าไป แต่ ป.ป.ท.บอกว่า ถ้าจะสอบก็จะสอบของเขาเอง
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีวิจารณ์ ว่า กบข.นำเงินไปซื้อหุ้นจนขาดทุน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการไปแก้ไขกฎหมายในช่วงช่องหน้านี้ ว่า ให้สามารถเพิ่มในเรื่องการลงทุนในส่วนของหุ้นได้ โดยกฎหมายกำหนดเพดานไว้ว่า ต้องเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งก็ถือเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่คล้ายๆ กับทุกกองทุนทั้งของรัฐและเอกชน ว่า เวลาช่วงบูมมากๆ ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดี แต่ก็ต้องระวังและอย่าไปคิดว่ามันจะดีอย่างนี้ไปตลอด
เมื่อถามว่า แต่กองทุนของข้าราชการไม่ควรถูกนำไปเสี่ยงกับการลงทุนลักษณะนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กฎหมายก็มีการจำกัดเพดานอยู่ ดูทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ในบัญชีรวมว่าต้องเป็นอย่างไร ก็มีการทำบัญชีทั้งในส่วนกองรวม และในส่วนที่นำไปลงทุน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น ป.ป.ท.และกระทรวงการคลังจะเร่งตรวจสอบ
เมื่อถามว่า คิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการเมืองนำเงินลงทุนดังกล่าวไปปั่นหุ้นจนทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ตนก็ให้ผู้เกี่ยวข้องไปสอบตรงนี้มาให้หมด รวมทั้งในส่วนของกองทุนประกันสังคม ตนจึงพยายามผลักดันให้สำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) ออกมาเป็นองค์กรอิสระ
ก่อนหน้านี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า รูปแบบการลงทุนของ กบข.มีการเกี่ยวโยงไปในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทบทั้งสิ้น ซึ่งมีการนำเงินกองทุน กบข.ที่มีจำนวนสินทรัพย์จำนวนมหาศาลไปลงทุนเพื่อหากำไร โดยมีวาระซ่อนเร้นซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย ทั้งการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้มีการลงทุน การขยายวงเงินเพิ่ม รวมทั้งการลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ การลงทุนของ กบข.ที่เกิดความเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนในหุ้นบริษัทของกลุ่มทุนเก่าที่เป็นขาใหญ่ประจำตลาดหุ้นไทย อาทิ กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) และ ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ของกลุ่มอัศวโภคิน และกลุ่มยานภัณฑ์(YNP) ของ นายวิชัย ทองแตง อดีตทนายความชื่อดังประจำตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยพบว่า กบข.ได้เข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2550 แต่ในปีถัดมา 2551 มูลค่าหุ้นได้ลดลง แต่พบว่า กบช.กลับเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
ประเด็นที่บ่งชี้ว่า กบข.มีการลงทุนที่น่าสงสัย เพราะไปซื้อหุ้นในกลุ่มบริษัทยานภัณฑ์ ของนายทองแตง ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะเป็นหุ้นปั่น แต่กลับเข้าไปช้อนซื้อเพิ่มอีก โดยมีไม่มีการท้วงติง ตักเตือน หรือคาดโทษ ทั้งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งผู้บริหาร ตลท.และผู้บริหาร ก.ล.ต.ทราบกันดี เนื่อจากเกรงกลัวอิทธิพล เพราะมีคนในตัวใหญ่เอี่ยวผลประโยชน์กับทุนการเมืองเก่า และนั่งทับข้อมูลทั้งหมดไว้ ขณะที่หลักฐานหลายอย่างก็ได้มีการทำลายตัดวงจรไปแล้ว