xs
xsm
sm
md
lg

ครส.ชี้ “พธม.” ยึดทำเนียบ เป็นสิทธิทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อหวังสลายกลุ่มพันธมิตรฯ และคัดค้านการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้พันธมิตรฯบุกยึดทำเนียบเป็นสิทธิทางการเมืองที่กระทำได้ เพราะใช้สันติวิธี

วันนี้ (27 ส.ค.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์คลี่คลายสถานการณ์ของรัฐบาล ต่อการปฏิบัติการทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังนี้ สืบเนื่องจากการปฏิบัติการทางการเมืองของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในวันอังคารที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยการบุกเข้าไปปิดล้อมและชุมนุมในสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสถานนีโทรทัศน์เอ็นบีทีของรัฐบาล โดยการบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยุติการดำเนินงาน เพื่อกดดันและเรียกร้องให้รัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งนั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นและข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน คลี่คลายปัญหาโดยใช้สันติวิธีและวิถีทางทางการเมือง ยุติความคิดในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่ชุมนุมกดดันอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล ด้วยการใช้กำลังปราบปรามด้วยความรุนแรง ดังที่เกิดการปะทะบางส่วนในช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ซึ่งจะนำมาสู่การสูญเสียและสถานการณ์อันเลวร้ายในอนาคตดังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวรัฐบาลสามารถใช้วิถีทางทางการเมือง และกระบวนการเจรจาทางการเมืองเพื่อคลี่คลายปัญหาได้ หากรัฐบาลตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต และการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวโดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน

2.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอคัดค้านการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของรัฐบาล รัฐบาลควรใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นพื้นฐาน ในการจัดการปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ การกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือเหตุสถานการณ์บานปลาย โดยไม่ฉวยโอกาสประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์ในกรุงเทพมหานคร เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางสังคมได้ อาจทำให้สถานการณ์บานปลายยิ่งขึ้น และปัญหาเหล่านี้ทหารไม่ควรมาเกี่ยวข้อง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพแต่อย่างใด

3.กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ได้บุกรุกเข้าไปในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT เมื่อช่วงเช้ามืดของวันอังคารที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อบังคับให้พนักงานของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวยุติการทำหน้าที่และตัดสัญญาณการออกอากาศ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน การข่มขู่ และขัดขวางไม่ให้สื่อมวลชนทำหน้าที่เพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชน แม้ให้เหตุผลว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลนั้น ไม่สามารถอ้างได้เพื่อใช้กำลังกระทำการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนดังกล่าวได้ ซึ่งถือเป็นการรอนสิทธิของผู้อื่นและปิดกั้นทางเลือกข้อมูลข่าวสารของประชาชน

4. กรณีที่ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ได้บุกเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการอื่นๆ และภายหลังได้บุกยึด “ทำเนียบรัฐบาล” นั้น ถือเป็น “สิทธิทางการเมือง” ที่สามารถกระทำได้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอเรียกร้องให้ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการการชุมนุม ใช้สันติวิธีและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาล ระมัดระวังและเคร่งครัดในการควบคุมการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุม มิให้เกิดการปะทะ หลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าและสถานการณ์ความรุนแรงให้เกิดขึ้นในอนาคต อันจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เอง และสังคมโดยรวม

5.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาพิจารณาต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง อันเป็นมูลเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหว เผชิญหน้า และความขัดแย้งทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา คือ ปัญหาการคอร์รัปชันของคณะรัฐบาลชุดเก่า โดยเฉพาะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล เราขอให้ทุกฝ่ายเคารพในกระบวนการยุติธรรม เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง โดยไม่มีการดำเนินการกดดัน หรือแทรกแซงกระบวนการศาลในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และต้องไม่ใช้วิถีทางนอกกระบวนการประชาธิปไตยใดๆ เพื่อลบล้างหรือทำลายกระบวนการดังกล่าวในอนาคต อันจะเป็นปลายเหตุของความรุนแรงและความขัดแย้งทางสังคมที่ไม่สิ้นสุด

6.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เป็นห่วงว่า สถานการณ์อาจจะขยายผลไปสู่ความรุนแรงขั้นจลาจลได้ หากทุกฝ่ายไม่ร่วมคลี่คลายปัญหา เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะ รัฐบาล, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคการเมืองทุกพรรค ร่วมเปิดเจรจาทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการรัฐสภา เปิดให้มีการอภิปรายทางการเมือง โดยเฉพาะจากฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยให้มีการโต้แย้งและลงมติทางการเมือง เพื่อแสวงหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อก้าวผ่านวิกฤตการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ และสร้างบรรทัดฐานสังคมประชาธิปไตยในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น