xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ชำแหละ “รัฐบาลหอกหัก” ใช้หมายจับบังหน้าทุบตีพันธมิตร-ยกธรรมะผู้นำสอน “หมัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล
ส.ว.ปฏิเสธฝักใฝ่พันธมิตรฯ ยันต้องลงพื้นที่ตรวจสอบในฐานะตัวแทน ปชช. ยืนยันมีการใช้แก๊สน้ำตา และทุบตีกลุ่มผู้ชุมนุม โดยใช้หมายศาลบังหน้าหาความชอบธรรมให้ตัวเอง ชี้ต้นเหตุมาจากรัฐขาดธรรมาภิบาล ยกราชธรรมสอน “หมัก” ย้อนดูตัวเอง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ส.รสนา โตสิตระกูล อภิปราย 

วันนี้ (31 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร อภิปรายชี้แจงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ส.ว.บางกลุ่มฝักใฝ่กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในฐานะตัวแทนประชาชน ซึ่งจากการลงพื้นที่ยืนยันชัดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยมีการใช้แก๊สน้ำตา ใช้โล่และกระบองตีประชาชน ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บนับสิบราย ซึ่งไม่ตรงกับคำปฏิเสธของนายสมัครผ่านรายการสนทนาตามประสาสมัครเมื่อเช้านี้อย่างสิ้นเชิง

น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องได้รับคำสั่งจากฝ่ายนโยบายทางการเมืองโดยใช้หมายศาลบังหน้าเพื่อรับรองความชอบธรรม ก่อนนำกำลังเข้าทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรถือเป็นปัญหาปลายเหตุแต่ต้นเหตุมาจากรัฐบาลขาดหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งนายกรัฐมนตรีคนนี้ยังพยายามสร้างความแตกแยกด้วยการเรียกร้องให้สื่อมวลชนและประชาชนเลือกข้าง ประเด็นเหล่านี้หากเกิดขึ้นในต่างประเทศ รัฐบาลคงไม่หน้าด้านหน้าทนนั่งบริหารประเทศต่อไป

ส.ว.กทม.ยังได้ยกธรรมะสำหรับผู้นำ 10 ข้อ สอนนายสมัครว่า ผู้นำประเทศต้องรักษาราชธรรม 10 ประการ เป็นหลักในการปกครอง และเรียกร้องให้นายสมัครปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ และทบทวนการทำหน้าที่ในบทบาทผู้นำประเทศ เพื่อยุติวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่กำลังลุกลามอยู่ในขณะนี้

สำหรับเนื้อหาของการอภิปรายของ น.ส.รสนา มีดังนี้
.....................
“ดิฉันเองมีเวลา 15 นาทีนะครับ แต่เนื่องจากคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ได้กล่าวอ้างถึงตัวดิฉัน ขอใช้สิทธิ์พาดพิงอีก 5 นาทีนะคะ คือ ดิฉันเองมีประเด็นที่จะต้องพูดถึงในประเด็นที่มีการกล่าวอ้างถึงเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้ลงไปเยี่ยมในพื้นที่ (การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ) โดยกล่าวอ้างว่าการลงไปของสมาชิกวุฒิสภานั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แล้วก็เป็นการไปถือหางฝ่ายพันธมิตรฯ ดิฉันอยากจะขอชี้แจงนะคะว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เรามีความจำเป็นที่จะต้องลงไปดูเพื่อหาข้อมูลนะคะ ไม่ได้ลงไปเพื่อที่จะถือหางใคร

“การที่เราได้ลงไปในพื้นที่ เมื่อวันที่ 26 (ส.ค.) ตอนตี 3 จริงๆ แล้ววันที่ 27 ปรากฎว่ามีความพยายามของฝ่ายกำลังตำรวจที่จะเข้าไปทำเนียบแล้วเกิดการปะทะกัน อันนี้เป็นสาเหตุให้วันที่ 27 ที่ผ่านมาคณะของวุฒิสมาชิกได้ลงไปดูเพื่อที่จะหาข้อเท็จจริงนะคะ วุฒิสมาชิกไม่เคยลงไปในเวทีของพันธมิตรฯ เมื่อยังไม่มีวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น เราลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนเพราะว่าเราเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน ดิฉันไม่อยากเห็นรัฐบาล หัวหน้ารัฐบาล พยายามแบ่งแยกประชาชนนะคะ ประชาชนอย่างไรก็เป็นประชาชนทั้งหมด

“การลงไปอีกครั้งคือวันที่ 28 เพราะว่าในขณะที่มีการประชุมวุฒิสภาในช่วงเช้า ก็มีข่าวออกมาว่ามีการเข้าไปปิดหมายและมีการสลายการชุมนุม เกิดการบาดเจ็บ จึงมีความจำเป็นที่คณะของวุฒิสมาชิกจะได้ลงไปดูในพื้นที่

“ดิฉันเองได้ขออนุญาตท่านประธานในการขอเปิดดีวีดีเพื่อประกอบการอภิปราย แต่ว่าท่านประธานไม่โปรดอนุญาต ท่านเขียนเอาไว้ว่า “ภาพการตีกันไม่ควรเผยแพร่อีก ขอความกรุณาเพื่อความสมานฉันท์สำหรับการประชุม” ซึ่งดิฉันคิดว่าก็ไม่ฉายภาพดีวีดีก็ได้ แต่ต้องขออนุญาตเอาภาพมาประกอบ ก็ต้องขอประทานอนุญาตท่านประธานด้วย เนื่องจากว่าภาพเหล่านั้น ถ้าเป็นภาพนิ่งก็จะไม่รุนแรงจนเกินไป เนื่องจากมีการพูดถึงว่าไม่ได้มีการเข้าไปสลายการชุมนุม ไม่ได้มีการใช้แก๊สน้ำตา ท่านนายกฯ ปฏิเสธว่าไม่มีนะคะ

“ตรงจุดนี้เมื่อเราลงไปในพื้นที่ เราลงไปตรวจสอบพบว่ามีการใช้แก๊สน้ำตา มีการตีกัน (แสดงภาพ) อันนี้เป็นภาพประชาชนไปล้อม กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อตอนหัวค่ำของวันที่ 28 ก็มีการยิงแก๊สน้ำตาออกมา แต่เห็นภาพประชาชนที่หมอบอยู่ ภาพต่อมาเราจะเห็นว่าคนโดนแก๊สน้ำตาแน่นอน อันนี้เป็นหลักฐาน มีคนบาดเจ็บ ภาพถัดมาก็เป็นภาพของคนที่บาดเจ็บจากการเข้าไปปิดหมายของตำรวจ

“ซึ่งอันที่จริงฉันอยากจะขอกราบเรียนท่านประธานและเพื่อนสมาชิกทุกท่านว่า การที่เราเข้าไปนั้นเราไม่ได้เข้าไปที่เวทีของพันธมิตรฯ เท่านั้น เราได้เข้าเยี่ยมเยียนตำรวจชั้นผู้น้อยที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้กำลังใจ เราเข้าใจว่าตำรวจชั้นผู้น้อยนั้นมีความเหน็ดเหนื่อย มีความเครียด อาจจะเกิดการปะทะกันได้ เราก็ไปขอร้องนะคะว่าอย่าใช้ความรุนแรง หลังจากนั้นเราก็เดินทางไปที่ บช.น. เพื่อพบกับผู้บริหารที่นั่น แล้วก็มีโอกาสได้พบกับท่าน ผบ.ตร. ซึ่งท่านก็ได้พูดให้ฟังว่า การเข้าไปปิดหมายแล้วเกิดการบาดเจ็บขึ้นมานั้นท่านก็จะไม่ทำอีกต่อไป เพราะว่าการเข้าไปปิดหมายหรือเข้าไปบังคับ รื้อพื้นที่ตรงจุดนั้นทำให้ประชาชนเดือดร้อน ท่านก็จะงดเว้นไม่ทำจะถอนกำลังออก ซึ่งเราก็ดีใจนะคะที่ทาง ผบ.ตร.ท่านได้พูดเช่นนั้น แต่ปรากฎว่าพอตอนเย็นก็มีการใช้แก๊สน้ำตากัน ซึ่งกรณีนี้ดิฉันคิดว่าอยากจะขอให้ทางรัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้

“การที่เราได้เข้าไปในพื้นที่ทำให้เราได้พบสิ่งที่เป็นจริง และได้มีโอกาสได้พบกับผู้อำนวยการของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมที่เอาหมายมาปิด เนื่องจากทางสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าไปหลายท่าน หลายๆ ท่านเป็นนักกฎหมาย เราจึงได้เห็นเอกสารที่ได้มีการระบุว่า หมายที่ทางศาลได้ส่งมาให้นั้น ให้แจ้งแก่จำเลยทั้ง 6 ประกอบไปด้วย พล.ต.จำลอง นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นต้น ให้เป็นผู้รื้อถอนสิ่งต่างๆ ออกไป และเนื่องจากว่า หมายอันนั้นเป็นการคุ้มครองชั่วคราว มิใช่การคุ้มครองฉุกเฉิน เมื่อจำเลยได้รับ เขามีเวลา 15 วัน ในการปฏิบัติตาม หลังจาก 15 แล้วถ้าเขาไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีการดำเนินการต่อไป แต่ปรากฎว่าเมื่อนำหมายเข้ามาแล้ว ทางตำรวจก็ได้เข้าไปรื้อเวทีทำลายข้าวของต่างๆ จนเกิดการปะทะกัน ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นการทำเกินกว่าหน้าที่ เป็นการเกินกว่าเหตุ ส่วนนี้ดิฉันคิดว่า ก็สมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบกัน

“แล้วการที่ทางสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าไปนั้นนอกจากการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยแล้ว เราก็มีประธานกรรมาธิการต่างๆ ประธานกรรมาธิการปกครอง ยุติธรรม ตำรวจ ธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริตทั้งหลาย เพราะฉะนั้น การที่เราได้ลงไปดูในพื้นที่ เราจึงพบว่า บางครั้ง สิ่งที่เราได้พบคือ รัฐบาลได้ใช้หมายศาลในลักษณะที่จะเข้าไปใช้ความรุนแรง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา สิ่งที่เราเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เราไม่ต้องการให้เกิดน้ำผึ้งหยดเดียวแล้วเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาคม (2516) ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นดิฉันเองไม่อยากกล่าวโทษตำรวจที่ปฏิบัติงาน แต่นโยบายทางการเมืองคือตัวปัญหา นโยบายทางการเมืองในการสั่งให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงานเข้าไปลุย อันนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันคิดว่าไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข

“พันธมิตรฯ เองเมื่อเข้ามายึดพื้นที่นั้น ดิฉันคิดว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากว่ามีการกระทำความรุนแรงหรือกระทำผิดกฎหมายก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ว่าการดำเนินการตามกฎหมายก็ควรจะทำให้พอเหมาะแก่กรณี การที่กล่าวหาว่ากลุ่มที่ชุมนุมนั้นเป็นกบฎ ดิฉันคิดว่าเป็นการเสริมความรุนแรงให้เกิดขึ้น เป็นการสร้างความเคืองแค้นในการที่จะตอบโต้มากขึ้น เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า การที่รัฐบาลพยายามใช้หมายศาลเป็นการรองรับความชอบธรรม แต่ที่จริงแล้วคำสั่งของศาลมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดความสันติ แต่รัฐบาลใช้หมายศาลเพื่อรับรองความชอบธรรมในการเข้าไปลุย อันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ศาลจึงมีเมตตาที่จะให้มีการทุเลาการบังคับคดี เพราะรัฐบาลใช้หมายศาลไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

“การชุมนุมของประชาชน ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหาปลายเหตุ ปัญหาต้นเหตุนั้นเกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ขาดธรรมาภิบาล การที่รัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติในฟากของรัฐบาลกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าท่านมาจากการเลือกตั้ง ย่อมที่จะมีความชอบธรรม อันนั้นก็จริงอยู่นะคะ แต่ที่จริงแล้วนอกเหนือจากการมาโดยการเลือกตั้งที่จะมีความชอบธรรมแล้ว การบริหารงานนั้นต้องมีธรรมาภิบาลด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลบริหารงานโดยขาดธรรมาภิบาลดิฉันคิดว่าสิ่งนั้นจะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมคัดค้าน การที่รัฐบาลกล่าวถึงคนเหล่านั้นว่าเป็น “กบฎ” ก็ยิ่งเสริมให้ “กบฎ” นั้นมีมากขึ้น

“ดิฉันคิดว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณาตรงนี้ให้มากขึ้นนะคะ ว่าการกระทำของรัฐบาลเป็นการเพิ่มปริมาณของคนที่เป็นกบฎมากขึ้นหรือไม่ ถ้าหากว่าการกระทำนั้นเป็นการเพิ่มกบฎให้มากขึ้น ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และยังคิดว่าการที่รัฐบาลเรียกร้องให้คนเหล่านั้นเคารพกฎหมาย รัฐบาลก็จะต้องไม่ทำตัวเป็นรัฐบาลแม่ปูนะคะ คือ รัฐบาลแม่ปูคือรัฐบาลได้มีการเคารพในกฎหมายหรือในรัฐธรรมนูญที่เราได้กล่าวปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือไม่เพียงไรนะคะ

“อีกประการหนึ่งคือการปฏิบัติงานของรัฐบาลนั้นจะต้องไม่มีลักษณะของการแยกพวกแยกข้างหรือมีหลายมาตรฐาน หรือการเข้าไปแทรกแซง ... เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการเลือกตั้งเข้ามาไม่สามารถที่จะใช้เป็นความชอบธรรมเพียงประการเดียว ในหลายประเทศรัฐบาลเขาลาออกได้ค่ะ แม้แต่รัฐบาลของเกาหลีที่ได้กระทำผิดโดยการกระทำผิดด้วยการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐอเมริกา เมื่อประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐมนตรีทั้งคณะลาออกนะคะ รัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นก็ลาออกเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นายนิกสัน ซึ่งมีคดีวอเตอร์เกต เพียงแค่ไปดักฟังก็ต้องลาออกนะคะ ซึ่งถ้าหากไม่ลาออกหรือเราขาดมารยาทางการเมือง ขาดจริยธรรมทางการเมืองก็ต้องเจอปัญหาที่คนมาชุมนุมกันมากขึ้น

“สิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่ารัฐบาลก็ควรจะต้องพิจารณา การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี การปรับเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล เป็นสิ่งทีเป็นธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเสียหน้าแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าหากรัฐบาลยังใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือโดยการกระทำนั้นก็ย่อมจะทำให้ปัญหานั้นหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น อย่างภาษิตไทยที่เขาว่า “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” นะคะ ดิฉันเองก็อยากให้ท่านรัฐมนตรีทั้งหลาย ท่านนายกรัฐมนตรีเอาไปพิจารณาด้วย

“ดิฉันคิดว่าคนที่เป็นผู้บริหารนั้นจะต้องมีราชธรรมนะคะ แล้วราชธรรมที่สำคัญสำหรับนักปกครอง ดิฉันคงไม่กล่าวทั้งสิบข้อ โดยนอกจาก “ศีล” คือการควบคุม กาย วาจา ใจแล้ว รัฐบาลหรือผู้ปกครองจะต้องมี “ตบะ” คือการที่จะต้องมีความอดทน อดกลั้น อย่างถึงที่สุด จะต้องมี “อโกรธะ” คือความไม่โกรธ จะต้องมี “อวิสิงหา” คือความไม่เคืองแค้น หรือการไม่แก้แค้น แสดงความอาฆาตมาดร้าย นอกจากนี้จะต้องมี “มัธวะ” คือความอ่อนโยน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สอนกับผู้บริหาร หรือนักปกครอง ราชธรรมเหล่านี้ไม่ได้สอนกับประชาชนทั่วไป ประชาชนทั่วไปให้มีศีลก็พอแล้ว

“เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าคนที่จะมาบริหารบ้านเมืองก็จะต้องปรับปรุงตัวเอง ดิฉันเองเห็นว่านอกเหนือจากการที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงคณะรัฐบาล ปรับปรุงผู้บริหาร หรือ ปรับปรุงหัวหน้ารัฐบาล ถ้าเพียงแค่ปรับ ครม. เพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ปรับปรุงพฤติการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า รัฐบาลขาดความเป็นธรรม รัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลของประชาชนทั้งประเทศ แต่รัฐบาลกลายเป็นเพียงหัวหน้าของพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้ย่อมทำให้ประชาชน ซึ่งเขาได้เสียภาษีให้กับประเทศ เขาสามารถและมีสิทธิ์ที่เขาจะต่อต้านได้

“เพราะฉะนั้นฉันคิดว่า รัฐบาลเอง ท่านนายกรัฐมนตรีเองเคยกล่าวไว้ว่า ครม.ของท่านขี้เหร่ เมื่อรู้ว่าขี้เหร่ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่การปรับเปลี่ยน ครม. ดิฉันคิดว่าจะต้องไปให้พ้นจากระบบโควต้า เพราะว่า สิ่งที่ประชาชนที่เขาชุมนุมที่เขาไม่พอใจก็คือ การเมืองแบบเดิมๆ ที่ใช้เงินใช้ระบบโควต้ามาตัดสิน ปรับไปเท่าไหร่มันก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ รัฐมนตรีขี้เหร่แล้ว ปรับใหม่อย่าให้เหลือแค่พยางค์เดียวนะคะ

“ดิฉันคิดว่าการปรับเปลี่ยน ครม. ปรับเปลี่ยนหัวหน้าเป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อวิธีการที่เราได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดความรุนแรงนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เหมือนกับหมอไม่สามารถรักษาโรคได้ เราก็สามารถเปลี่ยนหมอใหม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ไม่ควรจะมีทิฐิ แต่สิ่งที่สำคัญคือว่า การเปลี่ยน ครม. หรือเปลี่ยนหัวหน้า ครม.ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ พฤติการณ์ที่พยายามแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักฝ่าย อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลไม่ควรกระทำนะคะ

“ก่อนที่จะจบ ดิฉันอยากจะฝากพุทธพจน์ที่ว่า “อัตตานัง โจทยัตตานัง คือ จงเตือนตนต้วยตนเอง” ท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็เป็นสัพพัญญูทางการเมืองอยู่แล้ว ท่านสนใจในเรื่องของพุทธศาสนาอยู่แล้ว ดิฉันเองก็อยากจะขอฝากด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า เราทุกคนควรเตือนตนด้วยตนเองว่า ปัญหาที่แท้จริงนั้นมาจากไหน ปัญหาที่แท้จริงนั้นมาจากคนเพียงแค่ 5-6 คน ที่เวลานี้ขยายไปเป็นหลายหมื่น หลายแสนคนนั้น หรือว่าปัญหาทั้งหลายเกิดขึ้นกับตัวเราเอง ถ้าหากว่าเราไม่สามารถมองกลับมาที่ตัวเราเองแล้วแก้ไขปรับปรุงพฤติการณ์ต่างๆ แล้ว ดิฉันคิดว่าปัญหาก็ไม่มีทางจบ วิกฤตการณ์ก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ

“ดิฉันเองไม่อยากเห็นการเสียเลือดเนื้ออีกแล้ว ในประเทศนี้ เพราะฉะนั้นดิฉันยินดีที่เราจะใช้สภาฯ แห่งนี้ในการปรึกษาหารือ แล้วก็ฝากถึงท่านจตุพร พรหมพันธุ์ และ รวมทั้ง ส.ส.ท่านอื่นๆ ที่จะมาพูดกันต่อไปว่า อย่าพยายามใช้วาจาเสียดสี เพราะเมื่อท่านนายกรัฐมนตรีได้กรุณาให้มีการปรึกษาหารือ ก็ควรจะตั้งใจฟังอย่างจริงใจ ไม่ใช่ใช้เทคนิคในทางการเมือง เพราะว่าเทคนิคในทางการเมืองเหล่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ค่ะ

“การชุมนุมนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง เป็นเพียงปลายเหตุ แต่ต้นเหตุอยู่ที่ไหน ท่านต้องพยายามกลับไปค้นคว้านะคะ แล้วสิ่งเหล่านี้คนทั้งประเทศเขาเห็น และ เขาจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าท่านไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการ ขอบพระคุณค่ะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น