xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงานอัยการควรได้รับการชำระสะสาง!

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พ้นหน้าที่ไปแล้ว 1 ปี 8 เดือน มีผลงานสรุปได้ดังนี้

คดีที่ฟ้องศาลแล้ว 1. คดีที่ดินรัชดาฯ 2. คดีสลากพิเศษฯ 3. คดีหลีกเลี่ยงภาษี

คดีที่มีมติดำเนินการฟ้องคดีเอง 1. คดีเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ 2. คดีกล้ายาง

คดีที่ส่งอัยการสูงสุดแล้ว 1. คดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 2. คดีท่อร้อยสายไฟ 3. คดีธนาคารกรุงไทย 4. คดีค่าแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

และที่กำลังสรุปสำนวน 1. คดีเซ็นทรัลแล็บ 2. คดีรถดับเพลิง 3. คดีแอร์พอร์ตลิงก์ 4. คดีบ้านเอื้ออาทร

เมื่อ คตส.พ้นหน้าที่คดีที่ค้างอยู่คือคดีที่ส่งอัยการสูงสุด และคดีที่กำลังสรุปสำนวน ก็ถูกส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

การดำเนินงานของ คตส.มีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ เมื่อ คตส.ดำเนินการตรวจสอบ และมีมติส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องนั้น คดีจะมาสะดุดอยู่ที่ขั้นตอนของอัยการที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ คดีเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ หนึ่ง คดีกล้ายางอีกหนึ่ง

ความขัดแย้งนั้นอยู่ตรงที่ คตส.เห็นว่าได้สอบสวน ได้ทำสำนวนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่อัยการมีความเห็นว่า ยังไม่สมบูรณ์ ต้องสอบสวนในประเด็นนั้น ประเด็นนี้เพิ่มขึ้น

แม้จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง คตส.กับอัยการขึ้นมาพิจารณา ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ดี คตส.จึงต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องเอง

ปัญหาที่น่าคิดในขณะนี้ก็คือ คดีที่ คตส.ส่งอัยการเรียบร้อยแล้วในขณะนี้ เป็นต้นว่า คดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 คดีร้อยสายไฟ สำนักงานอัยการสูงสุดจะพิจารณาอย่างไร จะใช้ความสุขุมคัมภีรภาพ และใช้เวลาในการพิจารณาเนินนานขนาดไหน

ต้องไม่ลืมว่าคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 อันอื้อฉาวนั้น มีอัยการสูงสุดเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่จะต้องตกเป็นจำเลยด้วย หากมีการฟ้องร้องคดีนี้ เพราะอัยการสูงสุดวันนี้ ตอนนั้นเป็นหนึ่งในคณะกรรมการท่าอากาศยานฯ ด้วย

อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องตัวเองให้เป็นจำเลยละหรือ ถ้าหากสั่งฟ้องจะอยู่ในตำแหน่งอัยการสูงสุดอย่างไร? และถ้าหากสั่งไม่ฟ้องจะตอบประชาชนอย่างไร?

มีคดีที่ค้างอยู่ที่อัยการอย่างน้อยที่สุด 2 คดีที่อัยการพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ สุขุมคัมภีรภาพ นั่นก็คือ คดีที่ กกต.ส่งไปให้พิจารณาให้อัยการส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ คดียุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ เพราะทั้งสองพรรคมีกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เขียนเอาไว้ว่า หากมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญมาตรานี้แหละครับที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีหุ่นบอกว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นกับดักเล่นงานพรรคพลังประชาชน เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยความเกลียดกลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรานี้เลย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาเขียนเอาไว้เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกพรรค ทุกคนต้องปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง

รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ยกเว้นให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือนักการเมืองใดนักการเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะใครทำผิดก็ต้องโดนลงโทษด้วยกันทั้งนั้น

การบอกว่านี่เป็นกับดักสำหรับพรรคพลังประชาชนของนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้คิดว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญรู้สันดานของพรรคการเมือง สันดานของนักการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งว่าจะต้องทำผิดกฎหมาย จะต้องซื้อสิทธิขายเสียงอย่างนั้นละหรือ

และถ้าหากรู้ว่าเขาเขียนเป็นกับดักไว้อย่างนั้น นักการเมืองหน้าโง่นั้นทำไมยังทำผิดอีก มันโง่กันตั้งแต่หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคกันเลยละหรือ?

กลับมาที่อัยการอีกครั้ง

สำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดียุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ อีกนานเท่าไร 3 ปี หรือ 4 ปี หรือจะรอพิจารณาพร้อมกันกับการยุบพรรคพลังประชาชน เพราะมีคดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะตัดสินในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

เพราะหากศาลพิจารณาว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็จะนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนอีกพรรคหนึ่ง

เอาไว้พิจารณาพร้อมๆ กันเลยละหรือ?

ความล่าช้าของการพิจารณาในขบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะอยู่ขั้นตอนใด ขั้นตอนนั้นก็เท่ากับช่วยขัดขวางไม่ให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น

พัฒนาการของสังคม พัฒนาการของประเทศก็หยุดชะงัก และเกิดความเสียหายได้ เป็นต้น ในกรณีของพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ ถ้าหากอัยการพิจารณาเสร็จเร็ว ก็ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเร็วขึ้น

ระหว่างที่ กกต.ส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา อาจจะไม่มีการเคลื่อนไหวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนก็ไม่จำเป็นต้องออกมาคัดค้านที่สะพานมัฆวานฯ และที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

สำนักงานอัยการสูงสุดวันนี้ น่าที่จะเป็นหน่วยงานหนึ่งสมควรที่จะได้รับการปฏิรูป ปฏิสังขรณ์อย่างใหญ่หลวง เอาจริงเอาจัง หน่วยงานหนึ่งแล้วละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น