ปธ.วุฒิสภา เผยรมต.ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบฯรายจ่ายเพิ่มเติมไม่ขัด รธน. ชี้ทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ยินดีรับเรื่องหาก ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นเรื่อง ป.ป.ช.-ศาล รธน.วินิจฉัยเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ด้าน “เรืองไกร” เชื่อเข้าข่ายขัด ม.177
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านจะยื่นถอดถอนรัฐมนตรีที่ลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 177 เพราะมีส่วนได้เสียว่า เป็นคนละเรื่องกัน ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันโดยตรง ยกตัวอย่างสมมติว่ามีคนเอาหนังสติ๊กไปยิงไก่ แล้วเกิดไก่วิ่งไปชนหม้อแกงหกจนทำให้ไม่สามารถกินได้ แล้วอย่างนี้จะไปโทษคนยิงไก่ได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส.ยื่นเรื่องมาให้ ตนก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทั้งเรื่องรายชื่อ และข้อหา แล้วส่งไปให้ ป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาก็มีรัฐมนตรีเคยลงมติในลักษณะนี้เหมือนกัน เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามา ส.ส.ก็มีอำนาจหน้าที่ในการผ่านกฎหมาย ถ้าไม่ทำหน้าที่หรือเข้าประชุมก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
เมื่อถามว่าในฐานะนักกฎหมายมองคำว่ามีส่วนได้เสียอย่างไร นายประสพสุข กล่าวว่า การได้เสียในเรื่องนี้หมายความว่างบประมาณที่ลงไปอยู่ในโครงการแล้ว ส.ส.มีส่วนได้เสีย โดยตรง แต่ถ้าเป็นงบประมาณโดยรวมแสนกว่าล้านบาทแล้วนำไปใช้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างนี้ ก็ต้องดูว่าโดยตรงหรือไม่ ต่อข้อถามว่าถ้างบประมาณลงไปในส่วนของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงยุติธรรมถือเข้าข่ายหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ไม่น่าจะแยกกันได้ เพราะรวมอยู่ในงบประมาณก้อนเดียวกัน เมื่อถามว่าทางอ้อมไปเกี่ยวข้องจะทำอย่างไร นายประสพสุข กล่าวว่า ก็ต้องส่งให้ตีความว่าทางอ้อมคืออะไร หรือดูเป็นเรื่องๆ ไป
ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เท่าที่ดูน่าจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 177 วรรค 3 ซึ่งจะเป็นให้ ส.ส.สามารถใช้สิทธิ์ยื่นตามมาตรา 270 ที่เห็นว่า รัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ทุจริตหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยแค่เพียง ส่อว่าจงใจ ก็ยื่น ป.ป.ช แต่ถ้ายื่นตามมาตรา 275 คือ ยื่นต่อศาลฏีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากศาลรับคำร้องรัฐมนตรีก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ว่า ส.ส.รัฐมนตรี หรือ ส.ว.จะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการใช้กรอบอำนาจ ต้องมีความชัดเจนเรื่องการใช้อารมณ์ อย่าปฏิบัติตนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในเรื่องจริยธรรมต้องอยู่สูงกว่ากฎหมายและบังเอิญว่าเป็น ครม.ที่มีคนมองว่ามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูง
เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย แจกเงินพร้อมนามบัตร ที่ตนเองได้ยื่นเรื่องไปตาม รธน.มาตรา 266 นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้ กกต.แต่ละคนก็ยังเห็นไม่สอดคล้องกันแต่ทุกอย่างอยู่ที่ข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ที่ต้องตีความคำว่า “โดยทางตรง หรือทางอ้อม” เมื่อถามถึงกรณีนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเรืองไกร กล่าวว่า มี ส.ว.และคณะกรรมาธิการบางชุดตรวจสอบอยู่ แต่เท่าที่ฟังการชี้แจงของนายวิฑูรย์หลายครั้ง ข้อมูลก็ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น ก่อนออกมาพูดก็ต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนเหมือนอย่างนายชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดแต่ละครั้งก็ศึกษามาเป็นอย่างดี