“สดศรี” เปรียบเปรยหาก “บุญจง” แจกเงินแนบนามบัตรผิด กม.จริง นโยบายรัฐบาลแจกเงินมนุษย์เงินเดือน 2,000 บาท และแจกถุงยังชีพของกระทรวง พม.ก็เข้าข่ายผิด กม.ไปด้วย ชี้ต้องตรวจสอบให้ชัด แนะนักการเมืองควรรู้อะไรควรอะไรไม่ควร
วันนี้ (28 ม.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.กล่าวถึงการร้องเรียนการแจกเงิน และนามบัตรของ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่า เรื่องนี้นาย ประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 266 แต่ขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ให้ข่าว หากได้รับแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นความผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 หรือไม่ เพราะความจริงแล้วนักการเมืองจะเข้ามาก้าวก่ายงานของข้าราชการประจำไม่ได้
“เรื่องการแจกเงิน ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่านายบุญจงมีบทบาทอะไรในการแจกเงิน และยังไม่ทราบว่าเงินเป็นเงินจากกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) ที่ได้รับมอบหมายจากนายวิฑูรย์ นามบุตร รมต.พัฒนาสังคมฯ หรือไม่ ดังนั้น หากจะมีการพิจารณาก็ต้องพิจารณาว่าการนำงบประมาณแผ่นดินที่นำไปให้ประชาชนเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามมติครม.หรือไม่ เหมือนกับกรณีของนายกรัฐมนตรีที่แจกเงินจำนวน 2 พันบาท ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือให้ประชาชนได้ใช้น้ำใช้ไฟฟรี ในกรณีที่ต่ำกว่า 15 ยูนิต ซึ่งการให้ประชาชนใช้น้ำไฟฟรี เป็นหน้าที่ของการประปา และการไฟฟ้า การที่นายกฯ ทำแบบนี้ถือเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายองค์กรอื่นหรือไม่ รวมทั้งนโยบายที่รัฐบาลจัดให้ประชาชนนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ หรือเป็นนักการเมืองที่ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสดศรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มองว่าการนำนามบัตรแนบเงินเป็นการฉวยโอกาสหาเสียเพื่อเอื้อประโยชน์กับตนเองนั้น ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าหากเป็นนายกรัฐมนตรีไปแจกของ ใครๆ ก็ต้องรู้จัก แต่กรณีของนายบุญจง เขาอาจคิดว่าชาวบ้านคงไม่รู้จัก อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาว่านายบุญจงแจกเงินในฐานะ รมช.มหาดไทย หรือ แจกในฐานะ ส.ส.คนหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายบุญจงต้องอธิบายให้ได้ว่าการแจกเงินนั้นทำในฐานะอะไร และไปเกี่ยวกับกระทรวงอื่นอย่างไร หรือทำในฐานะส่วนตัว แต่หากมองว่าเป็นการแจกเงินเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ต้องดูว่าเป็นการแจกในช่วง 60 วันก่อนมีพระราชกฤษฎีการการเลือกตั้งหรือไม่ และต่อให้มีการยุบสภาฯ และมีการเลือกตั้งใหม่การกระทำดังกล่าวของนายบุญจงจะผิดหรือไม่นั้น ตนเห็นว่านายบุญจงคงไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งในเวลาอันใกล้
ทั้งนี หากมีการเสนอเรื่องนี้มา กกต.ก็จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และถ้าเห็นว่านายบุญจงมีความผิด ก็จะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และในกรณีนี้มีโทษทำให้นายบุญจงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ตนยังแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้ว่านายบุญจงผิดจริงหรือไม่ ต้องให้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความชัดเจนก่อน แต่ความผิดเรื่องนี้คงไม่เกี่ยวพันถึงพรรคการเมือง เพราะหากอะไรถึงพรรคไปหมด ต่อไปก็จะไม่มีพรรคการเมืองเหลืออยู่เลย
“กรณีดังกล่าวก็อยากให้มีบรรทัดฐานเกิดขึ้น เชื่อว่านักการเมืองทุกคนมีประสบการณ์มาก น่าจะรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ นักการเมืองแยกแยะออกมีวิจารณญาณ กกต.ไม่มีหน้าที่จะไปดูแลหรือห้ามปรามอะไร ฉะนั้น คนที่เป็นนักการเมืองถ้าอันไหนเสี่ยงก็อย่าไปทำ อะไรที่เกี่ยวกับจารีตประเพณี ผิดจริยธรรมก็ไม่ควรทำ” กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ระบุ