xs
xsm
sm
md
lg

เฟ้นหา “อัจฉริยะเฉพาะด้าน” ผ่านค่ายละคร-ค่ายกวีที่ สสอน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชันกลอนจากแต่ละกลุ่ม
“โครงการนี้เป็นการส่งเสริม ฝึกฝนศักยภาพของเยาวชน ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาความสามารถของพวกเขาให้สูงขึ้น โดยการสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้และสร้างสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการค้นพบศักยภาพ ความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวให้ฉายแววออกมา และพัฒนาให้เยาวชนเหล่านี้มีความสมดุลทั้งทางสติปัญญา ร่างกาย สังคม และจิตใจให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

นั่นคือ คำอธิบายของ ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) ที่บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์การจัด ค่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ ที่ทาง สสอน.ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายและสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดให้มีขึ้น

  • สร้างกวีรุ่นใหม่ ผ่านค่ายภาษา วรรณกรรม

    ไปกันที่ค่ายแรก คือ “ค่ายสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรม” ที่จัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากคณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนักเขียน รวมถึงกวีที่มาให้คำแนะนำ ฝึกฝนเยาวชนที่มีความชอบ ความถนัด ในด้านของการใช้ภาษา งานเขียนวรรณกรรม เพื่อพัฒนาทักษะ สร้างสรรค์ผลงานในด้านของภาษาและวรรณกรรมให้แก่เยาวชนที่สนใจด้านนี้เป็นพิเศษ
    เด็กๆ ขณะซ้อมละครอย่างตั้งใจ ก่อนแสดงจริง
    อ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง นักเขียนล้านนา จากแผนกวิชาภาษาไทย คณะวิชาสามัญ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ จ.เชียงใหม่ หนึ่งในวิทยากรผู้ให้ความรู้ เล่าว่า เยาวชนที่มาเข้าค่ายจะมีพื้นฐานของการเขียนอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถทั้งแบบร้อยแก้ว ร้อยกรอง โดยการให้ความรู้จะแบ่งเป็น 3 ฐาน ได้แก่ 1.ร้อยกรอง ร้อยแก้ว 2.การเขียนเรื่องสั้น และ 3.ทักษะการพูด เพื่อฝึกให้เด็กได้แสดงออกทั้งด้านของศิลปะการเขียน และศิลปะในการสื่อสาร

    ทั้งนี้ ผลงานที่ออกมาจะเห็นได้ว่าเด็กกลุ่มนี้มีพื้นฐานในการใช้คำ คือ มีการเลือกคำที่คล้องจอง เหมาะสม ได้โดยไม่ต้องสอนเพราะมีความรู้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ที่สำคัญคือหากมองจากเด็ก ป.5 และ ป.6 ซึ่งถือว่าอายุน้อยที่สุดที่มาร่วมค่าย ทำได้ถึงขั้นนี้ชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีความรักและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
    อ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง
    “เท่าที่มองเห็นอย่างน้อยที่สุดเด็กสามารถทำตามกฎเกณฑ์ที่เราให้ได้ตามเวลา เงื่อนไขที่วางไว้ โดยที่จะให้เด็กได้แต่งบทกวีในรูปแบบต่างๆ ตามหัวข้อที่กำหนด และให้ส่งตามเวลา จากนั้นจะนำเอางานเขียนเหล่านั้นมาคัดกรองหางานที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เขารับรู้ในเรื่องของการทำงานในรายละเอียดให้มากขึ้น เช่น การอ่านบทร้อยกรอง ต่างๆ ควรอ่านในน้ำเสียงเช่นไร ต่อไปก็จะสอนในการใส่ความคิดลงไปในตัวงาน ในการนำเสนอ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาอาจจะไม่รู้ในตอนนี้ แต่เมื่อเขาได้รับการฝึกฝนจนคล่องแล้ว เขาก็จะรู้ในสิ่งที่เราถ่ายทอดไปได้” อ.วิลักษณ์ อธิบาย

    อ.วิลักษณ์ ยังบอกอีกว่า ในปัจจุบันครูที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านภาษาและวรรณกรรมจะมีวิธีการต่างๆ ที่จะคอยสอนให้เข้าใจและสนใจคำว่าบทกวี คำกลอน มากกว่ายุคก่อนหน้านี้ที่ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก ขณะที่การมาเข้าค่ายในลักษณะนี้เมื่อก่อนหาได้ยากมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะการเข้าค่ายสามารถทำให้เด็กได้รู้ตัวตนของตัวเองว่าชอบงานส่วนไหน โดยที่ทางวิทยากรจะเป็นผู้คอยกระตุ้น เพิ่มมุมมอง ทัศนคติที่มีต่อการเขียน
    ‘น้องไวไว’- ชวิน พงษ์ผจญ
    ด้านกวีรุ่นใหม่อย่าง “น้องไวไว” - ชวิน พงษ์ผจญ อายุ 16 ปี ชั้น ม.5 จาก ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เจ้าของรางวัลพระราชทานชนะเลิศการประกวดแต่งบทร้อยกรอง และการประชันกลอนสด ในหลายเวที กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับจากค่ายแห่งนี้ ว่า ความสำคัญอยู่ที่การได้รู้จักเพื่อนที่มีความชอบในเรื่องเดียวกัน ได้ประสบการณ์ และได้พัฒนาตนเองให้กลับไปมีแนวคิด มีวิธีเขียน ที่แตกต่าง ซึ่งส่วนตัวคิดเสมอว่าเด็กที่อยู่ตามต่างจังหวัด หรือเพื่อนหลายคนที่มาร่วมค่ายต่างก็มีความสามารถไม่แพ้กัน แต่ติดตรงที่การอยู่ในเมืองทำให้ได้รับโอกาสในการประกวดแข่งขัน ในเวทีต่างๆ มากกว่า จึงทำให้ไปได้ไกลกว่า

    “ตอนนี้เด็กส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในวรรณกรรมต่างประเทศมากกว่าวรรณกรรมของไทย ถามว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ก็คงบอกได้ว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะถึงอย่างไรคนไทยก็ต้องอ่านภาษาไทยอยู่แล้ว ในส่วนของค่ายนี้มีการเปิดโอกาสให้ได้รับความรู้จากหลายส่วน ทั้งเขียนบทกวี เรื่องสั้น และการพูด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นทุกอย่างที่เราชอบอยู่แล้ว การมาตรงนี้ทำให้เราได้มีการพัฒนาตัวเองมากขึ้นไปอีก ดีขึ้นเรื่อยๆ” น้องไวไว ให้ความเห็น
    พฤหัส พหลกุลบุตร
  • ค่ายละคร ปั้นว่าที่นักแสดงคุณภาพ

    ต่อกันที่ “ค่ายละครเพื่อการพัฒนาอัจฉริยภาพ” ที่ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน กลุ่มละครมะขามป้อม ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ฝึกอบรม มะขามป้อม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งค่ายแห่งนี้เน้นการพัฒนาเฉพาะด้าน ที่มุ่งเน้น ฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการละคร ให้กับผู้ที่สนใจ และมีความสามารถพิเศษในด้านการแสดง

    พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายละครการศึกษา คณะละครมะขามป้อม ในฐานะผู้อำนวยการค่าย อธิบายว่า เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินการของค่ายมีเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้แบ่งการเรียนรู้เป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.การวางพื้นฐานให้เข้าถึงความหมายของละคร พื้นฐานของการเคลื่อนไหว การใช้เสียงการเข้าใจอารมณ์ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ต้องการจะให้เด็กเป็นนักแสดงที่เก่ง แต่ต้องการจะให้เด็กมีความเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในสิ่งที่ชอบ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นเมื่อเข้าใจกระบวนการด้านละครแล้วจะแบ่งกลุ่มเพื่อทำละครออกแสดงภายในชุมชน ถึงคนดูจะไม่มาก แต่เด็กก็แสดงออกอย่างเต็มที่ เป็นการฝึกด้านความกล้าแสดงออกไปในตัว
    วสันต์ เจ๊กแช่ม
    จากนั้นในระยะต่อมาจะให้เด็กได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อหาข้อมูล โดยการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ภายในชุมชน เพื่อค้นหาประเด็น หรือปัญหาในชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนได้พบเจอ เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ ที่เห็นว่าน่าสนใจ น่านำเสนอ มารวบรวมทำเป็นบทละคร เช่น ความเชื่อเรื่องผีฝายของชาวบ้าน หรือในเรื่องของประเพณีปีใหม่เมือง เสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการสร้างละครโดยการเริ่มต้นแบ่งงานในกลุ่มตั้งแต่การเขียนบท ใส่ดนตรีประกอบ เครื่องแต่งกาย ฉาก โดยจะแบ่งตามความสามารถที่เขาถนัด โดยมีพี่ๆ จากกลุ่มละครมะขามป้อมเป็นคนคอยกำกับการแสดงและให้คำแนะนำ

    “การแสดงละครจะใช้ความรู้สึกเป็นการกำหนดงาน เมื่อได้ข้อมูลมานั้นรู้สึกอย่างไร ประทับใจอะไร เอาความสนุกมาก่อน เมื่อพลังความสนุกออกมา และจะคิดต่อไปว่าที่เราเล่นนั้นเราต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้ชมในเรื่องที่เราได้ข้อมูลมา จากนั้นจะเอาความคิดมาใส่ ความยากจึงอยู่ที่ว่าเมื่อมีความสนุกในตอนแรกแล้ว จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความคิดไปเบียดเนื้อที่ของความสนุก ไม่ทำให้ละครของเราน่าเบื่อ นี่คือสิ่งที่ยากที่สุด”

    ผอ.ค่าย ให้ภาพยังบอกอีกว่า ละครทำให้เด็กได้รับจัดประสบการณ์พิเศษที่ไม่สามารถหาได้จากในโรงเรียน เน้นการหาความรู้ด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญ คือ การทำงานร่วมกัน ซึ่งจะไม่มีใครเด่นกว่าใคร จึงจะทำให้กลุ่มเดินหน้าไปด้วยกันได้ ถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญในอนาคต เมื่อเขาได้รับการเรียนรู้ และได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบแววโดดเด่นในแต่ละด้านจะออกมา เช่น การเขียนบท การแสดง การกำกับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป ทำให้กิจกรรมที่ทำเพื่อเป็นการดึงความสามารถของพวกเขาให้ออกมามากที่สุด

    ทางฝั่งสาวน้อยหน้าใสอย่าง “น้องกิ๊ฟท์” - ศศิชา อุปการะกิจ อายุ 13 ปี ชั้น ม.2 จาก ร.ร.ลาซาล กรุงเทพฯ บอกว่า การแสดงละครช่วยให้เป็นคนกล้าแสดงออก เข้ากับผู้คนได้ง่าย และความรู้ที่ได้รับจากการมาค่ายฯ คืออาวุธนักแสดง ที่เป็นการจัดองค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ 1.การใช้ร่างกาย หากไม่มีร่างกายที่ดี ก็จะไปถึงจินตนาการไม่ได้ 2.ความเชื่อ หากไม่เชื่อว่าเราเป็นตัวแสดงนั้นจริงๆ จะไม่สามารถเข้าถึงบทบาทนั้นได้ 3.การจัดองค์ประกอบของละคร ที่เริ่มจากจุดเริ่มต้น ช่วงกลาง คือ จุดขัดแย้ง และสุดท้าย คือ จุดจบ
     ‘น้องกิ๊ฟท์’-  ศศิชา อุปการะกิจ
    เช่นเดียวกับหนุ่มจากแดนสะตออย่าง วสันต์ เจ๊กแช่ม อายุ 17 ปี ชั้น ม.6 จาก ร.ร.นวมินทราชูทิศ ทักษิณ จ.สงขลา กล่าวถึงการมาค่าย ว่า ส่วนตัวแล้วสนใจการแสดง จึงอยากเปิดมุมมองด้านการแสดงในสิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากค่ายฯ คือการเข้าถึงบท ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อนักแสดงที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้ชม อีกทั้งยังมีโอกาสได้ลงพื้นที่ชุมชน ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เพื่อนำมาสะท้อนเป็นละครที่ได้ทำเองกับมือเกือบทุกขั้นตอน เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก

    “ความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับความตั้งใจในอนาคตที่ต้องการอยากจะเรียนด้านการแสดง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้เรียนรู้ถึงการทำงานด้านละคร เพราะกว่าจะสำเร็จมาเป็นละครหนึ่งเรื่องนั้น ต้องผ่านกระบวนการที่ต้องใช้ความคิด ใช้จินตนาการ และข้อมูลเพื่อสร้างให้เกิดความสมจริง เพื่อสื่อสารให้คนดูเข้าใจ ดังนั้น กระบวนการทำงานเป็นกลุ่มจึงมีความสำคัญ” วสันต์ ทิ้งท้าย



  • กำลังโหลดความคิดเห็น