“กรณ์” ระบุ ธปท.ไม่มีอำนาจถอนอายัดทรัพย์ “แม้ว” ต้องสู้ในชั้นศาลเท่านั้น ลั่น แบงก์พาณิชย์ถอนอายัด เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และเลือกปฏิบัติ มั่นใจ ปชช.รู้ทันเล่ห์เหลี่ยม “ระบอบแม้ว” ทะลุปิดทางย้อนรอยคดีซุกหุ้น
วันนี้ (13 ส.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม.รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รมว.คลัง (เงา) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณี กมธ.เชิญผู้แทนจาก ป.ป.ช.กรมบัญชีกลาง กรมสรรพกร และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลกรณีที่ คณะกรรมการตรวจาสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีมติอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวว่า กรรมาธิการซีกพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางเพราะเกรงว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือใครบางคน ดังนั้นกมธ.จึงต้องมีการระมัดระวังเรื่องนี้ เพราะ คตส.ได้มีมติอายัดทรัพย์ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด สั่งฟ้องแล้วและล่าสุด ความเห็นของคณะทำงานร่วมระหว่งอัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช.ก็เตรียมสั่งฟ้องภายในสัปดาห์นี้ จึงอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนยุติธรรมมากกว่าเพื่อจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าการที่ กมธ.หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาหารือเพื่อต้องการหาทางช่วยให้มีการถอดอายัดทรัพย์หรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีอำนาจในการถอนอายัดทรัพย์ เนื่องจากคำสั่งเกิดจาก คตส.ที่ปฏิบัติตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ซึ่งให้อำนาจเต็มทั้งกฎหมาย ปปง.และกฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่สามารถสั่งให้สถาบันการเงินถอนอายัดทรัพย์ได้ นอกเสียจากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งอายัดตาม พ.ร.บ.ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นธนาคาพาณิชย์ จึงไม่สามารถที่จะถอดอายัดได้ไปจนกว่าการพิจารณาคดีจะถึงที่สิ้นสุด หากถอนอายัดในช่วงนี้จะถือละเมิดคำสั่งของ คตส.จะถือว่าเป็นความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความพยายามจากทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้สถาบันการเงินถอนอายัด นายกรณ์ กล่าวว่า ต้องไปต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาระบุว่ากระบวนยุติธรรมปฏิบัติ 2 มาตรฐานแต่กรณีนี้กลับพยายามที่จะมีการเล่นงานสถาบันการเงิน ที่ไม่ถอนอายัดทรัพย์ จึงอยากบอกว่าขณะนี้สังคมรู้ทันและติดตามความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตลอด ไม่เหมือนกับกรณีซุกหุ้น 1 เมื่อปี 2444-2445 ที่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้ ที่สำคัญคำสั่งอายัดทรัพย์ของ คตส.ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และส่งให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้พิสูจน์ต่อไป ซึ่งแตกต่างจาก สมัย รสช.ดังนั้นจึงได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่า ใครจะถูกจะผิดก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาลเท่านั้น
เมื่อซักว่ามั่นในกระบวนการทำงานของอัยการสูงสุดมากน้อยแค่ไหน เพราะก่อนหน้าที่ได้ตีกลับคดีอายัดทรัพย์ และเพิ่งจะมาฟ้องร่วมกับ ป.ป.ช. นายกรณ์ กล่าวว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอัยการสูงสุดเหมือนกันว่า หากอัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีแพ่งและอายัดทรัพย์ ป.ป.ช.สามารถที่จะยื่นฟ้องเองได้ ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะทำงานร่วมและเตรียมส่งฟ้องในที่สุด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าคดีเกี่ยวกับการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซีแอสเสท ที่อัยการสูงสุดฝ่ายคดีพิเศษ ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติม ที่อ้างว่ายังเหลือข้อมูลจากต่างประเทศนั้น ดีเอสไอไม่สามารถฟ้องร้องเองได้ หากอัยการสั่งไม่ฟ้องทุกอย่างก็จบ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าข้อมูลที่ตนได้ยื่นให้อีเอสไอ ไปก่อนหน้านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องรอข้อมูลจากต่างประเทศก็ได้
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชาชน และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน แถลงข่าวภายหลังการประชุมถึงการพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายกรณีอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า จากการสักถามนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุว่ายังไม่มติในการดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งกรณีนี้ คตส.พิจารณาเสร็จแล้ว และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดแต่ยังไม่สั่งฟ้อง ซึ่ง ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน และมีมติร่วมกันให้สั่งฟ้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จึงไม่สามารถก้าวล่วงหรือให้ความเห็นเรื่องการเข้าไปเพิกถอนหรืออายัดทรัพย์สินได้ เพราะเป็นอำนาจของ คตส. ซึ่ง ป.ป.ช.เป็นเพียงผู้รับเรื่องเพื่อดำเนินการต่อเท่านั้นเอง ทั้งนี้ การสืบสวนและระเบียบที่ คตส.ใช้เป็นระเบียบคนละตัวกับ ป.ป.ช. เพราะของ ป.ป.ช.จะดูการแสดงบัญชีทรัพสินย์ก่อนการรับตำแหน่ง และหลังการรับตำแหน่งว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นแค่ไหน และวงเงินที่จะถูกอายัดจะมีเท่าใด แต่ คตส.ดำเนินการโดยไม่ได้ใช้กฎหมายเดียวกับ ป.ป.ช.
ด้าน นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกแถลงการณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรมนั้น กมธ.ได้มีการพิจารณาถึงกรณีเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีอยู่ก่อนการกระทำความผิดก่อนที่จะขายหุ้นชินคอร์ปว่า การยึดทรัพย์ที่เลยไปถึงก่อนกระทำความผิดนั้นขอให้เพิกถอนได้หรือไม่ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ได้ชี้แจงต่อ กมธ.ว่าเรื่องขณะนี้ได้หลุดจากชั้น ป.ป.ช.ไปถึงชั้นของอัยการสูงสุดที่เป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมกับ ป.ป.ช.แล้ว จึงไม่มีสิทธิเพิกถอนได้แล้ว ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าจะให้เพิกถอนหรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณต้องไปฟ้องร้องต่อศาลเอาเองเท่านั้น ส่วนการที่ กมธ.ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณานั้น เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ รวมทั้งเกิดความสับสนของการปฏิบัติงานของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการความชัดเจนในการอายัดทรัพย์ ทาง กมธ.จึงได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง