xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้องกล้ายางพ่นพิษ! “ประมุขศาล” สั่งสอบคำพิพากษารั่วหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผย ประธานศาลฎีกา สั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คำพิพากษาคดีกล้ายางรั่วก่อนอ่าน ตามกระแสข่าวลือหรือไม่ ด้าน ปธ.แผนกคดีนักการเมือง มั่นใจในระบบรักษาความลับคำพิพากษา เชื่อเป็นการคาดเดากันไปเอง

วันนี้ (24 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังการอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายาง แล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำพิพากษารั่ว เพราะผลคำพิพากษาไปตรงกับที่มีการคาดคะเนไว้นั้น เรื่องนี้ นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการเสนอเรื่องเพื่อที่จะได้ลงนามในคำสั่งตั้งผู้พิพากษาระดับสูง จำนวน 3 คน เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า มีบุคคลภายนอกรู้ผลคำพิพากษาก่อนที่องค์คณะจะอ่านจริงหรือไม่ โดยคณะกรรมการที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ม.68 ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นโดยไม่ชักช้า และตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้น พ.ศ.2544 ที่กำหนดให้คณะกรรมการต้องสอบสวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ามีการรู้ผลคำพิพากษาก่อนศาลฎีกาฯอ่านจริงหรือไม่

เมื่อถามว่า คณะกรรมการจะต้องสอบถามองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตกล้ายางทั้งคณะด้วยหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะเชิญองค์คณะท่านใดมาสอบถาม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องทุกคน นอกจากนี้ คณะกรรมการยังสามารถเรียกบุคคลภายนอกที่เคยกล่าวถึงผลคำพิพากษาว่าจะออกมาอย่างที่มีการอ่านคำพิพากษา เพื่อมาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งผู้แทน ส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่สอบสวน ให้คณะกรรมการได้ โดยอาศัยอำนาจตาม ประกาศ ก.ต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน ม.71 ที่ให้อำนาจคณะกรรมมีอำนาจเทียบเท่ากับพนักงานสอบสวน ตาม ป.อาญา

เมื่อถามว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุ ว่า ถ้ามีผู้ล่วงรู้เป็นเพราะมีการพูดคุยเฉพาะผู้พิพากษาแล้วมีเจ้าหน้าที่ได้ยินแล้วล่วงรู้ถึงบุคคลภายนอก หรือเป็นการจงใจ นายสราวุธ กล่าวว่า การสอบสวนข้อเท็จจริง ก็จะพิจารณาประเด็นทั้งหมดว่ามีการล่วงรู้คำพิพากษาก่อนอ่านหรือไม่ ถ้ามีเป็นการจงใจนำคำพิพากษาไปบอกหรือไม่ หากจงใจก็ถือว่ากระทำผิดประมวลจริยธรรม และระเบียบอยู่แล้ว เพราะคำพิพากษาเป็นความลับจนกว่าจะอ่านอย่างเปิดเผย ซึ่งการจงใจทำผิดมีโทษทางวินัย ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าถ้ามีการรั่วไหลจริง โดยมีผู้เกี่ยวข้อง ก็จะต้องเสนอรายงานให้ประธานศาลฎีการับทราบเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่พบความผิดปกติ เรื่องก็ยุติไป

“การตรวจสอบนี้เพื่อให้สังคมเข้าใจ โดยไม่ต้องสงสัย เพราะเวลานี้มีคนพูดกันว่ารั่วหรือเปล่า จึงตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะยังอีกหลายคดีที่ศาลรอตัดสิน เรื่องนี้ที่ศาลดำเนินการ ขอย้ำว่าดำเนินการมาก่อนแล้ว ไม่เกี่ยวว่าวันนี้มีใครมายื่นเรื่องให้ตรวจสอบ” รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวย้ำ

ด้าน นายพงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวถึงกรณีที่มีผู้วิจารณ์เกี่ยวกับผลคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายาพาราที่ผลออกมา 8 ต่อ 1 โดยล่าสุด นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตุว่าอาจเป็นความบังเอิญ หรือระบบเก็บความลับไม่ได้จนมีข่าวรั่ว ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากระบบจัดเก็บคำพิพากษาของศาลฎีกาถือว่ามีความรัดกุม และสมบูรณ์เต็ม 100% แต่น่าจะเป็นเรื่องของการคาดเดามากกว่า โดยการคาดเดา เช่นการเดาจากสถิติคดีเก่าๆ ที่ศาลเคยมีคำพิพากษามาแล้ว ซึ่งการจัดเก็บคำพิพากษานั้นเวลานี้ถือว่าระบบศาลฎีกาดีที่สุด 100%

เมื่อถามว่า การที่มีผู้วิจารณ์เกี่ยวกับผลคำพิพากษาทำนองว่า มีการั่วไหล แล้ววันนี้กระทบศาลจะมีการดำเนินคดีหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การวิจารณ์เกี่ยวกับผลคำพิพากษานั้นก็ทำได้ภายใต้ขอบเขตที่ไม่กระทบบุคคลอื่น แต่หากวิจารณ์เกินขอบเขต กฎหมายก็มีกระบวนการที่สามารถดำเนินได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันศาลได้ทำหน้าที่หลักในการพิพากษาคดีอย่างเป็นอิสระ โดยผู้พิพากษาไม่ต้องการพูดอะไรหรือโต้กับใคร เพราะไม่ต้องการให้เกิดการโจมตีกันไปมา

ขณะที่วันเดียวกันนี้ ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทย และสมาชิกชมรม เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อ นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการ ผ่านนายวิชัย อริยะนันทกะ เลขาธิการประธานศาลฎีกา เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบองค์คณะผู้พิพากษาในคดีทุจริตกล้ายางทั้ง 9 คน และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ตามหนังสือสรุปว่า ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อกล้ายาง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 เวลา 14.00 น. แต่เพราะเหตุใดก่อนมีคำพิพากษา ตรงกับคำปราศรัยฯ และการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ตรงกับผลของคำพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งนี้ นายวิชัย อริยะนันทกะ เลขาธิการประธานศาลฎีกา เป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าวไว้

ภายหลัง นายพิชา กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกาแล้ว จะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินขององค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตกล้ายาง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.39 (12) ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น