ยื้อมา 9 ปี แต่กรรมเริ่มทยอยตามมาทันจนได้ เช้า “พี่เมีย” ถูกศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดียึดทรัพย์จากการโกงชาติ 7.6 หมื่นล้าน ตกบ่ายถึงคิว “น้องเขย” กับพวก ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานจงใจไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมขายที่ดินสมัยเป็นปลัดยุติธรรม 70 ล้านบาท จับตารอฟังเหตุผลแบบด้านๆ หาเหตุผลเพื่อนั่งเก้าอี้ผู้นำอย่างไรต่อไป
วันนี้ (16 ต.ค.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายบัณฑิต รชตะนันท์ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 84 และมาตรา 85 ฐานไม่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของราชการ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวเกิดจาก กรณีการสั่งระงับเรื่องไม่ให้ดำเนินคดีกับ นายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี กรณีศาลจังหวัดธัญบุรีได้ขายทอดตลาดที่ดิน 2 แปลงที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อปี 2542 ให้บริษัท โมเดิร์นโฮม จำกัด (มหาชน) ในราคา 897 ล้านบาท โดยผู้ซื้อได้วางเงินค่าซื้อทรัพย์ 70 ล้านบาทต่อศาล และได้ส่งเงิน 70 ล้านบาท มายังกรมบังคับคดี แต่นายมานิตย์ และนายประมาณ ผู้ถูกกล่าวหา มีคำสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาด โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดร้อยละ 5 ตามกฎหมาย ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งสำนวนการสอบสวนให้ อ.ก.พ.กระทรวงยุติธรรมพิจารณาลงโทษนายสมชายย้อนหลังและคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) พิจารณาโทษนายบัณฑิต ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ต้องยึดสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ในการพิจารณาโทษดังกล่าวซึ่งบุคคลทั้งสองมีโทษถึงปลดออกจากราชการ
สำหรับ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เนื่องจากความผิดดังกล่าวไม่ใช่ความผิดทางอาญา เป็นเพียงความผิดทางวินัย เมื่อนายสุทัศน์พ้นตำแหน่งไปแล้วและไม่ใช่ข้าราชการประจำจึงไม่สามารถดำเนินใดๆ ได้
ที่กระทรวงยุติธรรม แหล่งข่าวในกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ต้องรอให้ได้รับหนังสือชี้มูลความผิดอย่างเป็นทางการจากป.ป.ช.ก่อน และตามขั้นตอนผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กระทรวงยุติธรรมในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน(อ.ก.พ.) กระทรวงยุติธรรม จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม อ.ก.พ. ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานให้พิจารณา ก่อนจะมีมติ ซึ่งโทษความผิดทางวินัยร้ายแรงมี 2 อย่าง คือปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ อย่างไรก็ตามหลังจากอ.ก.พ.มีมติลงโทษความผิดทางวินัยร้ายแรงแล้ว หากผู้ถูกกล่าวหาไม่พอใจหรือเห็นว่าโทษที่ได้รับไม่เป็นธรรม ก็สามารถยื่นอุทธรณ์การลงโทษต่อ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)หรือยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ ส่วนกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์หรือไม่นั้น แหล่งข่าวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น