xs
xsm
sm
md
lg

บี้ขี้ขโมยของสาธารณะเพิ่มโทษ-ลุยจับรถซาเล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 ก.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นประธานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีหน่วยงานราชการ เอกชน 36 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปานครหลาง บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท ทีโอที บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สมาคมค้าของเก่าต่างๆ กรมการปกครอง เป็นต้น
ทั้งนี้ การสัมมนาได้เริ่มด้วยการแสดงข้อมูลการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เดือน ต.ค.2550 - ส.ค.2551 โดยมีการรับแจ้งทรัพย์สินทางราชการเสียหาย เช่น นอตยึดเสาไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า สานเคเบิล มาตรวัดน้ำประปา ฝาท่อระบายน้อ ป้ายบอกทาง รวมแล้ว 1,844 ราย จับได้ 837 ราย มูลค่าทรัพย์สินรวม 59,656,718 ล้านบาท
พล.ต.ท.วุฒิ กล่าวภายหลังการประชุม ว่าได้มีการเสนอในที่ประชุมพิจารณา 3 หัวข้อ เพื่อแก้ปัญหา โดยเรื่องแรกคือ การเสนอแก้กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2548) ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 ซึ่งแต่เดิม มีกรมการปกครองและตำรวจระดับร้อยตำรวจตรี เป็นนายตรวจมีอำนาจในการ ตรวจสอบเปิดปิด การดำเนินการ และตรวจสอบว่ามีการรับทรัพย์มาโดยทุจริตหรือไม่ แต่เมื่อปี 2548 มีการแยกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกจากกระทรวงมหาดไทย ได้มีการแก้ไขให้เหลือเพียงฝ่ายปกครองตรวจร้านขายของเก่า ซึ่งปกติฝ่ายปกครอง สามารถดำเนินการในเรื่องอื่นได้ แต่เรื่องของการได้ของมาโดยทุจริตตำรวจมีข้อมูล ในการตรวจสอบได้ดีกว่า อยากให้แก้ไขให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปเป็นนายตรวจร่วม
2 เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 ในประเด็นอื่นๆ เพื่อกำหนดรายละเอียดในการประกอบกิจการค้าของเก่าเพิ่มเติม และเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้โดยเสนอแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ 1.แบ่งประเภทการรับซื้อของเก่าให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเภทสุดท้ายที่กำหนดใน พ.ร.บ.ว่าอื่นๆ กว้าง เกินไป เสนอให้เพิ่มเป็น เครื่องมือทางการเกษตร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น 2.ควบคุมเรื่องสถานที่ตั้ง ให้เหมาะสม ปลอดภัย สะอาดเรียบร้อย คำนึงถึงสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม 3.เรื่องเวลาเปิด-ปิด จากเดิมไม่มีการกำหนดเวลาซื้อขายทำให้มีปัญหาควรมีการ กำหนดเวลาเปิด-ปิดของร้านแต่ละประเภทให้ชัดเจน
สุดท้าย เป็นการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการโจรกรรมทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะ จากเมื่อก่อนที่มีการกำหนดโทษผู้รับของโจร จำคุก 1-5 ปี ให้มีโทษสูงขึ้น จะได้มีเกรงกลัว ซึ่งภาพรวมในที่ประชุมก็เห็นด้วยทั้ง 3 หัวข้อ รวมทั้งมีการเสนอแนะให้มีการกวดขันเรื่องของรถซาเล้งที่ขับขี่บนท้องถนน เนื่องจากผิด พ.ร.บ.ล้อเลื่อน ขี่รถในทางโดยไม่มีใบอนุญาตและรถก็ไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งจากนี้ตนเองจะออกหนังสือสั่งการไปทุกกองบัญชาการให้จับกุมซาเล้งเหล่านี้เพราะเป็นการทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอในที่ประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะเสนอให้ทาง ผบ.ตร.พิจารณาลงความเห็นในหลักการ จากนั้นให้ทางสำนักงานกฎหมายและสอบสวนไปแปรหลักการให้เป็นข้อกฎหมาย และเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง เสนอนายกรัฐมนตรีให้แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ตำรวจร่วมตรวจ ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 อยากให้เสนอเป็นวาระแห่งชาติให้ทุกส่วนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น