ครม.ไม่สนสถานะ รบ.รักษาการ จับมือ พปช.ดัน กม.ฟอกเงิน เข้าสภาวาระแรก ฝ่ายค้านรุมติง กม.ดาบสองคม เปิดช่อง จนท.ให้ใช้ดุลพินิจ กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม เหมือนในอดีต พร้อมแสวงหาผลประโยชน์ในการฟอกเงินง่ายขึ้น
วันนี้ (24 ก.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ได้มีการพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ....ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการ รมว.ยุติธรรม และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ....ตามที่ นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ ก่อนเข้าระเบียบวาระการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณากฏหมายในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีรักษาการไม่น่าจะเหมาะสม เพราะนายกรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯไปแล้ว แต่คณะรัฐมนตรียังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงอยากให้มีรัฐมนตรีขึ้นมารับผิดชอบอย่างเป็นทางการก่อน แต่ นายสมพงษ์ ชี้แจงว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแม้จะกำหนดให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีพ้นสภาพไปเป็นการเฉพาะตัว แต่ให้มีการรักษาการ ครม.ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ ดังนั้น ครม.รักษาการจึงมีสิทธิ์ในการเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ แต่ในที่สุดที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่า รัฐมนตรีรักษาการสามารถที่จะเสนอกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมได้ มีมติเห็นชอบ ให้นำ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมาพิจารณารวมกัน
จากนั้น นายสาทิตย์ อภิปรายว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เสนอโดย ครม.จึงอยากถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการเร่งรีบในการเสนอกฎหมายดังกล่าวนี้เข้ามา และ พ.ร.บ.เดิมที่มีอยู่มีปัญหาในการปฏิบัติอย่างไรและเกิดผลกระทบอย่างไร ต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งเรื่องมาหารือ ปปง.เรื่องความจำเป็นในการเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐมนตรีได้ชี้แจงหนังสือของ ธปท.ด้วยว่ามีเหตุผลอย่างไรบ้าง
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 16 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพต้องรายงานธุรกรรม ในวรรค 6 ที่ได้มีการเพิ่มผู้ประกอบอาชีพ อื่นซึ่งอาจมีการใช้เป็นช่องทางการฟอกเงินโดยโดยง่าย ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกระทรวง โดยวรรคนี้ไม่ได้มีการระบุอาชีพอย่างชัดเจน ถือเป็นการเปิดช่องว่าให้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติได้โดย ในเฉพาะรัฐมนตรี และ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่อาจจะนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางการเมือง หากรัฐมนตรี หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีคุณธรรม ที่สำคัญ อาจจะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการแสวงหาผลประโยชน์” นายสาทิตย์ กล่าว
ส.ส.ตรัง กล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายฉบับในส่วนที่ ส.ส.เสนอ หากไปตามหลักการและเหตุผลตามที่เสนอในการเพิ่มความผิดมูลฐาน ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นเรื่องดีในการติดตามโครงการสร้างผู้ถือหุ้นและการซื้อขายหุนของ บริษัท กุหลาบแก้ว และ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์
ด้าน นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเพิ่มมูลฐานความผิดที่มากขึ้น และบางข้อไม่ได้มีการกำหนดอาชีพที่ชัดเจนแต่เป็นแบบกว้างๆ จะส่งผลกระทบในการปฏิบัติ หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และการแสดงหาผลประโยชน์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยโดนกลั้นแกล้งมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ นางถ้วน หลีกภัย มารดาของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่สื่อมวลชนยังถูกตรวจสอบในกรณีของ นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารเครือเนชั่น ดังนั้น จึงอยากให้มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม หลังจากสมาชิกได้อภิปรายกันกว้างขวาง ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการวาระแรก พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ มีหลักการและเหตุผล โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ปี 2524 ที่น่าสนใจ คือ การแก้ไขมาตรา 16 ให้ผู้ประกอบการอาชีพต้องรายงานการทำธุรกรรม ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการลงทุนหรือเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 2.ผู้ประกอบการค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับด้วยอัญมณีประเภทดังกล่าว 3.ผู้ประกอบอาชีพให้เช่าซื้อรถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ 4.ผู้ประกอบการเกี่ยวกับตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 5.ผู้ประกอบการค้าของเก่า ขายทอดตลาด 6.ผู้ประกอบอาชีพอื่นซึ่งอาจมีการใช้เป็นช่องทางการฟอกเงินได้โดยง่าย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน เป็นผู้เสนอ มีหลักการและเหตุผล คือ แก้ไขมาตรา 3 มีการเพิ่มความผิดมูลฐาน ประกอบด้วย ความผิดเกี่ยวกับการสมยอมราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ความผิดเกี่ยวกับการค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ที่มีการนำเข้า เปลี่ยนแปลง ประกอบ ซ่อมแซม โดยไม่ได้รับอนุญาต มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ความผิดเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต การหลีกเลี่ยง หรือลักลอบภาษีสรรพสามิตที่มีมูลค่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือปลอมแปลงเอกสารตามประมวลกฏหมายอาญา ที่มีมูลค่า 1 ล้านบาทขึ้นไป
รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการใช้ ยึดถือ หรือ ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบ ความผิดเกี่ยวกับการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีความผิดตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป และความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะความผิดที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื่อขายหลักทรัพย์ และความผิดเกี่ยวกับการทุจริตของผู้บริหาร หรือผู้รับผิดชอบในการทำงาน ของบริษัทที่ออกแบบและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนหรือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ศูนย์หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 50 ล้านบาทขึ้นไป