xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “ตุลาการภิวัตน์” เริ่มแผลงฤทธิ์! ฟันธง “ระบอบแม้ว” พังใน 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อดีต ส.ว.ชี้ “ตุลาการภิวัตน์” เริ่มแผลงฤทธิ์แล้ว เชื่อ “ระบอบทักษิณ” พังเป็นโดมิโนใน 1 ปี อาจารย์นิติฯ มธ.ก๊วน “วรเจตน์” เหน็บนักวิชาการโหนกระแสหนุนคำวินิจฉัยตุลาการที่ก้าวล่วง “นิติบัญญัติ-บริหาร” ด้าน “สมชาย มช.” โวย ต้องวิจารณ์ศาลได้ อ้างตุลาการภิวัตน์เกิดจากความขัดแย้ง ซ้ำตัดสินอิงกระแสแบบเลือกข้าง เล่นคำ ระวังจะเป็น “ตุลาการวิบัติ”

วันนี้ (3 ส.ค.) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และกองทุน จิตร ภูมิศักดิ์ จัดอภิปราย เรื่อง “การเมืองสยามประเทศ (ไทย)-หลังสมัคร IIII และ/หรือ “ตุลาการภิวัตน์-ได้ผลจริงหรือ”

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ปี 2540 กล่าวว่า หากมองในรัฐบาลสมัคร 4 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาคดี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ทำให้เชื่อว่า ขณะนี้ “ตุลาการภิวัตน์” ในสังคมไทยเริ่มแผลงฤทธิ์ และจะเป็นในลักษณะโดมิโน เนื่องจากคนที่มีหน้าที่ชงเรื่อง ได้หมดภาระจบบทบาทไปแล้ว อย่าง คมช.และ คตส.

“ผมฟันธงได้เลย ว่า ระยะไม่ไกลในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาฯ ผมคิดว่าอย่างมากที่สุดไม่เกินหนึ่งปีจากนี้ไป ปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า ระบอบทักษิณ ซึ่งวาทกรรมนี้เกิดจากกระบวนการตรวจสอบที่ล้มเหลว ระบอบทักษิณจะถูกทำลายล้างลงไปอย่างแน่นอน ดังนั้น ตุลาการภิวัตน์จะได้ผลหรือไม่นั้น ในระยะสั้นทุกคดีที่ คตส.ได้ไต่สวน และส่งขึ้นไปแล้ว แม้อัยการสูงสุดไม่เอาด้วย สุดท้ายเมื่อกระแสขึ้นแล้ว เครื่องติดจริงๆ แล้ว ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็น ถ้าเราจะได้เห็น เหมือนเปาบุ้นจิ้นใช้อาวุธเครื่องประหารหัวสุนัขประหารชีวิต เราจะได้เห็นว่า จะมีคนคอขาดกระเด็นเป็นแถวๆ ตั้งแต่ระยะนี้ต่อไป ในศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช.จะเสร็จสิ้นลงไปที่สุด”

นายพนัส กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ความรู้สึกของประชาชนในตอนท้าย จะรู้สึกอย่างไร คงจะประเมินไม่ได้ คงจะต้องรอดูต่อไป ถ้าประชาชนได้รับความมั่นใจว่า การตัดสินของศาลต่างๆ ทั้งศาล รธน.ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม เป็นการพิจารณาคดีบนพื้นฐานที่มีหลักประกันในความเป็นธรรม เชื่อว่า ในระยะยาว ตุลาการภิวัตน์จะอยู่กับสังคมไทยต่อไป อย่างไรก็ตามกระบวนการตัดสินขณะนี้ เป็นการเปิดศาลโดยพันธมิตรฯ ที่ตัดสินแบบเปิดพยานข้างเดียว จนกลายเป็นลักษณะตุลาการพิฆาต คือ คนไทยจะไม่กล้าทวนกระแส

นายพนัส กล่าวว่า ตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เช่น การตีความที่มาของ คตส.ในคดีหวยบนดินที่รัฐบาลทักษิณถูกฟ้อง ถือเป็นงานแรกของศาลรัฐธรรมนูญ คณะที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และเชื่อว่า มีการประสานรับลูกเป็นทีมเวิร์กอย่างดี ระหว่าง ส.ว.บางส่วน สายสรรหาทั้งสิ้น ทุกคนก็แสดงความเชื่อมั่นว่าจะออกเช่นนั้น จากเริ่มต้นที่ถูกโต้แย้งในคดีหวยบนดินไม่นานสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ ก็ชี้ลงมาว่าที่มาของ คตส.ชอบด้วยตามรัฐธรรมนูญ เพราะคณะ คปค.ได้ทำการยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จนยอมรับโดยชัดแจ้ง เช่นเดียวกับ ปี 2490 ที่ศาลฎีกา วินิจฉัยในวันที่ 8 ส.ค.2490 ว่า การเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่บริหารราชการแผ่นดิน ปี 2490 เมื่อยึดอำนาจได้สำเร็จ ก็ถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตามระบอบแห่งการปฏิวัติ เมื่อยึดอำนาจตามรัฏฐาธิปัตย์ ก็ต้องชอบตามรัฐธรรมนูญจนเป็นบรรทัดฐานของฝ่ายตุลาการของเรา

“ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมถูกมองว่ากำลัง เป็นแดนสนธยา มีบทบาทในการพิพากษาคดี กำหนดบทบาทในเชิงรับ ไม่ได้แอกทีฟ โดยเฉพาะนิติศาสตร์ในอดีต ได้ตัดสินตามหลักบรรทัดฐานที่มีอยู่และกำหนดดั้งเดิม มีการคิดกันว่า น่าจะมีการปรับท่าทีตรงนี้”

นายพนัส กล่าวว่า ในอดีตมีการพยายามให้ศาลออกมามีบทบาทตื่นตัวในหลักนิติธรรม หรือนิติรัฐ ในการปกครองบ้านเมือง เพื่อเป็นการคานให้เกิดความสมดุลการปกครองในบ้านเมือง เพื่อให้ศาลมีบทบาทในเชิงบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นผู้พิทักษ์รักษา บทบาทในการคอยพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อไม่ให้อำนาจรัฐข่มขี่ประชาชน ในที่สุดรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีระบอบการตรวจสอบที่เบ็ดเสร็จ แม้ตนจะไม่เห็นด้วย แต่ระบบการตรวจสอบของรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับล้มเหลว แต่ที่เกิดอย่างน้อยได้ทำให้เกิดตุลาการภิวัตน์

“สังคมไทยจะต้องแยกแยะหน้าที่ศาล ใครบ้างที่เป็นตัวเล่น มีบทบาท ตุลาการภิวัตน์ น่าจะมีตัววัดที่ถูกต้องและเหมาะสม มีอำนาจชี้ว่า สภาผู้แทนราษฎร ออกกฎหมายใด จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ แต่เราไปเน้นศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองมากเกินไป แทนที่จะพิทักษ์ประชาชนเหมือนศาลสูงในสหรัฐฯ เราไปเน้นแต่เป็นศาลการเมือง และที่มาของผู้เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะไปโทษฝ่ายการเมือง ทั้งหมดคงไม่ได้”

นายพนัส กล่าวอีกว่า กรณีศาลปกครอง แม้จะมีความแตกต่างกับศาลรัฐธรรมนูญแต่ความคล้ายคลึงของศาลยุติธรรมในลักษณะเป็นมืออาชีพ ที่แม้จะไม่ต้องสอบเป็นตุลาการ แต่ตุลาการศาลปกครอง จะต้องเข้มงวดและสูงในกฎหมายมหาชน จะต่างกับที่มาของ ศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะความรู้สึกทางการเมือง ที่เชื่อว่า มีการแทรกแซงจากกระบวนการสรรหาจากผู้มีอำนาจ

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ปี 40 กล่าวว่า มองดูแล้วมี 3 เป้าหมายของระบอบตุลาการภิวัตน์ ประกอบด้วย 1.เป้าหมายการเพื่อพิพากษาการกระทำของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ถูกโค่นล้มไป และเชื่อว่า จะล้มไป 2.เป้าหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤติหาข้อยุติทางการเมืองไทยชัดเจน ที่เกิดก่อน 19 ก.ย.และดำรงอยู่ ถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะมีการดำเนินการโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และดำเนินการตามครรลองของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้การออกฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลที่เกิดจากบทเฉพาะกาลเท่านั้น และความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ต่างฝ่ายมีผู้สนับสนุน ที่มีอิทธิพลอย่างมาก และจำเลยในกระบวนการเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ที่ฝายบริหารต้องยึดโยงจากประชาชน ขณะที่ 3.เป้าหมายกระบวนการทางศาลเพื่อกำจัดศัตรูการเมือง โดนสถาปนาการเมืองใหม่ ถ้ามีใครคิดอยู่และใช้กระบวนการศาลที่เราพึ่งมา 100 ปี จะเป็นอันตรายมาก

นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่านักวิชาการส่วนใหญ่เพียงต้องการโหนกระแสประเด็นที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ แถลงการณ์ร่วมกรณีปราสาทเขาพระวิหาร จนทำให้เกิดผลร้าย จนยากที่จะเยียวยา ขณะเดียวกันการแผ่อำนาจของตุลาการ อะไรที่ขัดแย้งทางการเมือง ตุลาการต้องมาคลี่คลาย ตนถามว่า ที่ผ่านมา ศาล รธน.วินิจฉัยชี้ว่า การเลือกตั้งโมฆะ มติครม.แถลงการณ์ร่วมเขาพระวิหาร ถามว่าคลี่คลายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาอำนาจศาล รธน.มีขอบเขตกว้างขวางมากมาย

“ผมเชื่อว่า ตุลาการภิวัตน์ คงจะไม่ก้าวไกล มาทำงานในองค์การอิสระเช่นเดียวกับ คตส. ตรงนี้ขัดหรือไม่ ในกระบวนการ จากเป็นดีเอสไอไปอยู่ตุลาการ หรือ เป็น คตส.กลับไปเป็นตุลาการ คนไทยคิดอย่างไร คตส. มาจากคนที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์”

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า สังคมไทยดูที่ผลคำพิพากษามากกว่าเหตุผล ดูคำวินิจฉัยที่ศาลตัดสินมากกว่า อยากให้สังคมไทยดูเหตุผล ดูเหตุผลอย่างไรบ้าง สังคมไทยต่างก็มีธงคาดหมายว่า ศาลจะตัดสินเช่นนี้ ทำไมประชาชนคนไทยจึงรู้ผล ในสภากาแฟก็คุยกัน แต่ประชาชนไม่ได้วิจารณ์ว่า ศาลให้เหตุผลอย่างไร เช่นเดียวกับกรณีเขาพระวิหาร ศาลเอาเหตุผลของผู้ร้องมาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดีเสียเอง ศาลกำลังก้าวล่วงไปนิติบัญญัติ และบริหาร เหมือนกับกำลังก้าวล่วง มากกว่าวินิจฉัยทางด้านกฎหมาย คิดว่าไม่ใช่บทบาทของศาล และคิดว่าหากใช้วิธีการนี้มาก จะต้องจ่ายหนักในอนาคต

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการทางตุลาการ เหตุใดจึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะในต่างประเทศเมื่อศาลมีการตัดสินในเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกมาประชาชนของเขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลเพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของเขาได้ แต่ในประเทศไทยของเรากลับไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เป็นตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองดังนั้นคำตัดสินหรือคำวินิจฉัยใด ๆ ของศาลไม่ควรที่จะอ้างอิงกระแสทางการเมืองข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจนและควรมุ่งคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ใช่มุ่งไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเพราะหากศาลในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ตัดสินคดีโดยเลือกข้างทางการเมืองและมุ่งไปสู่การเมืองอย่างชัดเจนเมื่อนั้นประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายแน่

นาสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีนักวิชาการหลายคนที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องตุลาการภิวัตน์ในลักษณะที่โหนหกระแส โดยเฉพาะกรณีของ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาแสดงในเชิงสนับสนุนอำนาจของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ เราต้องยอมรับว่า นายธีรยุทธ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ ดังนั้นข้อเสนอของนายธีรยุทธที่มีออกมา จึงเป็นการเสนอทางออกมาของบ้านเมืองโดยขาดความรับผิดชอบ และนำบ้านเมืองไปสู่ความยุ่งยาก ข้อเสนอของ นายธรยุทธ นอกจากจะไม่ใช่การพัฒนากระบวนการตุลาภิวัตน์แล้ว ยังจะทำให้กระบวนการตุลาภิวัตน์กลายเป็นกระบวนการตุลาวิบัติด้วยที่นักวิชาการจุดขึ้นมานั้น เป็นนักวิชาการที่โหนกระแส
กำลังโหลดความคิดเห็น