การใช้ความรุนแรงล้อมปราบประชาชนจนบาดเจ็บ ล้มตาย สะท้อนให้เห็นอาการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายในการรักษาอำนาจรัฐเอาไว้ในมือของรัฐบาลน้องเขยแม้ว ยิ่งใกล้วันพิพากษาคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ และคดียุบพรรคพลังประชาชน ซี่งใกล้ถึงกาลอวสาน รวมถึงการที่ป.ป.ช.รื้อคดีเก่าขึ้นมาเอาผิด และไล่บี้กรณีร่ำรวยผิดปกติ - ทุจริตสุวรรณภูมิ ซึ่งภริยาและลูกๆ ของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าไปเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า ขณะที่คำประกาศ ไม่ออก ไม่ยุบ (สภา) และดันทุรังเดินหน้าต่อไป ยิ่งทำให้ทางออกจากวิกฤตมืดมิด
การพิสูจน์ตรวจสอบหลักฐาน ผู้บาดเจ็บ ล้มตาย ที่ปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่บริเวณหน้ารัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คำปฏิเสธและการแก้ตัวใดๆ ของฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ลงมือปฏิบัติการสลายการชุมนุมในวันดังกล่าวหมดสิ้นความน่าเชื่อถือ ซ้ำยังถูกสังคมประณามว่า ตำรวจและรัฐบาลคือฆาตกร เข่นฆ่าประชาชน
ทางฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอบสนองต่อแรงกดดันของสังคมแบบตีสองหน้าเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา ด้านหนึ่ง มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการที่เป็นบุคคลซึ่งมาจากฝ่ายรัฐบาลและนายตำรวจ ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับการตั้ง “คณะโจรจับโจร”
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มีการเรียกระดมพล นปช. (นปก.) ซึ่งเป็น “กองกำลังเถื่อน” ชุมนุมเตรียมพร้อมที่ท้องสนามหลวง พร้อมเคลื่อนปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เตรียมแผนดาวกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ โดยอาศัยสถานี NBTรายการ “ความจริงวันนี้” ของสามเกลอปลุกระดม เรียกพล
ถึงแม้เวลานี้หลายฝ่ายจะประเมินว่า เหตุเผชิญหน้ารุนแรงคงจะไม่เกิดขึ้น ภายหลังงานพระราชทานเพลิงศพของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ“น้องโบว์” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพ เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกอะไรหลายอย่าง และให้คำตอบแจ่มชัดในตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นอีก เพราะทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเทกันหมดหน้าตัก โดยเฉพาะฟากฝั่ง “ทักษิณและนอมินี” ที่มีเดิมพันสูงถึงอนาคตทางการเมืองและชะตาชีวิตของคนในครอบครัวชินวัตรและวงศ์สวัสดิ์ ซึ่งต้องคดีและถูกตรวจสอบจากข้อกล่าวหาว่าพัวพันการทุจริตมากมาย
คดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตกเป็นจำเลย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 ต.ค. 51 ที่จะถึงนี้ เป็นชนวนให้อดีตนายกฯ พลัดถิ่น สั่งการให้ใช้ความรุนแรงสลายม็อบเพื่อทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ หาทางล้มคดีที่จะเอาผิดตัวเองและครอบครัวใช่หรือไม่ ยังเป็นข้อกังขาหนึ่งที่เคลือบแคลงสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา
ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามว่า สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องการให้เกิดเหตุเช่นนั้น ใช่หรือไม่ เพื่อลดกระแสกดดันที่กำลังถาโถมใส่ตัวเขาเอง ภริยา และลูกๆ จากข้อหาติดสินบนศาลช่วย “ทักษิณ” คดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544 รวมทั้งคดีซุกหุ้น ร่ำรวยผิดปกติ และพัวพันกับการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิของตัวเขาเองและครอบครัว ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ถูกเปิดโปงต่อสาธารณะนับตั้งแต่นาทีแรกที่เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถูกกลุ่มพันธมิตรฯ กดดันเพราะต้องการเห็นผลงานการตรวจสอบเอาผิดครอบครัวชินวัตรและวงศ์สวัสดิ์ พร้อมพวก ในคดีต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในมือ กำลังเร่งเครื่องเพื่อไม่ให้ ป.ป.ช. ถูกติฉินนินทาว่าเป็นหลุมดำดองคดีทักษิณ-สมชาย และครอบครัว-พวกพ้อง เพราะป.ป.ช. บางคนมีความใกล้ชิดและรับใช้ “ทักษิณ”
การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 16 ต.ค.51 จึงจะมีการลงมติชี้มูลความผิดคดีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ช่วงที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น เป็นรมว.กระทรวงยุติธรรม (2540 – 2543) สั่งระงับเรื่องไม่ให้ดำเนินคดีกับนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดีที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม จำนวน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาล จ. ธัญบุรี จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย
คดีข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2549 โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงแก่นายประมาณ และนายมานิต ไปแล้ว เมื่อปี 2549 และคณะกรรมการ อ.ก.พ. กระทรวง มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ไล่ออกจากราชการ
คดีที่ดินศาลธัญบุรี นับเป็นคดีที่โด่งดังและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมมา แต่การกระบวนการตรวจสอบ สอบสวนความผิดไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดแจ้ง นายมานิตย์ สุธาพร รองอธิบดีกรมบังคับคดี ขณะนั้น ได้รับการปกป้องจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีคำสั่งให้ยุติการสอบสวนเรื่องดังกล่าว เมื่อครั้งที่จะมีการเสนอชื่อนายมานิตย์ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมบังคับคดี ทำให้การสอบสวนทางวินัยนายมานิตย์ ชะงักลง นานกว่า 7 ปี
คดีนี้ นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ สมัยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา เป็นผู้ร้องเรียนต่อกระทรวงให้ตรวจสอบการเรียกรับสินบนและขอให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในการบังคับคดีที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี มาตั้งแต่ปี 2541 แต่การสอบสวนของกระทรวงที่เข้าลักษณะลูบหน้าปะจมูก
มิหนำซ้ำ นายชำนาญ เอง ยังถูกนายสุทัศน์ และนายมานิตย์ เล่นงานกลับ โดยยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลฎีกา ให้สอบสวนความประพฤติของนายชำนาญ ในที่สุด นายชำนาญ จึงเดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สอบสวนนายนายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ขณะนั้น) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการสอบวินัยและเอาผิดนายมานิตย์ และนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน
การขุดคดีค้างเก่าขึ้นมาเอาผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเวลานี้ อาจมีผลลัพธ์เช่นเดียวกันกับรัฐมนตรีที่ถูกคดีหวยบนดิน ซึ่งไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ
แต่นี่คือสัญญาณหนึ่งที่ถูกส่งออกไปเพื่อเตือนให้รู้ว่า หมดเวลาแล้วสำหรับการบริหารประเทศของรัฐบาลน้องเขยแม้ว และนับจากนี้คดีความต่างๆ ที่ถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ทั้ง “สมชาย – เยาวภา” โยงใยไปถึงลูกๆ จะปรากฏผลเอาผิดติดตามออกมาเป็นระลอก
///////////////////////////
ผลงาน “สมชาย” ปกป้อง “มานิตย์” ผู้ถูกป.ป.ช.ชี้มูลประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 49 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดีคนหนึ่ง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีการสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาทที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนวน 897 ล้านบาทของศาลจังหวัดธัญบุรี
ทั้งนี้ จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ของ ป.ป.ช. พบว่าศาลจังหวัดธัญบุรีได้ขายทอดตลาดที่ดิน 2 แปลงที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้ผู้ซื้อรายหนึ่งในราคา 897 ล้านบาท โดยผู้ซื้อได้วางเงินค่าซื้อทรัพย์ 70 ล้านบาทต่อศาล และได้ส่งเงิน 70 ล้านบาทมายังกรมบังคับคดี
แต่ นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดีในขณะนั้น มีคำสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาทที่ได้จากการขายทอดตลาด โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดร้อยละ 5 ตามกฎหมาย ทั้งที่กรมบังคับคดีมีหน้าที่ต้องหักค่า ธรรมเนียมการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 318 และ 319 จากเงินดังกล่าวก่อนแล้วค่อยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับเงิน ดังนั้น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากการไต่สวนยังพบว่า ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหุ้นของบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งจำนวน 10,000 หุ้น จากประธานกรรมการบริษัทฯ ที่มาซื้อที่ดินแปลงนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาได้นำหุ้นดังกล่าวไปขายได้เงินมา 865,650 บาท
ส่วนเงิน 70 ล้านบาทที่ได้คืนไปนั้น พบว่ามีการโอนเข้าบัญชีของบริษัทมหาชนบริษัทแห่งนี้จำนวน 56.5 ล้านบาท และโอนเข้าบัญชีประธานกรรมการประธานบริษัทที่เป็นผู้มอบหุ้นให้ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 13.5 ล้านบาท แม้ผู้ถูกกล่าวหาแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการซื้อหุ้น แต่จากหลักฐานและเหตุผล ที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหานั้นฟังไม่ขึ้น โดยเห็นว่าการได้รับหุ้นดังกล่าวเป็นการแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบ อันเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้ถูกกล่าวหาสั่งคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดโดยไม่หักค่าธรรมเนียม ร้อยละ 5 ตามกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้กรมบังคับคดีได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียม ถือว่ามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อ หน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีมูลเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา จึงให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาล