กกต.เปิดงบการเงินปี 48 พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบเงินบริจาค 250 ล้าน ชี้ หากหมกเม็ดแม้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 41 ยกเลิกแล้ว ก็ยังตรวจสอบเส้นทางย้อนหลังได้ เหตุความผิดยังดำเนินต่อเนื่อง ด้าน “ประชัย” กลับลำอ้างสื่อมั่วข่าว ปฏิเสธไม่เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับให้เงิน แก้เกี้ยวจ่ายเงินค่าโฆษณาจริง แต่เป็นโฆษณาทีพีไอ
วันนี้ (13 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงาน กกต.ว่า กรณีพรรคเพื่อไทย ระบุว่า นายประชัย เลี่ยวไพรัช อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย บริจาคเงินให้กับพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 250 ล้านบาทนั้น ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า รายงานงบการเงินของพรรคการเมืองปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ถูกระบุว่ามีการบริจาคเงินดังกล่าว ที่ กกต.เป็นผู้จัดทำขึ้น จากการรายงานงบการเงินประจำปีที่ แต่ละพรรคเสนอมา ในปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีรายรับจากการบริจาคประมาณ 38 ล้านบาท และมีรายรับจากการจัดระดมทุน 43 ล้านบาทเศษ ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานการรับเงินบริจาค 250 ล้านบาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ถ้าหากมีการบริจาคเกิดขึ้นจริง ก็จะเท่ากับว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความผิดตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2541 ที่บังคับใช้ขณะนั้น ซึ่งระบุว่า เมื่อมีการบริจาคเงินแก่พรรคการเมือง ให้พรรคออกหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ผู้บริจาค และให้เปิดเผยรายชื่อผู้บริจาค พร้อมจำนวนเงินที่ได้รับ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตาม มาตรา 86 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 3 เท่าของจำนวนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้พรรค หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 5 ปี
นอกจากนี้ ในมาตรา 53(3) ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุน หรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ดังนั้น การบริจาคเงิน 250 ล้านบาทของบริษัท ทีพีไอ หากในขณะที่บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสัญชาติไทย เกินกว่าร้อยละ 25 ก็มีสิทธิ์ทำให้การรับเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์เข้าข่ายมาตรา 66(4) ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคได้
ส่วน การที่มีข่าวว่า นายประชัย ออกมาชี้แจงว่า เป็นการจ่ายค่าโฆษณาให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านบริษัท แมสไซอะ นั้น การให้ค่าโฆษณาก็เท่ากับว่าเป็นการบริจาคอย่างหนึ่ง เพราะตามกฎหมายบัญญัติความหมายของการบริจาคให้หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดการอาจคำนวนเป็นเงินได้ ซึ่งการจะจ่ายค่าโฆษณาให้พรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับเป็นประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวณเป็นเงินได้ และตามหลักความเป็นจริงแล้ว นายประชัย ก็ต้องแจ้งให้ทางพรรคประชาธิปัตย์ทราบ เพราะทางพรรคจะต้องมีการายงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้กับทาง กกต.ทราบ ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีการคำนวณเงินค่าโฆษณาที่ นายประชัย จ่ายให้ และลงบัญชีรายรับจากการบริจาค เพื่อแจ้งต่อ กกต.ภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการบริจาค ซึ่งบัญชีดังกล่าวจะต้องปรากฏต่อ กกต.ในการรายงานงบดุลประจำปีต่อ กกต.แต่ก็ไม่พบว่ามีการรายงานเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 และขณะนี้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 41 ก็ไม่ได้ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่แนวปฏิบัติในการรับบริจาค และข้อห้ามในการรับบริจาคต่างๆ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 41 ก็มีบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.พรรคการเมือง 50 ซึ่ง กกต.ชุดปัจจุบันก็ยังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เพราะในมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 บัญญัติ ให้ประธาน กกต.ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.และให้สำนักงาน กกต.มีหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมืองและการปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้นยังคงดำเนินมาจนถึงการบังคับใช้ของกฎหมายปัจจุบัน กกต.จึงสามารถที่จะเข้าไปควบคุมดูแลตรวจสอบได้ หากมีร้องเรียนเข้ามา
ด้าน นายประชัย เลี่ยวไพรัช อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และผู้บริหารบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด กล่าวว่า ขอปฏิเสธ ข่าวการให้เงินบริจาคกับพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2548 จำนวน 250 ล้านบาท ตามที่ปรากฏข่าวว่าตนได้ให้สัมภาษณ์ไปเช่นนั้น โดยข่าวที่ออกมาเป็นการโกหก หลอกลวง บิดเบือนข่าว ซึ่งตนไม่เคยให้สัมภาษณ์เลย ตั้งแต่ลาออกจากการเมืองไม่เคยคิดที่จะไปยุ่งเกี่ยว ไม่ทราบข่าวออกมาได้อย่างไร สื่อเขียนข่าวกันไปเอง
เมื่อถามว่า เงินจำนวน 250 ล้านบาท เป็นการส่งผ่านให้กับส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายประชัย กล่าวว่า เงิน 250 ล้านบาท เป็นเงินค่าทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริษัท ทีพีไอโพลีน อย่างเดียว ไม่เคยคิดที่จะนำเงินไปบริจาคให้กับพรรคการเมืองใดเลยทั้งสิ้น และเงินดังกล่าวไม่มีนโยบายไปช่วยเหลือพรรคการเมืองแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขอให้ไปตรวจสอบกับนายศิลปิน บูรณศิลปิน รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) เพื่อจะได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป