คลิกที่นี่ เพื่อฟัง สนธิเปิดใจ เบื้องหลัง 193 วันแห่งการต่อสู้
การชุมนุมเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยาวนานถึง 193 วันกว่าจะได้มาซึ่งชัยชนะของประชาชน นับเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยาวนานเป็นประวัติศาสตร์ รวมทั้งยังมียุทธศาสตร์การต่อสู้ที่หลากหลาย "เอเอสทีวี ทีวีของประชาชน"ประมวลเหตุการณ์การเคลื่อนไหวตลอด 193 วันแห่งการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ
คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับเป็นการขับเคลื่อนของตุลาการภิวัฒน์ครั้งสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัดสินใจยุติการชุมนุมที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 193 วัน ภายใต้พันธกิจ พิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ
25 พฤษภาคม 2551 ณ จุดนัดหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการเปิดฉากสงครามครั้งสุดท้าย โดยมีมวลชนพันธมิตรฯนับหมื่นคนกลับมารวมตัวชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งเพื่อแสดงพลังต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่หวังฟอกผิดให้กับพรรคไทยรักไทยและพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่กำลังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น ท่ามกลางการก่อกวนของกลุ่มอันธพาลต่อต้านพันธมิตรฯตั้งแต่วันแรกของการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมหลายรายถูกลอบทำร้ายได้รับบาดเจ็บ แต่ตำรวจกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ
กระทั่งช่วงค่ำของวันนั้นแกนนำพันธมิตรฯ ตัดสินใจเคลื่อนมวลชนเดินเท้าเข้ายึดพื้นที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์พร้อมกับตั้งเวทีปราศรัยถาวร โดยมีบรรดานักวิชาการ นักธุรกิจ นักการทูต อดีต ส.ส. และ ส.ว. ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสลับกับแกนนำพันธมิตรฯขึ้นเวทีปราศรัยให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกับขุดคุ้ยข้อมูลโจมตีการทำงานของรัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนอมินีสมัคร สุนทรเวช พร้อมกับเปิดโปงพฤติการณ์ไม่ชอบของรัฐบาล ตั้งแต่ยกแผ่นดินเขาพระวิหารให้กัมพูชา จนในที่สุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยกับกัมพูชาในการสนับกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
การเปิดประเด็นหมิ่นสถาบันของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่สรุปความเห็นว่า นายจักรภพมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด จนนายจักรภพ จำใจลาออกเพื่อลดกระแสกดดัน
การยึดสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มพันธมิตรฯนาน 1 สัปดาห์เต็ม สร้างความเครียดแค้นให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ถึงขั้นประกาศแตกหักผ่านรายการสนทนาประสาสมัครในเช้าวันที่ 31 พฤษภาคม โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนองความต้องการด้วยการส่งกองทัพตำรวจพร้อมอาวุธและรถควบคุมผู้ต้องหา เข้าปิดล้อมที่มั่นของพันธมิตรฯเพื่อเตรียมสลายการชุมนุมทันทีที่ได้รับบัญชา
แต่คำขู่ของนายสมัคร กลับกระตุ้นให้ประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมชุมนุมเคียงข้างพันธมิตรฯอย่างคับคั่ง โดยไม่หวั่นกลัวการสลายการชุมนุม จนค่ำวันนั้นร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ต้องออกโรงแก้ต่างโดยอ้างว่า นายสมัครไม่คิดูดว่าจะสลายการชุมนุม แต่เป็นการตีความผิดเอง
การแบ่งผู้ชุมนุมเข้าปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายถูกแกนนำพันธมิตรฯ นำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เช่นการเคลื่อนพลกดดันสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานทูตอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้เร่งดำเนินคดีกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในทุกคดีโดยไม่เลือกปฏิบัติ
หลังยึดเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นฐานที่มั่นล่วงเข้าวันที่ 27 แกนนำพันธมิตรฯได้ตัดสินใจเป่านกหวีดส่งสัญญาณเคลื่อนพล 9 ทัพ โดยวางแผนโอบเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในช่วงสายของวันที่ 20 มิถุนายน สร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่จนสามารถเข้ายึดพื้นที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลไว้ได้ในบ่ายวันนั้น ก่อนที่เวทีถาวรจะถูกตั้งประจันหน้ากับทำเนียบรัฐบาลที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ แต่แล้วแกนนำพันธมิตรฯจำต้องถอนมวลชนออกจากสะพานชมัยมรุเชษฐ์กลับที่ตั้งเดิมสะพานมัฆวานรังสรรค์อีกครั้ง เนื่องศาลแพ่งมีคำสั่งให้พันธมิตรฯเปิดเส้นทางจราจรถนนพิษณุโลกและพระราม 5
หลังจากชุมนุมยืดเยื้อมานาน 102 วัน แกนนำพันธมิตรฯ ได้ตัดสินใจเป่านกหวีดครั้งสุดท้าย 26 สิงหาคมด้วยปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า โดยมีเป้าหมายลวงที่สถานีโทรทัศน์“เอ็นบีที” กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะเข้ายึดเป้าหมายหลักทำเนียบรัฐบาลไว้ได้แบบไม่ยากเย็นในช่วงบ่ายของวันนั้น โดยที่แกนนำประกาศจะปักหลักยึดทำเนียบรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลทั้งคณะจะลาออก
การเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุให้ตำรวจใช้เป็นเงื่อนไขขออนุมัติศาลออกหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ รวม 4 ข้อหา ฐานเป็นกบฏ แต่กลับไม่มีตำรวจนายใดกล้าจับกุมแกนนำทั้งเก้าคน เพราะเกรงพลังมวลชนที่พร้อมจะเป็นโล่ห์มนุษย์ให้กับแกนนำ
ตลอดระยะเวลาที่พันธมิตรฯเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล มีความพยายามของตำรวจหลายต่อหลายครั้งที่จะเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลคืน ทั้งการนำกำลังบุกเข้าทางประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงการใช้กำลังเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณเวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินของพันธมิตรฯได้รับความเสียหาย แต่สถานการณ์ที่ทำท่าจะบานปลายก็คลี่คลายลงเมื่อผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ สามารถยึดพื้นที่คืนกลับมาได้
การที่ตำรวจไม่อาจเข้าจัดการกับกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ เป็นเหตุให้กลุ่มอำนาจเก่า ส่งกลุ่มอันธพาลปฏิบัติการป่วนผู้ชุมนุมพันธมิตรฯเป็นระยะ โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อกลางดึกวันที่ 2 กันยายน ที่กลุ่ม นปก. ภายใต้การควบคุมของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยหลายคน ยกพลเข้าประจันหน้ากับกลุ่มพันธมิตรฯ จนเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บหลายสิบรายและมีสมาชิก นปก. 1 รายเสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้นายสมัคร สุนทรเวช สบโอกาสประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในวันรุ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
กระทั้งวันที่ 9 กันยายน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่านายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญจากกรณีเป็นพิธีกรรายการ“ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง หกโมงเช้า”ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างองค์กรที่มุ่งหาผลกำไร ก่อนที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของพันตำรวจโททักษิณ จะถูกอุ้มด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมกับท่าทีที่พร้อมเปิดการเจรจากับแกนนำพันธมิตรฯ
แต่สถานการณ์กลับตึงเครียดมากขึ้นเมื่อนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับระหว่างขับรถกลับบ้านพักหมู่บ้านนักกีฬาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ก่อนที่อีก 2 วันถัดมา พลตรีจำลอง ศรีเมือง จะถูกจับกุมหลังเข้าใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนเศรษฐเสถียร
สถานการณ์มีทีท่าบานปลายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพันธมิตรฯ เคลื่อนพลเข้าปิดล้อมรัฐสภาในช่วงค่ำของวันที่ 6 ตุลาคม เพื่อปิดทางสมาชิกรัฐสภาเข้าฟังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบาย ก่อนที่รุ่งสางของวันรุ่งขึ้นตำรวจจะใช้แก๊สน้ำตาระลอกแรกยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. เหยียบคาวเลือดของผู้ชุมนุมเข้าไปฟังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบาย
จากนั้นเสียงปืน เสียงระเบิดและแก๊สน้ำตา ได้ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันเป็นระลอก ตั้งแต่โดยรอบอาคารรัฐสภา ถนนใกล้เคียง ลานพระบรมรูปทรงม้าและหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งผลจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในวันนั้น เป็นเหตุให้พันธมิตรฯ ต้องสังเวยชีวิต 2 ศพ และได้รับบาดเจ็บรวม 471 ราย โดยหลายรายต้องสูญเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ แต่กลับไม่มีการแสดงความรับชอบจากตำรวจหรือรัฐบาล
การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ กลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ก่อนที่แกนนำทั้งหมดจะตัดสินใจเข้ามอบตัวและได้รับการประกันตัวแบบไม่มีเงื่อนไข
จากนั้นยุทธศาสตร์ดาวกระจายถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อรณรงค์ประณามรัฐบาล และตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายผู้ชุมนุม ในขณะที่สงครามกลางเมืองเริ่มระอุขึ้นเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ถูกมือมืดลอบทำร้ายทั้งยิงระเบิดและใช้อาวุธสงครามถล่มผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลจนมีผู้ชุมนุมต้องสังเวยชีวิต อันเป็นชนวนเหตุให้แกนนำพันธมิตรฯตัดสินใจประกาศเผด็จศึกรัฐบาลและหยุดสภาทาสระบอบทักษิณแบบม้วนเดียวจบในวันที่ 23 พฤศจิกายนด้วยการนำมวลชนเข้าปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันรุ่งขึ้นจนท้ายที่สุดประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศยกเลิกการประชุม
อย่างไรก็ตามแกนนำพันธมิตรฯ ได้เดินตามแผนโดยสั่งถอนกำลังจากหน้ารัฐสภา มุ่งหน้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวดอนเมืองแทน เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีเปิดประชุมนัดพิเศษได้
กระทั่งช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้นมาตรการกดดันรัฐบาลเพิ่มดีกรีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อพันธมิตรฯปฏิบัติการยึดสุวรรณภูมิโดยเคลื่อนมวลชนชุดแรกเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิ หวังกดดันให้รัฐบาลลาออก โดยมีผู้ชุมนุมทยอยเข้าสมทบอย่างต่อเนื่องจนสามารถยึดสนามบินแบบเบ็ดเสร็จในค่ำวันนั้น ก่อนที่จะแกนนำจะประกาศยึดสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองและทำเนียบรัฐบาล เป็นฐานที่มั่น
จนในที่สุดชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฯก็มาถึง เมื่อ 2 ธันวาคม ตุลาการภิวัฒน์ ได้ตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย เป็นเหตุให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สิ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีทันที ก่อนที่ค่ำวันเดียวกัน 5 แกนนำพันธมิตรฯ จะได้ร่วมกันประกาศชัยชนะของประชาชน พร้อมกับยุติการชุมนุมในเช้าวันรุ่งขึ้น
แต่ยืนยันว่า ทันทีที่รัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณฟื้นคืน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย เพื่อฟอกความผิดให้กับคนในระบอบทักษิณ เอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมจะกลับมารวมตัวต่อสู้เพื่อบ้านเมืองอีกครั้ง