xs
xsm
sm
md
lg

กำหนด 9 อาชีพ ต้องรายงานธุรกรรมเงินสด กม.บังคับใช้ มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กำหนด 9 อาชีพ ต้องรายงานธุรกรรมการเงินสดตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้เก็บข้อมูลการแสดงตนของลูกค้า ปปง.เตือนผู้ที่จะซื้อ อัญมณี ทองคำ เช่าซื้อรถยนต์ หากมูลค่าเกิน 4 แสนบาท ต้องมีบัตร ปชชแสดงตนด้วย ส่วนผู้ประกอบการ ต้องแจ้งธุรกรรมต้องสงสัยโดยไม่จำกัดวงเงิน ยกกรณี กม.กำหนดให้แจ้ง 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่มีผู้หลีกเลี่ยงทำธุรกรรมที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท หลายๆ ครั้ง ต้องแจ้งทันที และต้องเก็บข้อมูลไว้เป็นเวลา 5 ปี หากไม่เก็บและภายหลังมีคดีเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจะถูกปรับ รวมทั้งถ้าไม่รายงานธุรกรรมมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือวันละ 5,000 บาท คาดบังคับใช้ มิ.ย.นี้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานกำกับดูแลกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ 9 กลุ่มอาชีพ ได้เปิดแถลงข่าวการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ 9 กลุ่มอาชีพใหม่ ต้องรายงานการทำธุรกรรมเมื่อมีการใช้เงินสดตามที่กำหนด และเมื่อมีธุรกรรมต้องสังสัย โดย ปปง.อยู่ระหว่างออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2553 นี้

สำหรับ 9 กลุ่มอาชีพ ที่ต้องรายงานธุรกรรมทั่วประเทศโดยประมาณ ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการการให้คำแนะนำ หรือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน การลงทุน หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่มิใช่สถาบันการเงิน จำนวน 299 แห่ง 2.ผู้ประกอบการอัญมณี เพชร พลอย ทองคำ มีกว่า 5,000 แห่ง 3.ผู้ประกอบการอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ มีกว่า 100 แห่ง

4.นายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 160 แห่ง 5.ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าและวัตถุโบราณ มีกว่า 25,000 แห่ง 6.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล 27 แห่ง 7.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ 14 แห่ง 8.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 12 แห่ง และ 9.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 84 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2553 นี้ ทั้ง 9 กลุ่มอาชีพ จะต้องรายงานธุรกรรมเงินสด ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้เก็บข้อมูลการแสดงตนของลูกค้า ซึ่งต่อไปผู้ที่จะซื้ออัญมณี ทองคำ หรือเช่าซื้อรถยนต์ และดำเนินธุรกรรมใน 9 กลุ่มอาชีพนี้ มูลค่าเกิน 400,000 บาท จะต้องมีบัตรประชาชนแสดงตนด้วย มิเช่นนั้นจะไม่สามารถซื้อหรือทำธุรกรรมได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 9 อาชีพ จะต้องแจ้งธุรกรรมต้องสงสัยซึ่งไม่จำกัดวงเงิน เช่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้แจ้ง 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่มีผู้หลีกเลี่ยงทำธุรกรรมที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท หลายๆ ครั้ง และสลับเปลี่ยนร้าน ถือเป็นธุรกรรมต้องสงสัย ต้องแจ้งต่อ ปปง.ทันที รวมทั้งผู้ประกอบการต้องเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นเวลา 5 ปี หากไม่เก็บและภายหลังมีคดีเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจะถูกปรับ รวมทั้งถ้าไม่รายงานธุรกรรมมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือปรับเป็นรายวันๆ ละ 5,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับกระบวนการตรวจสอบ หลังบังคับใช้กฎหมาย ปปง.จะตรวจปฏิบัติการ โดยเริ่มจากกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมของ 9 อาชีพนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงการฟอกเงิน นอกจากนี้ จะตรวจในกลุ่มเสี่ยงที่ได้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ส่วนธุรกรรมการเงินของ 9 กลุ่มอาชีพนี้ เป็น 9 กลุ่ม ที่มีข้อมูลการฟอกเงินในปริมาณสูง เนื่องจากทุกปีจะมีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก เช่น ธุรกรรมการเช่าซื้อรถยนต์ มีวงเงินหมุนเวียนประมาณ 700,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น