สภาสูงค้านทำประชามติปาหี่ต่ออายุหุ่นเชิด ย้ำทางออกเดียวของวิกฤติชาติคือ “หมัก” ต้องออก หรือยุบสภาเท่านั้น ระบุหากทำจริงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ผลาญงบอีก 2 พันล้าน ล่าสุดส่อวืดแน่นอนแล้ว ต้องรอให้วุฒิสภาใช้เวลาพิจารณา 90 วันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติก่อน เริ่มวาระแรก 5 ก.ย.นี้
วานนี้ (4 ก.ย.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมติทำประชามติเพื่อหาทางออกกับวิกฤตของประเทศในขณะนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เลยระยะเวลาที่จะทำประชามติไปแล้ว และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำประชามติอะไร เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่ความชอบธรรมที่จะมาขอประชาชนมติของประชาชน เนื่องจากประชาชนได้ให้โอกาสรัฐบาลได้บริหารประเทศแล้วแต่ไม่สามารถที่จะนำพาชาติรอดไปได้ มีแต่จะสร้างการเผชิญหน้า จนนำไปสู่ความรุนแรงและทำให้ประชาชนเสียชีวิต
นายประสาร กล่าวต่อว่า หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ รัฐบาลจะต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะประเทศชาติได้บอบช้ำไปมากแล้วจาการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นการหาออกดังกล่าวเป็นการซื้อเวลา และหาทางออกให้กับรัฐบาลเท่านั้น เชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไปไม่ถึงจุดการทำประชามติอย่างแน่นอน
นายประสาร กล่าวว่า ขั้นตอนการทำประชามติไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน เพราะรัฐบาลต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา กว่าจะผ่านสภา กว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดวันเวลาในการลงมติ และทำความเข้าใจต่อประชาชนอย่างทั่วถึงต้องใช้เวลาเป็นเดือน และต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยในการทำประชาพิจารณ์ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท ดังนั้นเมื่อเทียบระยะเวลา กับ งบประมาณที่ต้องสูญเสียไป จึงได้ไม่คุ้มเสีย
รัฐบาลควรจะยุบสภา หรือลาออก เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจจะดีกว่าจะให้ความไว้วางใจให้รัฐบาลชุดนี้กลับเข้ามาบริหารประเทศต่อไปอีกหรือไม่ เพราะหากทำประชาพิจารณ์ไปแล้วปัญหาก็ไม่จบเพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงปักหลักชุมนุมต่อไปที่จะขับไล่รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะดื้อดันกันอีกต่อไป
“หากนายสมัครต้องการรักษาประชาธิปไตย และปกป้องประเทศ ไม่ให้ชาติบอบช้ำมากไปกว่านี้ต้องเสียสละด้วยการลาออก หรือ ยุบสภา ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายมากไปกว่านี้” นายประสารกล่าว
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะทำประชามติ เสียเวลาเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ เพราะปัญหาขณะนี้มาไกลกว่าที่จะทำประชามติ มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ นายสมัครต้องลาออก หรือยุบสภาเท่านั้น ขณะนี้ประเทศชาติเสียหายมามากแล้วจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะมาขอประชามติจากประชาชนอีก ควรออกไปได้แล้วหากต้องการแก้ปัญหาของชาติอย่างแท้จริง
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การทำประชามติจะยิ่งเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งรุนแรง และทำให้ประชาชนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกข้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างแน่นอน สุดท้ายจะนำไปสู่การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นการทำประชามติ ไม่เป็นการแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ แต่เป็นการหาทางออกให้สำหรับรัฐบาลด้วยการประวิงเวลา เพื่ออ้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้ประเทศเสียหายมากขึ้น เพราะนอกจากจะเสียเวลา และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้ชาติเสียโอกาสในการพัฒนา ทางออกที่เหมะสมคือ ลาออก และยุบสภา จะเหมาะสมที่สุด เพราะมีประชาชนจำนวนมากได้แสดงมาตรการอารยะขัดขืนต่อรัฐบาล ที่ได้ขยายวงกว้างออกไปตามต่างจังหวัด ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลจะชนะในการทำประชามติ ปัญหาก็ไม่จบอยู่ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ได้ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 และ 3 เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมของวุฒิสภาในวาระแรก โดยตามระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 5 กันยายนนี้ มีวาระด่วนเรื่องแรกคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หลังจากสภาผู้แทบราษฎรมีมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาในแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรค 4 และ วรรค 6
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งโดย นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธาน กกต.เป็นผู้เสนอ โดยมีหลักการและเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 165 บัญญัติให้การออกเสียงประชามติกระทำได้ในกรณีที่ ครม.เห็นว่ากิจการเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน นายกฯ อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนฯ และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ออกเสียงประชามติ หรือกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติอาจจัดให้ออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือกรณีให้คำปรึกษาของ ครม.ก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 42 มาตรา ส่วนใหญ่ปรับปรุงจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2541 ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2550 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายภายใน 1 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้