“สมชาย” ระทึก หลัง ป.ป.ช.จ่อฟันฐานละเมิดดำเนินคดีไม่เก็บค่าธรรมเนียมที่ดิน 70 ล้าน ในสมัยที่ยังนั่งเก้าอี้ “ปลัดยุติธรรม” เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย เผยหากพบมูลความผิด เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องศาลต่อ พร้อมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “นายกฯ” ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่
วานนี้ (13 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 16 ต.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีวาระจรเรื่องการลงมติชี้มูลความผิดคดีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณีการสั่งระงับเรื่องไม่ให้ดำเนินคดีกับนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม จำนวน 70 ล้านบาท ซึ่งได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาล จ.ธัญญบุรี จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุม แต่เป็นเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการ ป.ป.ช.ได้เลื่อนมา และค้างพิจารณาไว้ตั้งแต่เดือน ก.ย. ดังนั้นการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง จึงอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่
สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงตั้งแต่เดือน พ.ย.2549 โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้สรุปสำนวนคดีส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาชี้มูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงแก่นายประมาณ และนายมานิตย์ ไปแล้วว่า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ฐานทุจริตต่อหน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบ และกระทำผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ด้าน แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.เปิดเผยว่า หาก ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากให้นายสมชายมีความผิด ก็จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องศาลต่อไป แต่จะเกิดปัญหาว่านายสมชาย จะต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 55 ระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า ข้อกล่าวหาใดมีมูล และข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องที่ประธานวุฒิสภาส่งมาตามมาตรา 43 (1) หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 43 (2) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา ซึ่งแล้วแต่กรณี
ส่วนกรณีหาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิด นายสมชายจะต้องยุติการทำงานหรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ถือเป็นกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน โดยต้องพิจารณาว่าการกระทำในสมัยที่นายสมชาย ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม จะมีผลบังคับมาถึงตำแหน่งนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่นายสมชายดำรงอยู่หรือไม่ เหมือนกับกรณีที่ 3 รัฐมนตรีมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติจากการเป็นจำเลยในคดีหวยบนดิน ดังนั้น ป.ป.ช.อาจต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ