xs
xsm
sm
md
lg

พปช.ลามถอดถอนศาลปค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุมพฎ วงศ์ใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน (พปช.) กลุ่มอีสานพัฒนา กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล ให้เป็นผู้ยกคำร่างพร้อมรวบรวมรายชื่อส.ส.เพื่อยื่นถอดถอน องค์คณะตุลาการ ศาลปกครอง 3 คน ตามมาตรา 270 และมาตรา 271 ฐานปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
สืบเนื่องจากกรณีที่องค์คณะตุลาการศาลปกครองในชุดเดียวกันนี้ได้วินิจฉัย กรณีมติ ครม. ที่เห็นชอบให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงนาม ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ เจเทปป้า ซึ่ง ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ แต่กรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ศาลปกครองกลับมีคำสั่งวินิจฉัยคุ้มครองชั่วคราว ทั้งที่เป็นคดีที่มีลักษณะเดียวกันทุกประการ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมศาลปกครองถึงปรับหลักกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.โดยเฉพาะกลุ่มอีสานพัฒนาจำนวนอย่างน้อย 28 คน ที่เห็นด้วยกับการดำเนินการ โดยจะเริ่มรวบรวมรายชื่อในวันที่ 28 หรือ 29 ก.ค.นี้ นายจุมพฏ กล่าวว่า เจตนาในการยื่นถอดถอนองค์คณะตุลาการศาลปกครอง ไม่ใช่อาฆาตแค้น แต่ต้องการให้เกิดหลักที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ และการวินิจฉัยในกรณีลักษณะดังกล่าวศาลปกครองมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีหรือไม่ ทั้งนี้ กระบวการยื่นถอดถอน ส.ส.ต้องใช้เสียง 1 ใน 4 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา จากนั้นวุฒิสภาจะส่งเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช. เมื่อได้รับคำร้องแล้วให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จ โดยเร็ว และทำรายงานเสนอกลับมายังวุฒิสภา หากพบว่ามีมูลความผิดแก็จะนำไปสู่การยื่นถอดถอน และการส่งฟ้องในคดีอาญาต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ส่งตีความทอ.ซื้อเครื่อบบินขัดรธน.
นายจุมพฎ กล่าวอีกว่าจะมีการรวบรวมรายชื่อส.ส.หรือส.ว. หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ทั้งสองสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา154 (1) ประกอบมาตรา190 วรรคท้าย ส่งให้ประธานสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสัญญาที่กองทัพไทยทำสัญญาซื้อขายเครื่องบินรบ กริฟเฟนกับประเทศสวีเดนว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสองหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นหนังสือสัญญาก็ต้องนำเข้าสู่สภา เพื่อขอความเห็นชอบ เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวเป็นงบผูกพันถึง 5 ปี ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลผูกพันกับสภา
อย่างไรก็ตาม การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ไม่ได้มีเจตนาหักล้างกองทัพ แต่เพื่อให้เกิดกรณีตัวอย่างสำหรับเทียบเคียง เพื่อกองทัพจะได้สบายใจ เรื่องนี้ถึงแม้สุดท้ายจะออกมาแต่กองทัพก็ไม่มีความผิดเพราะ ครม.ได้ออกมติให้กองทัพเป็นผู้ดำเนินการ สำหรับกำหนดการยื่นรายชื่อนั้นจะผลตรวจสอบความชัดเจนในรายละเอียดของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือ ออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม ตามวรรค 5 ของมาตรา 190 หรือไม่ นายจุมพฏ กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบกระทรวงการต่างประเทศกำลังยกร่าง แต่กฎหมายดังกล่าวเท่าที่ทำได้เพียงแค่เยียวยา ผลที่เกิดจากมาตรา 190 เท่านั้น ไม่สามารถไปออกกฎหมายหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องออกกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ไม่ออกในช่วงที่ผ่านมา แต่แนวคิดให้แก้มาตรา 190 เสียเลยก็เป็นความคิดที่ดี

ผบ.ทอ.ซัดพปช.ตีรวนหวังแก้รธน.
พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนจะยื่นเรื่อง ให้ตีความการซื้อเครื่อบบินรบกริฟเฟน ที่ไม่ผ่านความเห็นบอชจากรัฐสภาว่า งบประมาณในการจัดซื้อโครงการดังกล่าวได้มีการพิจารณาผ่านสภา โดยขณะนั้นมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำหน้าที่อยู่ ซึ่งได้รับทราบเรียบร้อย ตอนช่วงที่ไปลงนาม ได้มีการสอบถามไปที่สำนักงบประมาณแล้ว ทางผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับทราบคือการจัดซื้อครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยหรือดินแดนหรืออะไรต่างๆ จะมีข้อสงสัยเพียงบางอันเท่านั้นเองที่สามารถนำมาทักท้วง แต่โดยทั่วไปแล้วสมาชิกสนช.ได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้แล้วจากการพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรที่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ทั้งที่มีการ ดำเนินการตามขั้นตอน พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คนที่ยกประเด็นขึ้นมาไม่ได้อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) จึงไม่ทราบเรื่อง คงจะเป็นประเด็นการเมือง อาจจะเป็นประเด็นที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรืออะไรก็ไม่ทราบ ส่วนจะมีการนำเรื่องไปชี้แจงในสภากลาโหมหรือไม่ ถ้ามีคนถามก็ชี้แจงท่านทราบดี เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง และคิดว่าท่านเข้าใจเรื่องการจัดซื้อกริพเพนเป็นอย่างดี นายกฯจึงได้อนุมัติให้ไปจัดซื้อ

อดีต ส.ส.ร.ยันซื้ออาวุธไม่เข้าม.190
ด้าน นายคมสัน โพธิ์คง อดีตรองเลขานุการคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การจัดซื้ออาวุธไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้สภาเห็นชอบ ทั้งนี้เงื่อนไขการเข้าเกณฑ์มาตราดังกล่าว คือ 1.สัญญานั้นเปลี่ยนแปลงอาณาเขต 2.สัญญานั้นเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย 3.สัญญามีบทเปลี่ยนแปลง เขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ 4.กรณีความมั่นคงความมั่นคง และ5.เรื่องการค้าการลงทุนอย่างเอฟทีเอ ซึ่งจะสร้างผลผูกพันทางการค้าระยะยาวเหยียด

ปชป.ยังไม่ยื่นถอดถอนหมัก
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงความคืบหน้า การยืดถอดถอนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากกรณีลงมติ ครม.เห็นชอบให้ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาว่า ฝ่ายค้านมีข้อมูลเพียงสำหรับการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี เพราะนอกจากมติครม.ที่ยืนยันได้ว่าการกระทำของนายสมัคร และครม.มีลักษณะที่หมิ่นเหม่ จงใจขัดกฎหมายอาญา และกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลบางส่วนที่ระบุชัดว่า ช่วงแรกที่นายสมัคร เข้ารับตำแหน่งมีพฤติกรรมลับๆล่อๆ โดยเฉพาะการเดินทาง ไปพบผู้นำประเทศกัมพูชา หรือการเดินทางไปเวียงจันทน์ เพื่อเจรจาบางอย่าง ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้น จะทำให้เห็นว่าการให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย
นายสาทิตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนพูดไม่ใช้การขู่ เพียงแต่ว่าที่ยังไม่ยื่นถอดถอน ในช่วงนี้ ก็เพราะว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยความรอบคอบอย่างมาก เพราะยังมีข้อมูล ในส่วนที่มีผู้หวังดีจัดส่งมาให้กับพรรคที่ต้องพิจารณาอีกครั้งว่ามีประโยชน์ต่อการยื่น ถอดถอนหรือไม่ และต้องดูอีกว่ามีรัฐมนตรีในครม.คนไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง ส่วนที่ฝ่ายค้านได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลไปยังกระทรวงต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานกลับมา จึงต้องรอในส่วนนี้ด้วย

เลขาป.ป.ช.แจงกมธ.ที่มาชอบด้วยกม.
วันเดียวกัน นายศราวุธ เมนะเศวตเลขาธิการ ป.ป.ช.ได้เข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน เป็นประธาน หลังคณะกรรมาธิการฯหลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ และพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย ให้ตรวจสอบ ที่มาของ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ว่าถูกต้องหรือไม่
ี้นาย ศราวุธ ได้ยืนยันต่อกรรมาธิการฯว่า ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน มาถูกต้อง ตามประกาศ คปค.ฉบับ ที่ 19 และ 31 โดยเฉพาะ ประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ที่ระบุว่าให้ พ..ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ต่อไปโดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา นอกจากนี้ ตนยังได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในประเด็นการโปรดเกล้าฯ ป.ป.ช.โดย เลขาฯ ครม.ขณะนั้น ได้ทำหนังสือตอบกลับและยืนยันว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้น ที่มาของ ป.ป.ช. จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการแต่งตั้งที่ปรึกษา และผู้ช่วยเลขา ป.ป.ช. เป็นหน้าที่ ของสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน
นายศราวุธ กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่า ป.ป.ช. ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการตรวจสอบการถือครองหุ้น ของ ส.ส. และ ส.ว. ที่มีหุ้นในบริษัท ที่ทำสัมปทานกับรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า หาก ส.ส. และ ส.ว. ยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ตรวจสอบ จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย โดยป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่ เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะ ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบเพียง ว่า ส.ส. และ ส.ว. ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่เท่านั้น

กกต.ไม่วังวลหลุดเก้าอี้จากการแก้รธน.
นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่ รัฐบาลเตรียมที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะที่มาขององค์กรอิสระ กกต.ว่ากกต.ไม่รู้สึกกังวล ใครมีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป กกต.มีหน้าที่จัดการเลือตั้งก็ทำ ไป ใครอยากจะแก้อะไรก็แก้ไป และหากแก้กฎหมายได้แล้วเป็นอย่างไรเขาให้ออก เราก็ให้ออก ส่วนที่มาของกกต.นั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามาจาก คมช. หากจะตำหนิก็ต้องไปตำหนิคมช. อย่ามาเหมารวม
ผมมองว่า การที่กกต.ถูกแต่งตั้งมาไม่ถูกต้องนั้นไม่สำคัญ แต่อย่าไปบอกว่า ไม่ถูกต้อง ต้องบอกว่าไม่ชอบที่ คมช.แต่งตั้งมากว่า และก็มาอ้างอยากได้องค์กรอิสระที่มาจากรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง เหมือนกับคนที่อยากได้รถที่ดีที่ทำจากต่างประเทศไม่ใช่ทำในประเทศ

เตรียมส่งสมัครจ่อชิมไปบ่นไปให้ศาล
นายสุเมธ ยังกล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคพลังประชาชยื่นให้ตรวจสอบส.ส. และ ส.ว. ที่ถือหุ้นบริษัทที่ทำสัมปทานของรัฐ ว่า เรืองดังกล่าว กกต.ได้มีมติให้อนุกรรมการ ไต่สวนฯชุดที่ 2 และชุดที่ 3 ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้เวลา 30 วันสรุปเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกกต. เพื่อพิจารณาต่อไป
ส่วนกรณีคำร้องที่ตรวจสอบนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไปจัดรายการ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า ที่กต.ได้มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้วนั้น นายสุเมธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมเอกสารและข้อมูลของเจ้าหน้าที่เพื่อเสนอต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้เซ็นรับรองส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการ ส่งคำร้อง ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป ทังนี้เอกสารดังกล่าวไม่ต้องนำเข้ามาที่ประชุมกกต.อีกแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น