xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความสุขคนไทยลดลงเหตุเลือกตั้งทำพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความสุขคนไทยเหตุเลือกตั้งทำพิษ ขณะที่ความจงรักภักดีสูงสุด ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รายงานดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยช่วง 3 เดือนแรก หลังการเลือกตั้งพบค่าความสุขลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ขณะที่ความจงรักภักดีมีค่าความสุขสูงสุดถึง 9.22 มีการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น ด้านการเมืองส่วนใหญ่ร้อยละ 69.7 ระบุความสุขยังคงเดิมถ้ามียุบพรรคการเมือง


นายนพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง รายงานดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยในช่วง 3 เดือนแรกหลังการเลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปภูมิลำเนาใน 21 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,010 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม 2551 ผลวิจัยพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์

นายนพดล กล่าวว่า จากการประเมินความสุขมวลรวมของประชาชนในช่วง 3 เดือนแรกหลังการเลือกตั้ง พบความสุขของประชาชนลดลงจาก 6.90 ในเดือนตุลาคม ปี 2550 มาอยู่ที่ 6.39 ในการสำรวจล่าสุด เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน อย่างไรก็ตาม ค่าความสุข 6.39 ถือได้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมีปัจจัยด้านความจงรักภักดีมีค่าความสุขสูงสุดถึง 9.22 ในขณะที่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เพียง 2.37 สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้ 4.42 สภาพสังคมไทยได้ 4.55 และสถานการณ์การเมืองได้ 4.63

ประเด็นที่ค้นพบอื่นๆ คือ ความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศภายในครอบครัวได้ 7.54 วัฒนธรรมประเพณีไทยได้ 6.96 สุขภาพกายได้ 6.90 สุขภาพใจได้ 6.83 หน้าที่การงานได้ 6.82 การบริการทางการแพทย์-อนามัยที่ได้รับ 6.55 สภาพแวดล้อมที่พักอาศัยได้ 6.50 บรรยากาศภายในชุมชนได้ 6.36 ความเป็นธรรมทางสังคมได้ 5.39 และการที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายสมัคร สุนทรเวชได้ 5.14

ผลวิจัยพบอีกว่า ประชาชนเริ่มหันมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ 46.2 ในช่วงต้นปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 54.4 ในช่วงต้นปีนี้ แต่ผู้ที่เคร่งครัดต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.1 เท่าเดิม และเมื่อวิเคราะห์ในทางสถิติด้วยค่า Odds Ratio พบว่า มีค่าอยู่ที่ 4.242 ค่าสูงสุดอยู่ที่ 7.403 ณ ระดับนัยสำคัญที่ 0.000 ความเชื่อมั่นร้อยละ 95 หมายความว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัดมีความสุขสูงสุดประมาณ 7 เท่าของผู้ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง

เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยสถิติวิจัยสหสัมพันธ์แบบพหุ (Multiple Regression Analysis) เพื่อค้นหาปัจจัยสำคัญต่อความสุขของประชาชน พบด้วยว่า ความสุขของประชาชนขึ้นอยู่กับ “สุขภาพใจ” เป็นอันดับแรก ตามด้วยปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคมไทย ครอบครัว หน้าที่การงาน สถานการณ์การเมือง บรรยากาศภายในชุมชนที่พักอาศัย ความเป็นธรรมทางสังคม การบริการทางการแพทย์ สภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตแบบพอเพียง และสุขภาพกาย

เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ถ้ามีการยุบพรรคการเมืองจะทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ระบุระดับความสุขจะยังคงเหมือนเดิม ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 19.4 ตอบว่าจะทำให้ความสุขของตนเองลดลง และร้อยละ 10.9 จะมีความสุขเพิ่มขึ้น ตามลำดับ

หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยสามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้ค่อนข้างดีตั้งแต่ยึดอำนาจปลายปี 2549 ถึงการเลือกตั้งปี 2550 และคำตอบสุดท้าย คือ ความสุขหรือความทุกข์ของประชาชนอยู่ที่สุขภาพใจและการทำใจของประชาชนเป็นหลัก การปรับตัวปรับใจของประชาชนเป็นตัวช่วยให้คนไทยส่วนใหญ่ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้

ผลวิจัยครั้งนี้น่าจะช่วยให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเห็นด้วยว่า สถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอันดับที่สองที่จะกระทบต่อความสุขของประชาชน ไม่ใช่เรื่องสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะคนไทยเริ่มหันมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันในทุกสถานการณ์ ดังนั้น การเคลื่อนไหวใดๆ น่าจะค่อยเป็นค่อยไปโดยให้โอกาสประชาชนเตรียมตัวเตรียมใจบ้างจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประโยชน์สุขของประชาชน และเสถียรภาพของบ้านเมือง” นายนพดล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น