xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” เชื่อ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจ สอบ 3 รมต.ลงมติผ่านงบฯ ชี้เข้าข่ายอำนาจศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชา มหาคุณ ป.ป.ช.
“วิชา” มั่นใจ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจตรวสอบ 3 รมต.ยกมือลงมติผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 52 ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายอำนาจของศาล รธน.มากกว่า ขณะเดียวกัน เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.หารือ 5 ก.พ. ขณะที่ “เรืองไกร” ยื่น ป.ป.ช.สอบ มั่นใจหลักฐานผิด รธน.ม.77

วันนี้ (2 ก.พ.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ 3 รัฐมนตรีที่ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณว่าอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญว่า เมื่อมีการยื่นเรื่องมาที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่รับเรื่องจะทำการตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะตรวจสอบได้หรือไม่ โดยหากมีอำนาจ ป.ป.ช.จะดำเนินการไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ดีที่สุด โดยนักการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องเอง ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถึงผลที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวว่าจะมีผลอย่างไร และมีบทลงโทษอย่างไร นอกจากนี้ กฎหมายของ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ระบุบทลงโทษกรณีดังกล่าวได้ด้วยว่าจะต้องลงโทษอย่างไร สำหรับการนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเบื้องต้นคาดว่าในการประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 5 ก.พ.น่าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือ

“ป.ป.ช.คงดูว่าอยู่ในข่ายอำนาจไหม ดูว่าเข้าข่ายขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ เรื่องการขัดกันของผลประโยชน์จะต้องดู 2-3 เรื่อง คือ ถ้ากฎหมายต้องการเอาผิดจะเขียนไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100-103 ถ้าไม่ใช่เรื่องผิดทางอาญาก็จะเป็นเรื่องผิดจริยธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การตำหนิ การถูกถอดถอน กระบวนการที่ ป.ป.ช.จะพิจารณาคงต้องดูรายละเอียดตรงนี้ว่าเป็นเรื่องทางจริยธรรมหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคดีอาญา ต้องไม่ลืมว่าอำนาจของ ป.ป.ช.จะพิจารณาได้ต้องเป็นเรื่องความผิดทางอาญา เนื่องในการกระทำผิดหรือประพฤติมิชอบ ส่วนตัวมองว่ากรณีนี้ยังไม่เข้าข่ายความผิดทางอาญา แต่อาจจะผิดมารยาท อีกทั้งรัฐธรรมนูญเขียนไว้เฉพาะในมาตรา 177 แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องพ้นตำแหน่งหรือมีความผิดอย่างไร” นายวิชา กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 08.00 น.นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม และนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม จากกรณีการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 วรรค 2 ที่ระบุว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรีผู้ใดเป็น ส.ส.

ในขณะเดียวกัน ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น รวมถึงเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ 275 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นายเรืองไกร กล่าวว่า มั่นใจในพยานหลักฐานที่นำมายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ และรัฐมนตรีทั้ง 3 คน จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เนื่องจากเป็นถึงรัฐมนตรี และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิด ก็จะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่งด้วย และเรื่องดังกล่าวก็จะเป็นบรรทัดฐานให้กับนักการเมืองต่อไป เพราะในการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 พ.ศ.... ณ ตึกรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 177 วรรค 2 เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ตามมาตรา 171 ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ หรือการมีส่วนได้เสียของคณะรัฐมนตรี

"การออกเสียงลงคะแนนของรัฐมนตรีทั้ง 3 คน จึงเข้าข่ายลักษณะเป็นข้อห้ามมิให้รัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีส่วนใหญ่คนใดได้ออกเสียงลงคะแนนด้วย ทั้งที่มีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นกัน"นายเรืองไกร

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การออกเสียงลงคะแนนของรัฐมนตรีทั้ง 3 คนนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 177 วรรค 2 หรือไม่ และการออกเสียงลงคะแนนของรัฐมนตรีทั้ง 3 คนนั้น จะส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ตนจึงขอทำคำร้องโดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีทั้ง 3 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น