รายการ “สนทนาประสาสมัคร” วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2551 เวลา 08.30 -09.30 น.ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงงานฉลอง 200 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงษาธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและภาษาไทย ก่อนร่ายยาววันภาษาไทย 29 ก.ค. พร้อมอ่านทำนองเสนาะ สามัคคีเภทคำฉันท์ กลบเกลื่อนปัญหาการเมือง
“สวัสดีครับท่านผู้ชมที่เคารพ วันนี้อาทิตย์นะครับ 08.30 น. พระเทศน์จบก็ถึงรายการสนทนา ประสาสมัคร วันนี้อยากจะเริ่มต้นพูดถึงเดือนกรกฎาคมครับ เดือนกรกฎาคมค่อนข้างจะน่าประหลาด ที่จะต้องพูดถึงเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี มี 4 พระองค์นะครับ ที่เลยมาแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันเสด็จพระราชสมภพของเจ้าฟ้าพระองค์เล็กของรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นั่นก็ผ่านมาแล้วนะครับ วันที่ 9 กรกฎาคมก็มีงานที่เราจะต้องพูดถึงถัดไป แต่วันที่ 28 กรกฎาคมวันพรุ่งนี้ เป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และวันถัดไปอีกวันคือวันที่ 29กรกฎาคม ก็เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประชุมชมรมภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นานมากนะครับ 46 ปีมาแล้วนะครับ เขาเลยเลือกเป็นวันภาษาไทย วันอังคารนะครับ ก็จะถึงวันพรุ่งนี้ก่อน
วันพรุ่งนี้ ถ้าใครเป็นข้าราชการ ตอนเช้าต้องมีปกติขาว ถ้าจะเข้าวังถวายพระพร 09.00-17.00 น. ลงนามถวายพระพร ก็จะมี 3 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 28 กรกฎาคม คือวันพรุ่งนี้ครับ ทีนี้ที่ต้องพูดถึงพระองค์ท่านถวายพระพรวันนี้คือว่า เมื่อพระองค์ท่านมีพระประสูติกาลมา ผมก็บังเอิญที่ได้เห็นพระองค์ท่านตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และก็เจริญพระชนมพรรษาขึ้นมาตลอดเรื่อย ทุกอย่าง นะครับต้องได้เฝ้าดูกันมาตลอดเลย
ที่น่าสนใจที่จะได้พูดถึงพระองค์ท่านก็คือว่า วันหนึ่งได้มีการสถาปนาพระองค์ท่านขึ้นทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 15 พฤศจิกายน 2515 ที่จะพูดถึงตรงนั้นก็คือว่า ก่อนอื่นจะต้องอย่างนี้ก่อนดีกว่า เอา พระนามาภิไธยก่อน เวลาที่เจ้านายทรงประสูติในฐานะเป็นเจ้าฟ้า จะเป็นเจ้าฟ้าต่าง ๆ ตรวจดูพระนามาภิไธย รัชกาลที่ 4 เจ้าฟ้ามหามกุฎ ต่อไปเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้ามหามกุฎ พอรัชกาลที่ 5 ก็เป็นเจ้าฟ้ามหาจุฬาลงกรณ์ พอเสร็จแล้ว ถัดมารัชกาลที่ 6 ก็เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ทีนี้ก็เมื่อเวลาที่จะพูดถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ทรงได้รับสถาปนาทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเป็นพระองค์ที่ 3 ในพระราชวงศ์จักรีในสมัยยุคนี้ละครับ เป็นพระองค์ที่ 3 ต้องเรียกว่าเป็นพระองค์ปัจจุบัน เมื่อเวลาที่อธิบายความให้ฟังคือว่า พระองค์แรกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในรัชกาลที่ 5 ก็เป็นเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิต ทรงกรม เขาเรียกว่า โสกันต์ พระชนมายุ 16 ก็ทิวงคต พอเสร็จแล้วพระองค์ที่ 2 ก็เป็นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวต่อมา เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ก็เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเท่านี้เป็นพระองค์ที่ 3 คือเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
ทีนี้เมื่อเวลาที่ตรงนั้น ทำไมผมจะเล่าเรื่องวันที่ทรงขึ้น ฯ ก็วันนั้นผมทำงานอยู่สถานทูตอิสราเอล วันหยุดนะครับ เป็นวันหยุด แต่ว่ากำลังจะไปสถานทูต ไม่ค่อยเชื่อ ก็ไปกัน ปรากฏว่าผู้ก่อการร้ายยึดสถานทูต ผู้ก่อการร้าย 6 คน ยึดสถานทูต จับเจ้าหน้าที่สถานทูตไว้ข้างใน ต้องเจรจาความกัน คนที่ไปเจรจาความก็มี 2 ท่านคือ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นท่านยังไม่เป็นนะครับ แล้วก็พลอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์ ท่านก็เป็น แต่ก่อนเรียกเสธ.ทวี ท่านดัง ท่านเป็นทหารอากาศ ดัง ท่านเป็นประธานโอลิมปิค ท่านเป็นอยู่นานเลยครับประธานโอลิมปิค ทีนี้ก็ปรากฏว่าเมื่อเวลาที่เจรจาความกันแล้ว จุดจบที่ว่าของเรายึดสถานทูตไม่เสียเลือดเนื้อ แล้วผู้ก่อการร้ายยอมให้จับใส่เครื่องบินกลับไปประเทศอียิปต์ สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ท่าน เอาไปบอกผู้ก่อการร้ายทั้ง 6 คนคือบอกว่า ทีแรกไม่ยอมกินข้าว ทีหลังหิวเข้าเอาข้าวเอาน้ำไปให้ บอกให้รู้นะวันนี้มาทำการก่อการร้ายในวันมหามงคล คนไทยรอวันนี้มา 78 ปี ประวัติห่างกันมากนะครับ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิต แล้วไม่นานก็มีเจ้าฟ้า มหาวชิราวุธ 78 ปีครับ พระองค์ปัจจุบันนี่ละครับ เจ้าฟ้ามหามกุฎราชกุมาร บอกผู้ก่อการร้ายบอกรู้ไหมว่าคนไทยเขารอมา 78 ปี เขาทำพิธีศักดิ์สิทธิ์กันวันนี้ ดันมายึดสถานทูต ไม่น่าเชื่อว่ามีสมเด็จเจ้าฟ้าของเรา ผู้ก่อการร้าย ยอมครับ บอกไปเอาเครื่องบินมา เอาเครื่องบินการบินไทย ติดเครื่องรอที่ดอนเมือง เอารถไปรับ เสธ.ทวีกับพลเอก ชาติชายฯ เป็นตัวประกันของผู้ก่อการร้าย ยอมปล่อยตัวประกัน และทั้ง 2 ท่านเป็นตัวประกัน นั่งเครื่องบินพาผู้ก่อการร้ายทั้ง 6 คน ไปส่งที่ประเทศอียิปต์ เรียบร้อยเลยนะครับ วันนั้นละครับใคร ๆ ก็จำกันได้ว่าชื่อเสียงคนไทย โด่งดังไปเลย ผมยังได้ออก CNN กับเขาด้วย น้องชายโทร.มาจากอเมริกา บอกเมื่อสักครู่นี้ออก CNN เขาสัมภาษณ์ผม ผมเป็นประชาสัมพันธ์สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
เมื่อได้รำลึกถึงวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพราะฉะนั้น ในเวลานี้ผมก็อยากจะได้ถวายพระพร ผมขอพระราชทานพระราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคล ขอให้ทรงพระเจริญ พระชนมายุยิ่งยืนนาน ปราศจากพระโรคาพาธและอุปัทวันตราย ทรงมีพระประสงค์จำนงหมายในสิ่งใด ขอให้ได้สมในพระราชจำนงหมายโดยทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ทีนี้ก็อย่างนี้นะครับว่าเมื่อถวายพระพรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร แล้ว ถัดไปก็จะย้อนไปถึงว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 – 9 กรกฎาคม 2552 1 ปีเต็มครับ ปีนี้เป็นปีที่เขาเรียกว่าฉลอง 200 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท พระองค์เจ้าพระองค์นี้ท่านมีความสำคัญอย่างไร ยูเนสโก (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ถึงได้ถวายพระเกียรติยศว่า เป็นบุคคลสำคัญในรอบ 200 ปี 200 ปี ตกรัชกาลไหนครับ รัชกาลที่ 3 พระองค์ท่านเป็นใครมาจากไหนอย่างไร ครับ เป็นเจ้านายพระราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นสมเด็จพระราชบิดาของรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงมีพระราชโอรส พระมารดาเป็นเจ้าจอม เจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่) สายราชินิกุลบางช้าง พระมารดาทรงเชี่ยวชาญเรื่องพระโอสถต่าง ๆ ทำยาอะไรต่าง ๆ อยู่บางช้างครับ รัชกาลที่ 2 ท่านอย่างที่เขาบอกกันว่าท่านประสูติบางช้าง ก็เมื่อเป็นอย่างนี้นะครับ เจ้านายพระองค์นี้ตอนประสูติก็เป็นพระองค์เจ้านวม เป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์
ความสำคัญของพระองค์ท่านถ้าไม่เอามาเล่าคนธรรมดาก็จะไม่รู้เลย ผมให้ดูหนังสือนี่ครับ 200 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เป็นเรื่องของพระดำริ พระกรณียกิจต่อประเทศชาติ อันนี้เป็นเรื่อง 200 ปี จินดามณี อันนี้เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ซึ่งจะได้คุยกันต่อไปในท่อนสุดท้าย คือหนังสือต่าง ๆ เมื่อเวลาที่เสด็จฯ คือว่าท่านเป็น ท่านเรียกว่าทรงกรมนะครับ เป็นกรมหลวงวงษาธิราขสนิท ทีนี้ท่านเก่งอย่างไรพระองค์นี้ ท่านอายุ 16 เมื่อตอนที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 สวรรคต ทรงอายุ 16 พรรษาเท่านั้น และปรากฏว่าก็แสดงความเชี่ยวชาญอะไร ได้รับราชการที่รัชกาลที่ 3 ในหนังสือที่ พันเอกหญิง ดร.ท่านผู้หญิงนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ส่งมาให้ผมอ่าน ได้อ่านได้ทบทวน ทำไมท่านเก่งขนาดไหนถึงได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกในรอบ 200 ปี ทรงเข้าออกดูการบริหารราชการแผ่นดินเป็นของธรรมดา เป็นเจ้านาย อายุ 21 ต้องเสด็จฯ มาประทับข้างนอกเป็น ธรรมเนียม เจ้านายผู้ชาย 21 ต้องออกมาอยู่ในวังอยู่ข้างนอก
ทีนี้เมื่อเสด็จฯ มาประทับข้างนอกแล้ว ท่านดูอย่างไร ท่านมีงานอะไรอย่างไร เอาการสำคัญก่อนดีกว่าครับที่เขายกย่องท่านนะครับ พระองค์ท่านได้ทรงเป็นประธานคณะกรรมการในการเจรจาความ เซ็นสัญญากับชาวตะวันตก ชาวตะวันตกที่มา อังกฤษมาครับ ที่เรารู้จักคุ้นเคยกัน คนที่มาและได้เซ็นสัญญาฉบับแรกชื่อ เฮนรี่ เบอร์นี่ เวลาที่สมัยรัชกาลที่ 3 อ่านกันว่า หันแตร บารนี คนไทยชอบจะออกเสียง เรียกว่า หันแตร บารนี นั่นละครับ พระองค์เจ้านวมนี่ละครับ พระองค์ท่านได้เป็นทูตกำกับการที่จะทำสัญญากับอังกฤษ เจรจาความ พระองค์ท่านมาตอนล่าเมืองขึ้นครับ พูดภาษาง่าย ๆ มาจ้องเลยครับ ผมเคยพูดหลายครั้งแล้ว อังกฤษยึดได้ทางพม่า ทางฝรั่งเศส ได้ลาว เขมร เวียดนาม และก็จ้องกันตาเขม็งตรงแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ตรงกลาง ทางโน้นก็อยากจะได้ทางตะวันออก หันหน้าลงทะเลนะครับ ทางซีกซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางนี้ก็จ้องตาเป็นมัน ทางขวาก็จ้องตาเป็นมัน และตรงนี้เริ่มต้นการเจรจาความ นี่ละครับเจ้านาย ในรัชกาลที่ 3 ทรงเจรจาความ พอหันแตรบารมีเสร็จ ก็เจรจากับเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง (Sir John Bowring) ก็ได้จดหมายอีกฉบับ จดหมายอีกฉบับชื่อ เซอร์ เจมส์ บรู้ค (Sir Jame Brooks) 3 สัญญาท่านเจรจาความ
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือว่าทรงเก่งเรื่องหยูกยา เพราะพระราชมารดาท่านทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระโอสถต่าง ๆ เขาก็มีเอกสารหลักฐานถ่ายให้ดูเลยว่าท่านทรงเชี่ยวชาญเรื่องหยูกยาอะไรอย่างไร เวลาถ้าอ่านหนังสือที่คุณนิออนฯ ส่งมาให้ เวลาเขียนถึงลูกอะไร เขียนถึงลูกสมอลูกเดียว อ่านแล้ว ผมคิดว่าผมขออนุญาต นิดเถอะ ถ้าวันนี้พูดจาปากเปล่า ๆ ไม่ยอมอ่านหนังสือให้ใครฟังบ้าง หนังสือดีนะครับ คืออ่านแล้วก็จำเอาไว้ และตั้งใจจะเปิดดู คงไม่เสียหายอะไรละครับ เรื่องยา คือเวลาที่ท่านเปรียบเทียบเรื่องสมอ ผมอ่านแล้วผมติดใจเรื่องสมอ ผมอ่านให้ฟัง ส่วนที่เป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง ในการอธิบายสรรพคุณ ชื่อสมุนไพร การเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ชัดเจนยิ่งขึ้น หากสรรพคุณของสมุนไพรมีลักษณะซับซ้อน สำนวนความเปรียบเทียบในหนังสือเล่มนี้ น่าสนใจความแปลกใหม่ ดังจะขอยกเพียงตัวอย่างเดียว คือ ...หมายความว่ามาจากสมุดข่อยนะครับ ...เดี๋ยวคุยก็มาอยู่สมุดข่อยทั้งนั้นเลย ถ้าแลบุคคลผู้ใดได้เสพผลสมอ มาตรว่าแต่ผลหนึ่งก็ดี ก็จะปราศจากซึ่งโรคทั้งปวง ดุจมารดารักษาบุตรไว้ ถึงมาตรว่ามารดากับบุตรจะเป็นที่รักกันก็ดี ก็ยังรู้จะวิวาทกันแก่กันและกัน เป็นแม่ลูกกันจะทะเลาะกันได้นะครับ อันผลสมอนี้มีคุณมากนัก แต่ทว่าอาจารย์เจ้าเปรียบความไว้ว่า เพลิง 10 กองก็ไม่เท่ารัศมี พระอาทิตย์ 1 ดวง 10 รัศมีพระอาทิตย์ก็ไม่เท่ากับอกมารดา 10 อกมารดาไม่เท่าผลสมอ 1 ผล อันเสมอนี้มีคุณอนันต์ยิ่ง นี่สำนวนคนโบราณนะครับ เพราะฉะนั้น เวลาที่พออ่านแล้ว หนังสือนี่อ่านแล้ววางไม่ลง คือเขาเก็บความต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังคือทรงเชี่ยวชาญอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ความเชี่ยวชาญเรื่องพระโอสถต่าง ๆ ท่านทั้งหลายไปวัดโพธิ์ ผมไม่ได้สนใจมาแต่ต้น พอมาอ่านถึงอ้อ ไปในวัดโพธิ์ ฤาษีดัดตน ผมให้เขาถ่ายรูปให้ดู นี่ก็ของพระองค์ท่าน ดัดตนทำอย่างนี้ แก้ลมทำอย่างนี้ ฤาษีดัดตน นี่เป็นรูปปั้นฤาษีดัดตนมีคำอธิบายข้างล่าง แต่ว่าจารึกวัดโพธิ์ ที่เราเปรียบเทียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย คือจารึกไว้ในหินอ่อน เราจารึกสรรพคุณยาต่าง ๆ บอกเลยว่ายานี้ใช้ทำ อะไร ๆ ยานี้ใช้ทำอะไรอย่างไร รอบเลยครับในวัดโพธิ์ครับ วัดโพธิ์สร้างรัชกาลที่ 1 บูรณะรัชกาลที่ 3 เพราะฉะนั้น สมัยนี้ละครับ นี่ละครับพระองค์ท่านเป็นผู้เอาเรื่องหยูกยาใส่ไว้ในวัดโพธิ์ เรื่องฤาษีดัดตน เรื่องสมุนไพรนะครับ
ถัดไปเรื่องงานต่างประเทศก็ทรงคุ้นเคยกับใคร นี่ละครับหมอบรัดเลย์ หมอหัว หมอสมิธ วันก่อนก็นึกถึงหมอสมิธ ผมดูท่านอาจารย์กาญจนา นาคสกุล ท่านพูดถึง 2 ตัวอักษร ฃ กับ ฅ ท่านว่าไม่เอามาใช้เดี๋ยว จะลืม ยังใช้อยู่นะครับท่านอาจารย์ ยังอยู่ใน 44 ตัวนะครับ แต่เหตุผลที่พูดถึงหมอสมิธ เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกที่มาในประเทศไทย สมัยนี้ละครับ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท สมิธโคโรน่า ภาษาอังกฤษมีตัวใหญ่มีตัวเล็ก เขาพิมพ์ได้ มีเครื่องหมายอะไรต่าง ๆ เราเอานี่มาถอด และก็เอาใส่ตัวอักษรทั้งหมด ใส่ไปครบหมด ตัวยกตัวใหญ่ ไม่มี ของเราไม่มีตัวใหญ่ ไม่มี capital letter เราใส่ได้หมด ภาษาไทยมีตัวหนังสือ 44 ตัว ใส่ทั้งหมดแล้วได้ 42 เขาก็คิดเลย ทางหมอ ที่ทางพวกมิชชันนารีเขาคิดกันว่า ทำอย่างไรขาด 2 ตัว เลยตัดสินใจว่า เอา ค ใช้แทน ฅ เขา ข ใช้แทน ฃ เท่านั้นละครับ ภาษาไทยยังมี 44 ตัว ท่านอาจารย์ท่านบ่นว่าไม่ใช้ ใช้ครับ คนเขียนยังเขียนได้ แต่ว่าเพราะพิมพ์ดีดนี่ละครับ มันออกมา ก็เลยทำให้หาย ไม่ได้มีใครไปตัดทิ้งนะครับ ยังมี 44 ตัว
ตอนนี้กลับมา ท่านคุยกับหมอพวกนี้ ท่านเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับคนที่ต้องเรียกว่า มีบุคคลทั้ง 5 คน ที่ต้องพูดถึงหน่อย ในหนังสือบอกอย่างนี้ครับ คือคนที่ไปสัมผัสกับพวกมิชชันนารีพวกนี้ ชนชั้นนำกลุ่มนี้ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ 5 ท่านคือ วชิรญาณภิกขุ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อมาคือเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถัดไปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวงษาธิราชสนิท อิสริยยศในขณะนั้น แต่ก่อนนี้ กรมหมื่นวงษาสนิท ธิราชยังไม่มีนะครับ ต่อไปจมื่นไวยวรนาถ ในรัชกาลที่ 6 มีจมื่นไวยวรนารถ จมื่นนารถจำนง จมื่นไวยวรนารถสมัยนั้นต่อมาคือใครครับ ที่วงเล็บชื่อ ช่วง บุนนาค คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เห็นไหมครับ นี่ดังนะครับ ใครเรียนประวัติศาสตร์ไทยต้องรู้จักท่านผู้นี้ ต่อไปชื่อนายโหมด นามสกุลมาได้ทีหลัง นายโหมด อมาตยกุล ต่อมารัชกาลที่ 4 คือพระยากษาปณ์กิจโกศล ต้องอ่านให้ถูกครับ พระ-ยา-กะ-ษา-ปะ-นะ-กิจ-โก-ศล ทั้งหมดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯท่านทรงเล่าเรื่องนี้นะครับ ในสมัยนั้นมีคนไทย 5 คนที่ว่านี้ ที่เรียนรู้วิชาความรู้ของฝรั่งจากพวกมิชชันนารีอเมริกันได้อย่างยอดเยี่ยม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชอยู่ ทรงศึกษาวิชาการด้วยพระองค์เองหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาวิชาการว่าด้วยการทหาร พระองค์หนึ่ง กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ศึกษาวิชาการแพทย์ พระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตั้งแต่ทรงเป็นหลวงสิบนายเวร ศึกษาวิชาการต่อเรือกำปั่น หนึ่ง และนายโหมด อมาตยกุล ศึกษาวิชาช่างกล อีกหนึ่ง
นี่ละครับ 5 ท่านนี้ คือว่าทั้งหมดนี้บุคคลสำคัญทั้ง 5 ในกรม ก็เป็นหนึ่งใน 5 นี่นะครับ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ก็ทรงคุ้นเคย เพราะท่านรู้เรื่อง ท่านบริหารราชการแผ่นดินได้ ท่านเจรจาความทางการเมืองได้ ท่านมีการแพทย์อย่างที่ว่า การสาธารณสุข เรื่องสมุนไพร เรื่องการต่างประเทศ ที่เราคุยกับพวกหมอต่าง ๆ เรื่องวรรณกรรม ท่านแต่งหนังสือหลายเรื่อง แล้วสำคัญที่สุดคือเล่มนี้ จินดามณี นี่เป็นตำราเรียนภาษาไทย ตำราไวยกรณ์ไทยพูดอย่างนั้น และภาษาไทยมีตั้งเมื่อไรครับ พ.ศ. 1826 ก็แปลว่า 728 ปีมาแล้วนะครับ แปลว่าภาษาไทยของเรามีมา 700 กว่าปี แล้วเขียนกันไว้อย่างไร ก็เขียนไว้ในสมุดข่อย ตัวหนังสือภาษาไทยยังไม่พัฒนา สมัยพ่อขุนรามคำแหง อยู่บรรทัดเดียวกันหมดครับ ไม่มีข้างล่างข้างบน และต่อมาก็มีวิวัฒนาการ วิวัฒนาการภาษาไทยก็เขียนตำราไวยกรณ์ไทยอันแรกที่เขียน เขียนลงในสมุดข่อย ผมให้เขาถ่ายสมุดข่อยไว้ให้ดู จินดามณีนี้เขาเอามาถ่ายเป็นตัวหนังสือปัจจุบันให้เห็น อ่านแล้วก็วางไม่ลง คือว่าท่านเขียนกันไว้เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน คือสอนภาษาไทย แบบเรียนเร็วที่เราเรียน ท่านสอนไว้เป็นภาษา เป็นบทเป็นกลอน หมดเลยครับ ต้องทำอย่างนั้น ๆ เวลาท่านสอนอย่างที่ว่า เรื่องแม่กง แม่เกย แม่กด แม่กน ครูเอื้อยยังมาแต่งโคลงแม่กน กบ เกย ตัวอยู่ในนี้เลยครับ เรื่องคำเป็นคำตาย เขียนเป็นกลอนเลยครับ เป็นลิลิตเป็นกลอน ไม่น่าเชื่อเรื่องอย่างนี้
คนแต่งคนแรก จินดามณีเล่ม 1 เกิดในสมัยไหนครับ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย นี่สมุดข่อยอย่างที่ว่านี่ อยุธยาตอนปลายนะครับ อันนี้เป็นสมัยของ ในกรม เขียน แต่ว่าจินดามณีเล่มแรกเขียนอยุธยาตอนปลาย แล้วก็เสด็จในกรมท่านมาเขียนของท่าน ห่างกัน 100 ปี ตำราเดียวกัน จินดามณีเล่มแรก พระโหราธิบดีเขียน ห่างมา 100 ปี นี่ละครับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ท่านมาแต่งจินดามณี เล่ม 2 และเทียบเคียงกับเล่ม 1 อ่านแล้วก็หลงไหลใฝ่ฝัน อ่านแล้ววางไม่ลง บอกหมดเลยครับเรื่องอะไรต่าง ๆ คำอธิบาย ทั้งหมดนี้เขียนเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เราพูดกันเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระองค์นี้ละครับท่านทรงเก่งขนาดไหน แต่งจินดามณี เล่มที่ 2 ห่างจากเล่มแรก 100 ปี ครับ แสดงว่าภาษาไทยพ่อขุนรามคำแหงเกิดขึ้น 728 ปีก่อน และต่อมาปลายอยุธยาสมัยพระโหราธิบดี สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ๆ มีอะไร มีบท มีละคร ท่านเขียนเรื่องพระลอ ลิลิตพระลอ นับย้อนไปได้ 500 ปี ลิลิตพระลอนี่ละครับ เพราะฉะนั้น ลิลิตพระลอ ตัวหนังสือไทยที่เขียนลิลิตพระลอเขียนเอาไว้แล้ว 500 ปีนะครับ
เมื่อเวลาที่มีคนเขียนถึงเรื่องพระลอ พูดง่าย ๆ ว่ามีเมียหลายคน พระเพื่อน พระแพง ทีหลังนะครับ เขียนถึงเมียพระลอ ท่านมีของท่านใหม่ 2 คน ก็ปรากฏว่าที่เราเรียนตัวอย่างโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เรียนโคลงสี่สุภาพ 500 ปีที่เขียนว่า เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับไหล ลืมตื่น ฤาพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ เวลาเราเรียน เราก็นึก สมัยครูเจือ สตะเวทิน ไม่ใช่ละครับ สมัยในกรมฯ ไม่ใช่ครับ สมัยอยุธยาครับ สมัยพระยาโหราธิบดี ท่านเขียน แปลว่าท่านเขียนหลังจากคนที่แต่งลิลิตพระลอแล้วครับ คนที่เขาเขียนหนังสือแต่งกลอนลงหนังสือนารีนาถ ผมจำได้เขาเขียนสักการะชื่อเรื่องไว้ เป็นเครื่องบำบวงบูชิต แด่ผู้แต่งลิลิตพระลอ ยอดปิยกวีที่ไม่มีคนรู้จัก นี่ละครับไม่มีคนรู้จัก เขียนอยู่ในสมุดข่อย แต่ว่าพระโหราธิบดียกตัวอย่างโคลง ก็นี่ละครับ เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง คือ เอก 7 โท 4 ในกรมฯ ท่านก็เขียนครับ สมัยรัชกาลที่ 3 ท่านเขียนถึงเรื่องนี้ เอก 7 โท 4 เราเรียนแต่งโคลงก็บอกต้องเอก 7 โท 4 แล้วตัวอย่างอย่างไร ตัวอย่างก็เสียงฦาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ เห็นไหมครับ สัมผัสหมดเรียบร้อย มีมาตรฐาน โคลงสี่สุภาพ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอย่างไร และเวลาที่เขาเรียนอย่างนี้ เราก็ดู
ที่ผมอ่านแล้วผมประทับใจว่า ผมอ่านหนังสือซึ่งเขาถ่ายทอดมาเป็นตัวปัจจุบัน เขาเล่าเรื่องของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ประสูติในสมัยรัชกาลที่ 2 มีพระชนม์ชีวิตถึงรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 อยู่ถึงรัชกาลที่ 5 นะครับ 3 รัชกาล แล้วอย่างไรครับ แล้วท่านก็เขียนหนังสือ สอนหนังสือภาษาไทยชื่อ จินดามณี ภาษาไทยทั้งหมดครับ แม่กม แม่เกย คำเป็นคำตาย สระอะ สระอา สระอุ สระอี สอนหมด แต่เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระโหราธิบดี เขียนไว้ก่อนพระองค์ท่าน 100 ปี เห็นไหมครับ วันที่ 29 กรกฎาคมนี้จะเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ พ่อขุนรามคำแหงทรงคิด คนเขียนไวยากรณ์คือพระโหราธิบดี สมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยอยุธยาไม่ปลาย สมัยพระนารายณ์ก็ยังไม่ปลายเท่าไร พอเสร็จเรียบร้อยมา อ่านแล้วเวลาที่เราพูดถึงคำสอนต่าง ๆ คำเป็นคือคำอะไร คำตายคำอะไร เขียนเป็นบทกลอน อักษร 3 หมู่เลย ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ สมัยนี้มาก็บอกว่า ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากอ่าง เพื่อจะให้จำได้ และก็ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ห และไป 24 มีหมดเลยครับ แล้วบอกหมดวิธีการอ่าน วิธีการเขียน เก่งนะครับ
ต้องเรียกว่าท่านเก่งนะครับ เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านดูทั้งหมดแล้ว ท่านต้องลองนึกนะครับ ที่เราท่องกันปาว ๆ ดูสิผมต้องลอกตัวนี้มาวางเพื่อจะไม่ให้พลาด สมัยพระโหราธิบดี ท่านเขียนไว้แล้วนะ แต่มาถึงสมัยกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ไม้ม้วน 20 คำ ท่านบอกจำได้เลย ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ถูกต้องครับ แต่ทว่าเมื่อ 200 ปีก่อน มีเขียนไว้ในตำราที่ในสมุดข่อย และแปลว่าก่อนหน้านี้คำนี้ที่สอนนี่ สอนกันตั้งแต่สมัยพระโหราธิบดี พูดง่าย ๆ ว่า 300 ปีครับ ภาษาไทย 300 ปี เขาเขียนนะครับ โบราณนะครับ นี่ของพระโหราธิบดี 20 ไม้ม้วนนะครับ ใฝ่ใจแลให้ทาน ทั้งนอกในแลใหม่ใส ใครใคร่แลยองใย อันใดใช้แลใหลหลง ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งใต้เหนือแลใหญ่โยง ใกล้ใบแลใช่จง 20 ม้วนคือวาจา นี่โบราณนะครับ ต่อมาก็มาเปลี่ยนใหม่ ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งใต้เหนือแลใหญ่โยง อันนั้นก็เป็นอีกอันหนึ่ง
ถัดมาที่ท่านทั้งหลายจำได้คืออะไร คือ 20 ม้วน ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนควรจดจำ เห็นไหมนี่โบราณ แล้วทันสมัยกว่านั้น เป็นโคลงมีไหมครับ มีครับ โคลงสี่สุภาพ อันนี้ยิ่งง่ายเมื่อสักครู่ ๆ กาพย์ยานี 11 ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ นี่ 5 ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ นี่ 6 นี่กาพย์ยานี 11 แต่โคลงสี่สุภาพครับ เอก 7 โท 4 ครบถ้วน ใฝ่ใจใครใคร่ให้ ใหลหลง ในใหม่ใส่ใหญ่ยง ต่ำใต้ ใดใช้ใช่ใบบง ใยยืด ใสสะใภ้ใกล้ใบ้ สิบม้วนสองหน เห็นไหมครับ โคลงสี่สุภาพ อันนี้บางท่านบอกไม่เคยเรียน ไม่เคยเจอ ผมเคยเจอ ผมเรียน เรียนเมื่อไร เรียนเมื่อสมัยเด็ก ๆ นั่นละครับ ถ้าจำผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ได้ ผมก็จำอันนี้ของผมได้ นี่ต้องจำนะครับ
เวลาที่เราดูว่าคำพ้องกันเป็นอย่างไร คำพ้อง คำที่เขียนตัวอย่างเดียวกัน คำเขียนเหมือนกัน แต่ว่าแปลคนละอย่าง เช่น เพรา อ่านว่า เพรา อ่านว่า เพ-ลา ได้ไหม อ่านได้ครับ เพ-ลา แล้วมีคำอื่นอีกไหม เสลา อ่านว่า เส-ลา อ่านได้ไหม เส-ลา มีคำแปล มีครับ เสลา แปลว่า หิน เสลา อ่านว่า สะเหลา ได้ไหม มีครับ ชื่อต้นเสลา แปลว่า หินก็ได้ เสลาก็ได้ ฉะนั้น คนโบราณก็ให้ท่องจำ ท่านที่ท่องได้ก็อย่าถือว่าผมเอามะพร้าวห้าวมาขายนะครับ คนโบราณรู้จักละครับ เขาว่าอย่างไรคำพ้อง อันคำที่ตัวเขียนไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นกลอน 8 นะครับ อันคำที่ตัวเขียนไม่เปลี่ยนแปลง แต่อ่านแยกสองความตามวิถี วัดเขมาโกฐเขมาเพลาก็มี จากที่นี่ไปถึงป่าเพลาเย็น ที่ริมเชิงเสลาภูผ่าใหญ่ ล้วนกอไผ่แลสร้างเสลาเห็น หัดโบกปูนใบเสมากว่าจะเป็น หน้าโฮเต็ลปลูกเสมาดูเพราตา ใครไปตัดต้นโสนที่ดงโสน ตัดจนโกร๋นเหี้ยนหัก ลงหนักหนา ปูแสมแลเขดาเขดาระงา เป็นวาจาสองเงื่อนอย่าเฟือนทาง และยังมีจีนโหงโผเล่นกระเด็นโหง ต่อท้ายนะครับ ฝ่ายว่าบ่าวเจ้าพระยา รามคำแหง ชื่อไอ้แดงตกนา ทำหน้าแหง เห็นไหมครับ แหงก็มี แง๋ก็มี คนโบราณเก่งจริง ๆ ครับ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เสด็จในกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปี 2551 – 2552 9 กรกฎาคม 2551- 9 กรกฎาคม 2552 ฉลอง 200 ปีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ อาจารย์นิออนฯ ท่านส่งหนังสือมาให้ 3 เล่ม หนังสือ 3 เล่มนี้อ่านแล้วต้องเรียกว่าวางไม่ลง หนังสือนี้ตัวหนังสือข้างในอายุ 200 ปี อ้างถึงหนังสือพระยาโหราธิบดี 300 ร้อยปี สมัยอยุธยา มีสมุดข่อยถ่ายมาให้ดูด้วย เขียนมาแล้วผมอ่านก็ตื่นเต้น ทำไมตื่นเต้น ก็ผมเรียนนะ อาจารย์เจือฯ ผมอ่านหนังสืออาจารย์เจือฯ ครับ เพราะฉะนั้นโคลงสี่สุภาพ แล้วโคลงสองมีไหม มีครับ โคลงสามก็มีครับ รู้จักแต่โคลงสี่ โคลงสี่รู้จัก โคลงดั้นวิชชุมาลี โคลงจัตวาทัณฑี อยู่ในนี้หมดเลยครับ
โคลงต่าง ๆ ที่ดั้นที่อะไร โคลงสองก็มีครับ แต่ของท่านโบราณ ของท่านผมไม่ท่องจำหรอกครับ ผมจำโคลงสองของอาจารย์เจือฯ โคลงสองเป็นอย่างไรครับ เดี๋ยวท่านดูให้ดีครับ โคลงสองเป็นอย่างนี้ เวลาเขียนต้องเขียนผังเป็นวง เป็นเลข 0 โคลงสองเป็นอย่างนี้ แสดงแก่กุลบุตรชี้ เช่นให้ เห็นเลบง แบบนา ก็สอง สอง สอง เขียนอย่างนี้นะครับ ห้า ห้า สอง สอง สอง วงกลม ๆ นี้ครับ ฟองมันนี่ครับ ห้า ห้า สอง สอง สอง โคลงสองครับ โคลงสองเป็นอย่างนี้ แสดงแก่กุลบุตรชี้ เช่นให้เห็นเลบง แบบนา แล้วโคลงสามละครับ โคลงสามแปลกโคลงสอง ตามทำนองที่แท้ วรรคหนึ่งพึงเพิ่มแล้ เล่ห์ชี้เพียงยล(เยี่ยงเทอญ) โคลงสามก็ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า สอง สอง เห็นไหมครับ โคลงสองครับ โคลงสองเป็นอย่างนี้ แสดงแก่กุลบุตรชี้ เช่นให้เห็นเลบง แบบนา โคลงสามแปลกโคลงสอง ตามทำนองที่แท้ วรรคหนึ่งพึงเพิ่มแล้ เล่ห์ชี้เพียงยล เยี่ยงเทอญ เห็นไหมเป็นตัวอย่างอย่างนี้ สนุกไหมครับ สนุกครับเวลาที่ทำเรื่องพวกนี้ โคลง ฉันท์ อย่างพวกฉันท์ อ่านฉันท์ ฉันท์อะไร อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ครับ วสันตดิลกฉันท์ 16 ฉันท์นี้ยาวมาก ฉันท์เสือเผ่นครับ ภุชงคปยาต ไม่ใช่ นั่นพญานาคเลื้อยนะครับ เสือเผ่นครับ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 21 เห็นไหมครับฉันท์ มาณวก 8 วิชชุมมาลา 24 แล้วยากไหมครับฉันท์ ฉันท์ยากครับ แต่งยาก แล้วโคลง ฉันท์ ไหนลองดูฉันท์มาณวกเป็นอย่างไร มาณวกก็มีอย่างนี้ครับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ทีละสี่ ๆ สองหน สี่ สี่ ก็แปด มาณวก สี่สี่แปด มาณวกเขาต้องมีตัวอย่าง มีครับ มาณวกเขาเล่าตอนไหน ก็เล่าตอนที่ว่า ฉันท์นะครับ ก็ดูสามัคคีเภทคำฉันท์ ก็คือที่สองเมืองเขารักใคร่กันดี ลูกเต้าเขาอยู่กันดี ๆ แล้วพราหมณ์นี้คืออีกประเทศจะมาตีอีกประเทศ สองเมืองรักใคร่กันดี อีกเมืองจะมาตี ตีไม่ได้ เพราะเขารักใคร่กันดี ลูกกับลูกเขาก็รักใคร่ เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน พราหมณ์ก็ยอมเลยให้เจ้าเมืองเยินตีเสียตัวแตกทั้งตัวเลยแล้วก็เข้าไป ไปขออาศัยอยู่เขาก็สงสาร เขาก็ให้อยู่แล้วเขาก็ให้สอนหนังสือ
ถ้าจะให้เรียนกันจริง ๆ ต้องเอาวิชชุมมาลาฉันท์ก่อน วิชชุมมาลาฉันท์นี้ก็วิชชุมมาลา 24 วรรคละสี่แต่ว่าหกวรรคจบ 4 x 6 = 24 วิชชุมมาลา หกหมายความว่าต้องอ่านหกถึงจะจบตอน เช่นเขาบอกว่า ตอนที่พราหมณ์ยอมให้ตีให้เจ้าเมืองนี้ตีแล้วก็เข้าไปอยู่อีกเมืองนี้ วิชชุมมาลา 24 เขาบอกว่า แรมทางกลางเถื่อน ห่างเพื่อนหาผู้ หนึ่งใดนึกดู เห็นใครไป่มี หลายวันถั่นล่วง เมืองหลวงธานี นามเวสาลี ดุ่มเดาเข้าไป ผูกไมตรีจิต เชิงชิดชอบเชื่อง กับหมู่ชาวเมือง ฉันอัชฌาศัย เล่าเรื่องเคืองขุ่น ว้าวุ่นวายใจ จำเป็นมาใน ด้าวต่างแดนตน เขาแสนสมเพช สังเกตอาการ ท่วงทีอาจารย์ ท่าทีทุกคน ภายนอกบอกแผล แน่แท้ยุคล เห็นเหตุสมผล ให้พักอาศัย เห็นไหมครับ เวลานี้ถ้าอ่านทำนองเสนาะก็ แรมทางกลางเขื่อน ห่างเพื่อนห่างคู่ หนึ่งในนึกดู เห็นใครไป่มี หลายวันพันล่วง เมืองหลวงธานี นามเวสาลี ดุ่มเดาเข้าไป ผูกไมตรีจิต เชิงชิดชอบเชื่อง กับหมู่ชาวเมือง ฉันอัชฌาศัย เล่าเรื่องเคืองขุ่น ว้าวุ่นวายใจ จำเป็นมาใน เล่าต่างแดนตน เขาแสนสมเพช สังเกตอาการ ท่วงทีอาจารย์ ท่าทีทุกคน ภายนอกบอกแผล แน่แท้ยุคล เห็นเหตุสมผล ให้พักอาศัย เห็นไหมครับ แน่แท้ยุคลแปลว่าทั้งสอง ยุคลแปลว่าทั้งสอง เห็นไหมครับอย่างนี้ครับ นี่ก็วิชชุมมาลา 24
พราหมณ์ยอมให้ตีแล้วไปขอเข้าเมือง ตัวแตกทั้งตัวเขาก็สงสารเขาให้อยู่ในเมือง พระราชาสองเมืองเอาไปสอนหนังสือลูก ลูกเขาเรียนหนังสือกันดี ๆ นะสองเมืองนี้ เข้าไปเป็นครูไปสอนเด็ก แล้วทำอย่างไร แทนที่เอาเด็กทั้งหมดมานั่งเรียนหนังสือแล้วสอน เรียกเข้าไปสอนทีละคนครับ เข้าไปสอนในที่รโหฐานแปลว่าที่ลับ แล้วก็ไปถามเด็ก เรียกเข้าไปถามว่าเมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร กินข้าวโรงเรียนกินข้าวกับอะไร อร่อยไหม อย่างนี้ละครับออกมา อาจารย์ ๆ สอนอะไร อาจารย์ถามว่ากินข้าวกับอะไรแล้วอร่อยไหม อย่างนี้ต้องโกรธกันแน่นอนครับ จริง ๆ คือว่ามาณวกสี่ สี่ นะครับ ล่วงลุประมาณ กาลอนุกรม หนึ่งณนิยม ท่านทวิชงค์ เมื่อจะประสิทธิ์ วิทยะยง เชิญวรองค์ เอกกุมาร เธอจรตาม พราหมณไป โดยฉพาะใน ที่รหุฐาน จึ่งพฤฒิถาม ความพิสดาร ขอธประทาน โทษะและไข อย่าติและหลู่ ครูจะเฉลย เธอน่ะเสวย ภัตกะอะไร ในทินนี่ ดีฤไฉน พอหฤทัย ยิ่งละกระมัง นี่อ่านธรรมดาครับ ถ้าอ่านทำนองเสนาะเขาทำเสียง ถ้าทำเสียงพราหมณ์ พราหมณ์พูดเป็นท่อน ๆ "ล่วงลุประมาณ กาลอนุกรม หนึ่งณนิยม ท่านทวิชงค์ เมื่อจะประสิทธิ์ วิทยะยง เชิญวรองค์ เอกกุมาร เธอจรตาม พราหมณไป โดยเฉพาะใน ที่รหุฐาน จึ่งพฤฒิถาม ความพิสดาร ขอธประทาน โทษะและไข อย่าติและหลู่ ครูจะเฉลย เธอน่ะเสวย ภัตกะอะไร ในทินนี่ ดีฤไฉน พอหฤทัย ยิ่งละกระมัง" ทำนองเสนาะเขาเป็นอย่างนี้ครับ นี่คือฉันท์ครับ
ถ้าเป็นกาพย์ กาพย์ยิ่งง่าย แต่กาพย์เราใช้เยอะ ในหนังสือไปอ่านหนังสือต่วยตูน ผมเขียนเรื่องนี้ คิดมาคิดไปถึงภาษาไทยของเรา พูดถึงเรื่องนี้ ภาษาไทยของเราเขามีครับมีสอนว่า มีภาษาไทยสอน สอนถึงเรื่องภาษา ตัวหนังสือกับสระ แล้วก็สอนเรื่องวิธีเอามาผูกเป็นวลีแล้วก็มาเป็นประโยคแล้วก็เป็นฉันท์ คือเขาทำเป็นชื่อ ๆ เวลาวิธีสอนภาษาไทยเป็นท่อนนี้ ๆ สอนเรื่องวจีวิภาค อักขระวิธี สอนเรื่องตัวอักษร 44 สระ 28 ผสมกันอย่างไร อักขระวิธี แล้วก็เป็นวจีวิภาค แล้วก็เป็นวากยสัมพันธ์คือเป็นประโยค แล้วฉันทลักษณ์อย่างที่เล่าให้ฟังไว้ ฉะนั้นเมื่อเวลาทำอย่างนี้ เขาก็มาเขียนให้ฟังง่าย ๆ เชื่อไหมในหนังสือเล่มเดียวสอนอะไรต่าง ๆ ผมจะเอาเรื่องนี้ ใครสนใจผมจะไปบรรยายวันที่ 29 ที่โรงเรียนมัธยมหอวังครับ จะพูดเรื่องนี้ครับภาษาไทยของเรา
วันนี้เวลาที่เหลือจะคุยเรื่องภาษาไทยของเราเหมือนกัน นี่เขาให้มานี่ก็ท่านอาจารย์นิออนฯ เหมือนกันครับ นี่หนังสือเล่มนี้ ปัญหาการใช้คำภาษาไทย วันที่ 29 ครับเล่มนี้ วันที่ 29 ที่เขาพิมพ์ในวาระ 200 ปีกรมหลวงฯ เหมือนกันครับ เล่มนี้ใครไปหาอ่านแล้วพูดกัน วันที่ 29 กรกฎาคมวันภาษาไทย เป็นวันอย่างไร เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมของชุมนุมภาษาไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไรละครับนี่ 46 ปีที่แล้วครับ เขาพูดกันทั้งนั้น ภาษาไทยวันละครับเพื่อรำลึกถึงพระเจ้าอยู่หัว เรารู้สึกว่าควรรำลึกอย่างยิ่ง อ่านบันทึกแล้วผมสมัยนั้นอายุเท่าไรครับ อายุ 27 2505 ครับปีเขาพระวิหาร 2505 วันที่ 5 กรกฎาคม 2505 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีชุมนุมภาษาไทย เขาประชุมประจำปีกัน แล้วเขาก็กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานที่ประชุม รับเสด็จพระราชดำเนินครับ ทรงนั่งกลางครับ เสด็จพระราชดำเนินไปจุฬาฯ ครับ เขามีรูปไว้ให้ดูครับ ทางเริ่มทางซ้ายครับ อาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ เพทยสุวรรณ อาจารย์สุมลชาติฯ รับเสด็จตอนเสด็จพระราชดำเนินไปถึง แล้วพอทรงขึ้นประทับบนพระที่นั่งแล้ว ก็ทางซ้ายมือ พระองค์ท่านประทับตรงกลางครับ อาจารย์หม่อมหลวง บุญเหลือ เพทยสุวรรณ อยู่ซ้าย ถัดมาก็กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ทางซ้ายสุดดูรูปทางขวามือในจอนะครับ ซ้ายสุดหม่อมหลวงบุญเหลือ เพทยสุวรรณ ครับ อาจารย์บุญเหลือฯ นี่ละครับเป็นพี่สาวหม่อมหลวงบุปผาฯ ถัดมาก็กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ท่านเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ และท่านก็เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับตรงกลาง ถัดมาก็อาจารย์สุมลชาติฯ ริมสุดก็อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ อาจารย์สุกิจฯ ท่านยอดอาจารย์ละครับ ท่านคุยฟังแล้วบอกว่า ข้างในผมจะเล่าให้ฟังตรงนี้ครับว่า เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแล้ว ก็คุยกันเรื่องภาษาไทย หนังสือปัญหาการใช้คำไทย เป็นพระราชปรารภพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับว่าปัญหาการใช้คำไทย คำที่ยกตัวอย่างเอามาอ้างอิงกันนี้ครับ เอามาพูดถึงกันนี้คือคำไหน เริ่มต้นท่านบอกว่า ไหนลองดูสิคำว่า อุบัติเหตุ เป็นอย่างไร คำว่า อุบัติเหตุ กลายเป็นคำไม่ดีครับอุบัติเหตุ ถ้าถามใคร ผมลวงถามพรรคพวกผมเป็นอย่างไร ก็ว่าเหตุที่เกิดเป็นอุบัติเหตุไม่ดี แล้วอุบัติเหตุแปลภาษาอังกฤษว่าอย่างไร มาจากคำไหนภาษาอังกฤษ accident อุบัติเหตุนี่ accident ทั้งนั้นครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าไม่ใช่หรอกคำนี้ อุบัติเหตุต้องใช้คำว่า incident ส่วน accident ภาษาไทยแปลว่าอุปัทวเหตุ เมื่อสักครู่นี้ผมถวายพระพรพระราชอุปัทวันตราย คนธรรมดาก็ อุปัทวันตราย แปลว่าคำนี้จะต้องใช้คำว่า incident เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ทั้งนั้นครับ incident แต่เราเอามาใช้คำนี้กลายเป็นคำไม่ดี
รับสั่งเป็นตัวอย่างครับ แล้วก็คุยกันไปแต่ละเรื่อง ๆ ผมจดเอามาเพื่อจะได้สนทนากันไป ถ้าดูอย่างนี้ครับ เริ่มต้นรับสั่งว่าคำว่ามหาวิทยาลัย เมื่อปี 2505 ครับ เรียกคำว่ามหาวิทยาลัยว่ามหาทลัย อ่านว่า มะ -หา -ทะ-ไล แล้วคำว่าดิฉัน อ่านว่า ชั้น ชั้นยังไม่เท่าไร อ่านเดี๊ยน รับสั่งถามว่าแล้วน้ำเขียนสั้นทำไมอ่านยาว น้ำ อ่านว่า น้ำ ถัดไปคำว่า accident อุบัติเหตุไม่ใช่ accident อุปัทวเหตุถึงจะเป็น accident รับสั่งถึงคำว่า bus รถโดยสาร เรียกว่ารถบัสรถโดยสาร รับสั่งว่าคำนี้จริง ๆ เป็นคำที่เขาเอามาผสมกัน เขาเรียกว่า omnibus omni เป็นภาษาละติน omnibus แปลว่ารถยนต์สาธารณะ คือรถมวลชนโดยสารที่เราใช้กันนี้ ต่อมาคำว่า omni หายไปเรียกว่าบัสเฉย ๆ รับสั่งเป็นตัวอย่างครับ
พูดถึงคำว่าวิทยากร ว่าไม่ตรง พระองค์วันท่านก็รับสั่ง ท่านทรงบัญญัติศัพท์วิทยากร เป็นอย่างไร เราใช้กัน ก็ที่จริงแล้วที่แรกบอกว่าใช้คำว่าวิทยาธร ถึงจะถูกต้อง พระองค์วันท่านรับสั่งว่าวิทยาธรไม่ดี มีคนอธิบายอีก พูดคำว่า วิทยาธรไปใกล้คำว่าเพทยาธร แปลว่าไม่ดีผู้ชายที่ไปยุ่งกับผู้หญิง เขาเรียกเพทยาธร เพราะฉะนั้นวิทยาธรเลยไม่ติด ไป ๆ ออกมาใหม่ว่าวิทยากร คนรับ วิทยา แปลว่าความรู้ อากร แปลว่า ที่รวม วิทยากร แปลว่าที่รวมของความรู้ แต่เอามาใช้คำว่าเป็นผู้มาบรรยาย วิทยากร รับสั่งว่าคำนี้ไม่ตรง ทั้งหมดที่รับสั่งมาเป็นเรื่องของการใช้ภาษาไทย ตอนท้ายจะทรงสรุป อย่างคำว่า personnel บางทีใช้กันยืดยาว หมายความว่าบุคคลที่จะทำงาน เอาบุคคลไปบวกกับคำว่าอากร ได้คำว่าบุคลากร ไม่ใช่ความหมาย personnel แปลว่าบุคคล พอแล้ว ไปทำว่า personnel ไปแปลว่าบุคลากร บุคคลบวกอากรไม่ใช่ความหมายที่ตรง แปลคำว่า personnel ไม่ตรง
ท่านผู้ชมรู้จักคำว่า หล่อ ไหม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถึงเรื่องคำว่า หล่อ ไหนหล่อไหมครับ ผู้ชายคนนั้นหล่อ ๆ หล่อแปลว่า สวยงาม ผู้ชายรูปร่างหล่อ สมาร์ท จริง ๆ เขาพูดกันภาษาฝรั่งเขามีคำว่าหล่อ แต่คำว่าหล่อมาจากไหน มาบอกว่าคนที่หน้าตาสวยงามเหมือนกับ Greek God แปลว่ารูปหล่อของพระเจ้า รูปหล่อของเทวรูป เรียกว่า Greek God รูปสวยทั้งนั้น นั่นแปลว่ามาจากรูปหล่อ รูปหล่อสมัยก่อน Greek God สวยทั้งนั้น แล้วเราใช้คำอย่างไร เอาคำเดียวมาใช้ ใช้คำว่าหล่อ ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นหล่อ แล้วหล่อแปลว่าสวยงาม หล่อเฉย ๆ ครับ
อาจารย์สุกิจฯ ท่านเป็นทูตอยู่อินเดีย อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ท่านพูดเล่าของท่าน ท่านไปเป็นทูตเมืองแขก ผมยังนึกถึงหน้าตาท่านออกเลย ท่านพูดบอกว่าตอนอินเดียได้เอกราช 60 ปีแล้ว 50 กว่าปีนี้ เดี๋ยวนี้ก็แยก แต่ก่อนเขาสองประเทศรวมกันทั้งซ้ายทั้งขวาเลย อันหนึ่งแยกเป็นบังคลาเทศ อีกอันหนึ่งแยกเป็นปากีสถาน ทางตะวันตกของอินเดียเป็นปากีสถาน ตรงรวงผึ้งนี้ก็เป็นอินเดีย พอแยกเสร็จปั๊บคนอินเดียใช้ภาษาฮินดี คนฮินดูนะ อินเดียฮินดู เขาใช้ภาษาฮินดี พวกทางอิสลามเขาใช้อูระดู อูระดูเขาเขียนภาษาอาหรับ แต่ฮินดีเขาเขียนเทวนาคลี เป็นตัวอักษรครับ เขาไม่มีปัญหาใช้กันมา พอแยกประเทศปั๊บ บอกไม่ได้ ไปเขียนอูระดูกันกลายเป็นตามอย่างปากีสถาน เอาฮินดีเขียนใหม่เลย เขียนภาษาขึ้นมาใหม่ ออกบัญญัติศัพท์ที่เขาพูดกันเรื่องบัญญัติศัพท์ ออกมา 5,000 คำครับ ในอินเดียใช้ภาษาออกกันบัญญัติศัพท์มาใหม่เลย 5,000 คำ ปรากฏว่าออกมาทีเดียว 5,000 คำ บัณฑิตเนรูเป็นนายกรัฐมนตรี บอกว่าฟังวิทยุพูดแล้วไม่รู้เรื่อง เขาไม่รู้เขาก็เทียบภาษาอังกฤษให้ฟัง ภาษาอังกฤษดอกไม้ ดอกแม็กโนเลีย เป็นวงศ์จำปาครับ แม็กโนเลียเป็นจำปา ภาษาอังกฤษเขียนว่า Magnolia grand flora ดอกจำปาใหญ่ ภาษาศัพท์ทอินเดียใส่มาเลย เขาใช้คำว่าเขียนว่า Magnolia grand flora เขียนว่าจำปากะมหาบุษปะ แม็กโนเลียแปลว่าจำปาครับ อินเดียใช้คำศัพท์ว่าจำปากะ grand flora ดอกไม้ใหญ่มหาบุษปะ จำปากะมหาบุษปะ นายกรัฐมนตรีอินเดียบอกฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ออกมาทีละ 5,000 คำ แปลแล้วออกไม่ออก
อาจารย์สุกิจฯ เล่าให้ฟังในที่ประชุมว่าไปเมืองพาราณสี พาราณสีอินเดียเรียกบานาเรส คนพาราณสีถามอาจารย์สุกิจฯ ว่า คำว่า water supply คนไทยเรียกว่าอะไรอาจารย์สุกิจฯ บอกว่าน้ำประปา คนที่พาราณสีร้องเลยบอกว่าคนไทยทำไมเก่งจัง ถามว่าทำไม ก็น้ำประปาเป็นคำโบราณ เป็นภาษาสันสฤตใช้มา 2,000 ปีแล้ว คนไทยไปคิดได้อย่างไร คำว่าประปาแปลว่า drinking fountain แปลว่าน้ำสำหรับดื่ม เขาถามเลย water supply แปลว่าน้ำประปา ภาษาไทยน้ำประปา แปลว่า drinking fountain ในภาษาสันสกฤต คนพาราณสีบอกเมืองไทยยอดจริง ๆ แล้วก็คุยกันอีกคำว่าแต่ก่อนนี้ภาษาใช้เผยแผ่ พุทธศาสนาก็เผยแผ่ แต่ว่าจริง ๆ ใช้ว่าเผยแพร่ เลยเผยแพร่ กันใหญ่ถูกใจคน เผยแผ่นั้นโบราณไปเลยทีนี้ก็เลยพูดกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ต้องตกลงกันให้แน่ที่คุยกันวันนั้นนะครับ ต้องตกลงกันให้แน่ว่าจะใช้ว่าอย่างไร ท่านบอกว่าภาษาไทยของเรา ผมก็ได้เรียนรู้ประวัติตอนรับสั่งนั้นคนไทย 25 - 26 ล้านคน รับสั่งว่าต้องให้แน่ว่าเอาอะไร คนไทย 25 - 26 ล้านคนถึงจะได้รู้จะเรียกให้ถูก ทรงชี้ไปที่แก้ว อันนี้ท่านบอกว่าถ้วย แต่อีกคนบอกแก้ว ต้องเอาให้แน่ว่าถ้วยหรือแก้ว รับสั่งว่าจะเอาอย่างไร
ทีนี้ก็มีหลายอย่างที่พูดกันครับอย่างคำว่ามาตรการ สมเด็จในกรมฯ บอกว่ามีคำที่ภาษาฝรั่งเขาใช้คำว่า genius of the language มันเป็นเรื่องในภาษาคือภาษาต่างคนต่างมีความที่เรียกว่าอัจฉริยะของภาษา สมเด็จในกรมฯ บอกว่าคำว่า culture เขียนภาษาไทยว่า พฤติธรรม ไม่ติดครับพฤติธรรมไม่ติด พอออกว่า culture บอกวัฒนธรรม ติดเลยครับวัฒนธรรมติด ไป ๆ มา ๆ ก็คุยกันไปคุยกันมาก็มีหลายคำครับ มีทั้งโรคหมอ หมออวย เกตุสิงห์ ไปด้วย อาจารย์คึกฤทธิ์ฯ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี) ก็ไปด้วย อาจารย์คึกฤทธิ์ฯ ก็อยู่ข้างล่างครับ มีหลายคำ อย่างคำว่า acute หมอ 2 หมอบอกว่า acute โรคปัจจุบัน คนกลัวบอกเดี๋ยวจะเป็นอะไร ไม่เอา เดี๋ยวนี้กลับมาใช้ใหม่ บอกมีหลายคำเลยครับ
คำว่ามานทะลุน ภาษาอังกฤษคำว่ามานทะลุน เรียกว่ามานทะลุน มีภาษาอังกฤษไหม บวมทั้งตัว Anna saka แปลว่าบวมทั้งตัว ภาษาศัพท์บอกมานทะลุน หมออวยฯ บอกว่าไม่ค่อยกล้าจะใช้ วันหลังเจอท้องมาน น้ำในท้องเยอะ ท้องมาน ไปเปิดพจนานุกรมเจอคำว่ามานทะลุน แปลว่าบวมทั้งตัว เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเขาบันทึกไว้ครับ รับสั่งเลยบอกว่าต้องให้แน่ จะใช้ภาษาไทย ทรงเทียบกับไปต่างจังหวัด แน่หรือไม่แน่ก็ไม่รู้ ก็เลยตกลงว่า
สุดท้ายเขาบอกว่าตอบคำถามสักหน่อยได้ไหม ตอบคำถามคือว่า มีเอกสารคราวที่แล้วมาบอกครับ นี่นายกฯ สมัครฯ มาพูดจาบอกเรื่องบอกว่ากฎหมายลูก กฎหมายหลานแปลว่าอย่างไร ที่ผมไปนินทาไทยพีบีเอส ไทยพีบีเอสบอกออกกฎหมาย จะเล่าให้ฟังครับ กฎหมายหลานพระราชบัญญัติองค์กรกระจายเสียง ที่เขายึดทีไอทีวีไปนี้ องค์การกระจายเสียงแพร่ภาพสาธารณะไทย พระราชบัญญัติออกมา 15 มกราคม 2551 กฎหมายนี้บอกว่าเป็นกฎหมายหลาน กฎหมายลูก กฎหมายแม่ แม่เขาฉบับนี้เพิ่งออกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 หลานออกก่อนครับ นี่ 15 มกราคม 2551 ผมยังไม่มา กฎหมายที่เขาใช้เป็นทีวีสาธารณะ เอาปีละ 2,000 ล้านนี้ กฎหมายออก 15 มกราคม 2551 แล้วกฎหมายแม่ออกเมื่อไร กฎหมายแม่ออกวันที่ 5 มีนาคม 2551 แล้วกฎหมายตัวที่เป็นแม่ของแม่ กฎหมายยาย กฎหมายยายยังไม่ออกเลยครับ พระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ยังไม่เกิดครับ พระราชบัญญัติคลื่นความถี่ครับ มาตรา 7 ที่พูดกันนี้ หรือมาตรา 40 อะไรนี่ละ กฎหมายยายยังไม่ออกเลยครับ กฎหมายแม่ออกเดือนมีนาคม กฎหมายหลานออกก่อน แปลว่าอย่างไร ชิงออกมาก่อนเลยครับ แม่ยังไม่เกิด ลูกออกมาแล้ว ยายอยู่ไหนยังไม่รู้เลย ตอบคำถามหน่อย บอกว่าพูดจาอะไรกำกวม มีคำถามบอกให้ตอบคำถามหน่อย
หนังสือจริง ๆ เล่มนี้ตัวหลัก 200 ปี กรมหลวงฯ อันนี้จินดามณีก็กรมหลวงฯ และเขาก็โดยสารกรมหลวงฯ คือเอาบันทึกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน หนังสือ 3 เล่มนี้ พันเอกหญิง ท่านผู้หญิงนิออน สนิทวงศ์ฯ ส่งมาให้ผม เพราะเขาฉลอง 200 ปีเสด็จในกรมฯ ทีนี้เขาก็สนใจ ผู้ที่สนใจมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ติดต่อคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นะครับ อ่านเบอร์จดเลยนะครับ โทรศัพท์ไปที่ 034 - 255096 เลข 9 ตัว อยู่นครปฐมนะครับ ถ้าเผื่อโทรสารแฟกซ์ไป 034 - 255794 มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะอักษรศาสตร์ เขาเป็นเจ้าของเรื่องนี้ เขาเป็นผู้จัดทำหนังสือนี้ นี่เป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ วันนี้ไม่มีการเมืองเลยครับ ไม่มี การประวัติศาสตร์ล้วน ๆ เลย แล้วด้วยความยินดีมีเวลาก็อยากจะได้พูดเรื่องพรรค์อย่างนี้ละครับ ให้ผู้คนในบ้านเมืองได้รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ วันพรุ่งนี้สำหรับข้าราชการจัดถวายพระพรอย่าลืมแต่งปกติขาวนะครับ ราษฎรธรรมดาไปได้ครับ อยู่ข้างหน้าเต็นท์ ข้าราชการก็ไปเหมือนวันที่ 5 ธันวาคม วันที่ 12 สิงหาคม ครับ แต่ว่าวันที่ 28 กรกฎาคม วันสมเด็จพระบรมฯ ท่านพรุ่งนี้ เวลาหมดแล้วครับ เอาเพียงเท่านี้นะครับ เมื่อคราวที่แล้วพอจบแล้วร้องเพลงก็ถูกนินทาอีก ว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ทางโน้นบอกพอจบก็ก้มหน้าก้มตารวบหนังสือ หนังสือนี้ก็น่ารวบละครับ ลาก่อนครับ วันอาทิตย์หน้า 08.30 น. พบกันใหม่ครับ วันนี้สวัสดีครับ