นายกรัฐมนตรีปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปี สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชื่นชมยึดหลักธรรมาภิบาลและซื่อสัตย์ในการบริหารองค์กร ฝ่าฟันความผันผวนทางการเมือง ทิ้งท้ายขอให้ฉีกแนวทางร่างแผนฉบับที่ 11 ให้มีความหลากหลายให้สมดุล ยึดหลักซื่อสัตย์-ธรรมาภิบาล-รับผิดชอบ แนะ“แผนประชาชน” เขียนเข้าใจง่าย มุ่งกระแสหลักดูแนวโน้มสังคม ประสานปรัชญาพอเพียง
วันนี้(13 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เพื่อกล่าวมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ และเข้าร่วมงานครบรอบ 59 ปี สภาพัฒนาฯ โดยกล่าวใจความตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมาต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากมาก ทำให้การทำงานต้องเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก สศช. เป็นทั้งมันสมอง ทั้งการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ของกระบวนการพัฒนาทั้งหมด รวมไปถึงในภาวะที่ 30-40 ปีที่แล้ว การเมืองมีความผันผวนไม่ลงตัว โดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตย หน่วยงานนี้สามารถทำหน้าที่เป็นหลักในการกำหนดทิศทางดูแลให้เกิดความต่อเนื่อง อย่างที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วทุกคนยอมรับว่า การมีแผนดังกล่าวเป็นส่วนแก้ปัญหาการเมืองไทยที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ในเชิงพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่อง แม้ว่าการพัฒนาส่วนใหญ่คนจะบ่นและเห็นปัญหาแต่ไม่ควรลืมหรือปฏิเสธความสำเร็จในช่วง 40-50 ปีที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยกระดับพ้นสภาพความยากจนรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคนมักมองข้ามตรงนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในปี40 การพัฒนาของเราถูกธนาคารโลกยกย่องให้เป็นแบบอย่างถือว่าเป็นปาฎิหารในเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ตนจำได้ว่าตั้งแต่ช่วงนั้น สศช.เป็นหน่วยงานตื่นตัว ได้รับแรงกดดันจากกระแสสังคมว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วสร้างปัญหาหลายด้าน ทั้งสังคม การกระจายรายได้ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งจากการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 8 มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เน้นเนื้อหาสาระให้สมดุลมากขึ้น พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจึงทำให้มีพระกระแสพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา และทางสศช.จึงมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระขึ้นมา จึง เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในสภาวะปัจจุบันสิ่งที่ท้าทายการทำงานของสศช. คือ 1.พัฒนาการระบอบประชาธิปไตย ในอดีตสศช. คิดกำหนดแผนยุทธศาสตร์มีความสามารถใช้บังคับได้อย่างจริงจัง บางยุครัฐบาลอยากทำโครงการถ้าไม่อยู่ในแผนก็ไม่ได้งบประมาณ ทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ให้ระบบการพัฒนาการบริหารงานต้องคำนึงถึงทิศทางการบริหารงานในระยะกลาง ระยะยาว แต่เมื่อระบบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างชัดเจน ระบบสังคมเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจพัฒนาไม่มาก เกิดระบบการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต เป้าหมายการพัฒนาจึงมีความหลากหลายแตกต่างชัดเจนขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีผู้กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมต้องเอา GDPเป็นตัววัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทำไมไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมในสังคม ซึ่งในสังคมประชาธิปไตย ต้องอยู่ที่กระบวนการของประชาชนกับการเมืองที่จะเป็นตัวตัดสิน จึงเป็นบทบาทในแง่การทำงานของสศช.ในกรอบของสังคมประชาธิปไตย ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องฉันทานุมัติในเชิงนโยบายมาทำงานสอดคล้องกับความจำเป็นในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ อยู่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่อง GDP ก็มีคนตั้งขอสังเกตมาว่าทำไมจึงไม่ใช้ดัชนีมวลรวมความสุข คนรุ่นใหม่คิดเรื่องนี้มาก แต่อย่างที่บอกว่า ไม่ควรเป็นปฏิกิริยาต่อต้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะดูจากทั่วโลกทุกปัญหาแก้ได้หากมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นึกง่ายๆถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ยึดถือความเป็นธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องดูว่าประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ในที่สุดคุณภาพของคนในประเทศที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ดีจริงหรือเปล่า มีความเป็นธรรมจริงหรือไม่ ความล่มสลายเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมโครงสร้างทางการเมืองถึงกองอยู่ที่คนที่มีอำนาจ อย่างไรก็ตามดัชนีความสุขตนก็อยากมีแต่ถามว่าดัชนีความสุขที่เป็นที่ยอมรับเป็นแบบไหน ถือเป็นปัญหา ไม่ง่าย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2. ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นมามีการตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา ประหนึ่งว่า ตรงนี้เป็นภาคราชการ และเป็นภาคอื่นที่เข้ามาให้คำปรึกษากับรัฐบาล ตนเชื่อว่าหลายคนสับสนว่าบทบาทของ 2 องค์กรนี้เหมือน ต่าง เชื่อมกันอย่างไร ถือเป็นจุดที่อยากทำให้ตนพูดเชิงกระบวนการการทำงาน คิดว่าสิ่งสำคัญคือ การหาความสมดุล ความพอดี ตามที่ทางเลขาฯสภาพัฒนฯ เสนอเรื่องวิชาการ ธรรมาภิบาล พัฒนาบุคลากร และรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นหลักแน่นอน แต่ความสัมพันธ์กับการทำงานของรัฐบาลคืออะไร ตนเชื่อว่าหลายปีที่ผ่านมามีความตึงมากขึ้น นักการเมืองถูกกดดันจากประชาชนต้องการนโยบาย อย่างนั้นอย่างนี้ คนที่วางแผนระยะยาวอาจจะวางแผนเห็นไม่ตรง ความพอดีอยู่ตรงไหนจะทำอย่างไร ซึ่งตนถือหลักสากลว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือผู้ต้องกำหนดตัดสินใจ และต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย เอาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อถึงเวลาบอกว่าเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลแต่ไม่รับผิดชอบไม่ได้ ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าสศช.จะปิดหูปิดตาเดินไปตามนโยบายของรัฐบาล เรียนว่าบางยุคที่การเมืองแรงมาก การใช้อำนาจมีวาระอื่นเข้ามา
“ บางช่วง ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับข้าราชการระดับไม่สูงมากนัก อดวิตกกังวลไม่ได้เช่น นโยบบายบางอย่างเป็นความต้องการของฝ่ายการเมือง และต้องการรับรองจากส่วนราชการ ว่าราชการยอมรับว่าทำได้ เหมาะสม มีรายหนึ่งมาฟ้องว่า ไม่รู้จะขอความเห็นเราเพื่ออะไร เพราะสั่งการว่าความเห็นที่จะต้องส่งกลับไปคืออะไร ผมคิดว่าถ้าสภาพอย่างนี้เกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรนี้ขึ้นมา คิดว่าหลักการทำงานต้องเป็นหน่วยวิชาการ ยึดมั่นในธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ซื่อตรงในอาชีพ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมถือเป็นกระบวนการบริหารภายในรัฐบาล ท้วงติง ความเห็น เสนออย่างตรงไปตรงมา ส่วนการตัดสินใจเป็นองค์กรใดแล้วแต่ ต้องเป็นความรับผิดชอบส่วนนั้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สังคมโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ 10-15 ปี นานมากมีการวางแผนล่วงหน้านานเกินไป ถือว่ายากมากในการวางเป้าหมายเฉพาะ ลึกๆในบางด้าน แม้จะวางแผน 5 ปีตามกรอบเวลาของแผน สิ่งที่ตนคิดว่าท้าทายคือ ความละเอียดและเฉพาะเจาะจงของการวางแผนล่วงหน้าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อาจไม่มีความหมาย สิ่งสำคัญคือ การจับแนวโน้มกระแสหลักให้ได้ ถือว่าเป็นหลักคิดวิธีการทำงานให้หน่วยงานดูแลสามารถทำให้แผนมีผลในเชิงกรอบความคิดสำหรับผู้กำหนดนโยบายได้ ความแม่นยำอาจจะน้อยลง แต่ต้องจับกระแสหลักที่เป็นแนวโน้มในเรื่องสำคัญต่างๆให้ได้ ทำให้งานสศช.กุมหางเสือดำเนินทิศทางไปได้ ตนถือเป็นจุดเปลี่ยนของหน่วยงานวางแผนในสถานการณ์ปัจจุบัน
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์การเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯยาวมากเพื่อให้รองรับกับทุกอย่างได้ ถือว่ามองเห็นความรอบด้านตามความต้องการที่หลากหลาย แต่ถือว่าเป็นการยากในการทำงานว่า เหมือนกับการเขียนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเขียนให้คลอบคลุมทุกเรื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นเรื่องยากเมื่อไม่สามารถผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สำเร็จได้อย่างจริงจัง ดังนั้นต้องกรองว่าแนวโน้มกระแสหลักคืออะไร เป้าหมายหลักคืออะไร แผนหลักคือไร เมื่อเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 11 คงจะเหมือนรัฐธรรมนูญที่ยาวขึ้นเรื่อยๆ ตนเรียนตรงๆว่า ตนอ่านแผนฉบับที่ 9และ10 ภาษาอ่านยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้มาอ่านแผนคงเข้าใจยากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้อาจจะถึงจุดหนึ่งหรือไม่ที่ต้องใช้คำว่า “แผนประชาชน” หรือการกลับไปสู่ความเข้าใจพื้นฐานง่ายๆ ว่าตกลงเป้าหมายที่จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่า หลายคนพอพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมักจะพูดถึงโครงการเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่จริงแล้วหมายถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา โดยนำมาเป็นกรอบการวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ ส่วนการพึ่งตนเองแข่งขันได้ การวิเคราะห์ถึงการจัดอันดับก็จะรู้สึกดี แต่หากดูถึงหลักเกณฑ์ก็จะไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ ตนยกตัวอย่างถึงการจัดอันดับการท่องเที่ยวของไทย นั่นคือ ไทยมีจุดแข็งในการท่องเที่ยว สังคมมีความสงบ ไม่แตกแยก แต่พอดูจุดอ่อนก็น่าตกใจ เนื่องจากเราสามารถแก้ไขได้ แต่กลับปล่อยให้เป็นจุดอ่อน เช่น กฎระเบียบ การไม่อำนวยความสะดวก ไม่โปร่งใส ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ถ้าเราเอาการประเมินคนนอกมาเป็นตัวตั้งจะแก้ปัญหาได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 11 เผื่อจะทำอะไรที่ฉีกแนวว่า การมอง 5-10 จะต้องมองอย่างไร แต่มาตรฐานทางด้านวิชาการ ความโปร่งใส ข้อมูลต้องแน่นเหมือนเดิม ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์ ตนรู้สึกกังวลว่านับวันสศช. จะถูกปิดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการมีสภาต่างๆขึ้นมา การเมือง รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น ถูกบีบลงมาเรื่อยๆ กลายเป็นผู้ให้ความเห็นทางเทคนิค แต่ตนมองว่า ไม่ใช่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานจับกระแสความเปลี่ยนแปลงระยะกลาง ระยะยาวให้กรอบ ความคิด บทบาทนำทางความคิดที่ไม่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยมากขึ้น