xs
xsm
sm
md
lg

ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อประโยชน์ประชาชน และส่งเสริมการเมืองสุจริต

เผยแพร่:   โดย: ชมรม สสร.50

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ปรากฏในพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550




“...เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การออกเสียงลงประชามติปรากฏผลว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป

ทรงพระราชดําริว่า สมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน…”




1.กระบวนการรีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้เพียงไม่กี่เดือน และได้นำมาใช้ยังไม่ครบถ้วนทุกมาตรา กลับมีการเร่งรีบขอเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยเห็นได้ว่า มีเหตุจูงใจ ดังนี้

1.1 หลังจากที่มีกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้กระทำผิดกฎหมาย ทุจริตการเลือกตั้งหรือซื้อเสียง เป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ลงมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และต้องดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมืองนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 จึงปรากฏว่า ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองนั้น ได้ผลักดันการแก้ไขลบล้างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 เพื่อแทรกแซงและตัดตอนการดำเนินคดียุบพรรคการเมือง

1.2 หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ทำการไต่สวนคดีทุจริตประพฤติมิชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพวก จนถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงปรากฏว่า ส.ส.ในสังกัดพรรคพลังประชาชน ได้ผลักดันแก้ไขลบล้างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 อันจะเปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยิบยกขึ้นอ้างเพื่อล้มล้างการดำเนินคดีของ คตส.

1.3 ในภายหลัง เมื่อถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล กำลังใช้อำนาจที่ได้มาจากประชาชนไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเท่านั้น จึงได้กลบเกลื่อน โดยจะแก้ไขมาตราอื่นๆ เพิ่มเติม และในที่สุด ก็อ้างว่าจะแก้ไขทั้งฉบับ โดยนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทน ซึ่งเท่ากับว่า จะมีผลเป็นการแก้ไขลบล้างบทบัญญัติมาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปในตัว

2. หากยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) โดยกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทน จะเกิดความเสียหายอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) เป็นการบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาจากฐานเดิมของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยอาศัยหลักว่า “ของดีคงไว้ ข้อบกพร่องแก้ไข และให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น” เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น แม้จะมีส่วนดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ถูกพรรคการเมืองในยุคที่ผ่านมาใช้อำนาจบิดเบือนกลไก บิดผันเจตนารมณ์ บั่นเซาะ ทำลายเนื้อในจนเหลือแต่เปลือกนอก เสมือนว่า “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ตั้งแต่ช่วงปลายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) หากเปรียบเทียบกับรถยนต์ก็เป็นรถคันเดิม แต่ทำการยกเครื่องใหม่ เพราะเครื่องเดิมชำรุดหมดแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ และความปลอดภัยของประชาชนเจ้าของรถเป็นสำคัญ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเสมือนนำเครื่องยนต์ที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ออกไป โดยที่ยังไม่ทันได้ใช้งานเห็นผลเต็มประสิทธิภาพ กลับจะเอาเครื่องเก่าที่ชำรุดอยู่เดิมใส่เข้ามาแทน

หากยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทน จะเปิดโอกาสให้เกิดปัญหาและอาจเกิดความเสียหายรุนแรงแก่ส่วนรวม ดังต่อไปนี้

2.1 เปิดโอกาสให้มีการผูกขาดอำนาจรัฐ ไม่โปร่งใส ไร้จริยธรรม

(1) สภาผู้แทนฯ จะตรวจสอบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ยากขึ้น

การเปิดอภิปรายนายกฯ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ใช้ ส.ส. 1 ใน 5 หรือ 96 คน แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องใช้ ส.ส. 2 ใน 5 หรือ 200 คน ส่วนการเปิดอภิปรายรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ใช้ ส.ส.1 ใน 6 หรือ 80 คน แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องใช้ ส.ส. 1 ใน 5 หรือ 100 คน

นอกจากนี้ ในกรณีจำนวนเสียงไมถึง รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็เปิดช่องทางไว้ โดยเมื่อครบ 2 ปี ส.ส.ครึ่งหนึ่งของฝ่ายค้านก็สามารถเปดอภิปรายได้ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญ 2550 ยังปิดช่องการย้ายตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อหลบหนีการอภิปราย ซึ่งหากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ฝ่ายนิติบัญญัติจะตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างยากลำบาก

(2) ปัญหาการซื้อสียง ทุจริตเลือกตั้ง ไม่มีบทลงโทษที่เด็ดขาดดังเดิม

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะหายไปทันที ทั้งๆ ที่ เป็นบทบัญญัติให้มาตรการจัดการกับปัญหาการทุจริตเลือกตั้งและซื้อเสียงอย่างเด็ดขาดและเอาจริง โดยบัญญัติบทลงโทษพรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดถึงขั้นยุบพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองดูแลคนของตนไม่ให้ทุจริตเลือกตั้งและซื้อเสียง และถ้าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรครู้แล้วไม่แก้ไขก็จะต้องถูกห้ามเล่นการเมือง 5 ปี

ขนาดมีบทลงโทษที่เด็ดขาด ยังมีการทุจริตเลือกตั้งและซื้อเสียงขนาดนี้ ถ้าไม่มีบทบัญญัติมาตรา 237 วรรค 2 แล้ว สภาพปัญหาจะร้ายแรงกว่าเดิมขนาดไหน

(3) เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองควบรวมพรรคการเมืองอื่นหลังเลือกตั้ง

นายทุนพรรคการเมืองและนักการเมือง จะมีช่องทางดำเนินการเพื่อผูกขาดอำนาจรัฐ ยึดครองเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา โดยอาศัยอำนาจเงินและอำนาจรัฐ ควบรวม เทคโอเวอร์พรรคการเมือง ภายหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคของตนมีจำนวน ส.ส.ในสังกัดเพิ่มมากขึ้นกว่าจำนวนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

(4) ปัญหาจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจังดังเดิม

จะไม่มีการบัญญัติหมวดคุณธรรมและจริยธรรมของผูดํารงตําแหนงทางการเมืองและเจาหนาที่ของรัฐที่ชัดเจน เหมือนดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) กำหนดให้มีประมวลจริยธรรมภายใน 1 ปี และจะไม่มีการกําหนดโทษการฝาฝนมาตรฐานจริยธรรม รวมทั้งไม่สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เสมือนหนึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องถูกกำกับควบคุมทางจริยธรรมอย่างมีมาตรฐานดังเช่นวิชาชีพอื่นๆ อาทิ หมอ พยาบาล ทนายความ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น

(5) เปิดโอกาสให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือปัญหาการมีส่วนได้ส่วนเสียดังเดิม

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) คู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะสามารถเปนหุนสวนหรือถือครองหุนบริษัทธุรกิจต่อไปได้ และสามารถหลบเลี่ยง โดยไม่แจ้งทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ในชื่อผู้อื่น เปิดโอกาสให้นักธุรกิจการเมืองสามารถมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและผลประโยชน์ส่วนตัว

นอกจากนี้ ส.ส.และ ส.ว. ก็จะสามารถหลบเลี่ยง ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยูในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น และไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้เกิดการปกปิดหรือแจ้งเท็จได้ง่ายขึ้น

(6) เปิดโอกาสให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถครอบงำแทรกแซงวุฒิสภาดังเดิม

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้าครอบงำแทรกแซงวุฒิสภา เหมือนเช่นที่เคยเป็นมา ซึ่งทำให้ ส.ว.ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มีสภาพล้มเหลว ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง ไม่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองและนักการเมือง แต่กลายเป็นสภาผัว-เมีย สภาหมอนข้าง หรือสภาเครือญาติ เพราะอาศัยฐานเสียงเลือกตั้งเดียวกันกับ ส.ส. อันจะทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือนไปด้วย

ดังปรากฏว่า นักการเมืองบางคน สังกัดพรรคการเมืองแล้วสอบตกในการเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะกระโดดข้ามไปลง ส.ว. หรือมีสามีเป็น ส.ส. หรือเป็นรัฐมนตรี แล้วส่งลูกส่งเมียไปเป็น ส.ว. เพื่อคอยปกป้องดูแล แต่ไม่ตรวจสอบแทนประชาชน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) จึงได้ยกเครื่อง ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติและที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อให้สอดรับกับอำนาจหน้าที่อันแท้จริงของ ส.ว.มากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้แทนประชาชนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ส.ส. สท. อบต. อบจ. เป็นต้น โดยที่ ส.ว.ต้องปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมือง จึงกําหนดให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการสรรหาจากตัวแทนของภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น จำนวน 74 คน เพื่อให้ได้ตัวแทนของกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น เกษตรกร คนพิการ ฯลฯ รวมเป็น 150 คน พร้อมกําหนดคุณสมบัติของผูที่จะดํารงตําแหนง ส.ว.ใหสูงขึ้น เพื่อใหไดมาซึ่งบุคคลที่มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติหนาที่ในฐานะ ส.ว.อยางแทจริง อาทิ ต้องไม่เป็นบุพการี สามี ภรรยา หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องพ้นจากพรรคการเมืองหรือพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.อย่างน้อย 5 ปี ต้องไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง เป็นต้น

(7) เปิดโอกาสให้นักการเมืองก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการและหน่วยงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวดังเดิม

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะเปิดโอกาสให้นักการเมือง ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพรรคพวกในลักษณะต่างๆ ทั้งสั่งการโดยตรง และอ้างตำแหน่งไปบีบบังคับ กดดัน อวดเบ่ง ข่มขู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวบางรูปแบบ อาทิ ฝากเด็กเข้าเรียน ฝากลูกน้องเข้าทำงาน หรือให้โยกย้ายเจ้าหน้าที่ข้าราชการบางคน หรือแม้แต่เข้าไปแทรกแซงผลประโยชน์ในหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีบทบัญญัติห้ามการกระทำดังกล่าวเหมือนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 266 ได้ห้ามเอาไว้อย่างชัดเจน

การอ้างว่า บทบัญญัติมาตรา 266 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ทำให้การบริหารราชการไม่สะดวก ติดขัด เป็นอุปสรรค เป็นการอ้างที่เป็นเท็จ เพราะภายใต้บทบัญญัตินี้ ฝ่ายบริหารสามารถสั่งการบริหารราชการได้ตามปกติ หากการสั่งการดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือของพรรคการเมือง

2.2 เปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระผ่านกระบวนการสรรหา

เนื่องจากระบบการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่สามารถทำให้องค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง เพราะเปิดช่องทางให้พรรคการเมืองสามารถครอบงำแทรกแซงในขั้นตอนกระบวนการสรรหา โดยใช้เสียงตัวแทนพรรคการเมือง “บล็อคโหวต” จนทำให้บุคคลที่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองไม่สามารถผ่านการสรรหา ยังผลให้องค์กรอิสระต่างๆ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญบางส่วน ฯลฯ ได้บุคคลที่พรรคการเมืองต้องการ หรือตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง กระทั่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ

การที่องค์กรอิสระถูกครอบงำแทรกแซงจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปัญหาสำคัญของชาติบ้านเมืองไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นที่ยุติและเป็นธรรม ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “วิกฤติที่สุดในโลก”

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(2550) จึงได้ยกเครื่อง ปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ เพื่อให้มีความเป็นอิสระจากพรรคการเมืองอย่างแท้จริง โดยเพิ่มบทบาทของอำนาจฝ่ายตุลาการในการสรรหาองค์กรอิสระและวุฒิสภาส่วนหนึ่ง เพื่อตัดวงจรกินรวบของพรรคการเมืองและนักการเมือง

ดังนั้น หากกลับไปใช้การสวรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เท่ากับว่า เปิดช่องทางให้แก่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ต้องการผูกขาดและยึดครองอำนาจรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายที่คุ้นชินและรู้ช่องทาง วิธีการ และเล่ห์กลในการแทรกแซงครอบงำกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระอย่างจัดเจน

2.3 เปิดโอกาสให้มีการตัดตอนคดี ล้มคดี แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่ากับว่า ลบล้างบทบัญญัติมาตรา 237 วรรค 2 ที่พรรคการเมืองได้กระทำความผิด และกำลังถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม การตัดบทบัญญัติดังกล่าวออกไป จึงเป็นการตัดตอนคดี ไม่ให้พรรคการเมืองที่กระทำผิดถูกดำเนินคดีตามบทบัญญัติดังกล่าว

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่มีบทบัญญัติมาตรา 309 ที่เป็นการรับรองสภาพตามรัฐธรรมนูญของ คตส. จึงเป็นการเปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย อันอาจจะทำให้ผู้ที่ถูก คตส. ดำเนินคดีฐานทุจริตประพฤติมิชอบ นำมาใช้เพื่อล้มคดี โดยกล่าวอ้างว่า คตส.ไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับตน เท่ากับว่า จะไม่ต้องพิสูจน์การกระทำความผิดของตน

2.4 ลดทอนสิทธิประโยชน์และมีส่วนร่วมของประชาชน

(1) ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงยากขึ้น

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) การเขาชื่อเสนอรางกฎหมาย จาก 10,000 ชื่อ จะต้องใช้ 50,000 ชื่อ ยิ่งกว่านั้น ประชาชนยังถูกตัดสิทธิ ไม่สามารถมีตัวแทนเป็นกรรมาธิการและชี้แจงในรัฐสภา

การถอดถอนผูดํารงตําแหนงทางการเมือง จาก 20,000 ชื่อ จะต้องใช้ 50,000 ชื่อ

นอกจากนี้ ประชาชนยังจะถูกตัดสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปโดยสิ้นเชิง

ในประการสำคัญ “กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” และ “สภาพัฒนาการเมือง” ที่จะมีขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ก็จะถูกตัดตอนไปอีกด้วย

(2 ) เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองกีดกันสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยชะลอการออกกฎหมายลูกรองรับสิทธิประโยชน์ของประชาชน

นอกจากรัฐธรรมนูญ 2540 จะให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) แล้ว สิทธิต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ยังถูกกำกับด้วยบทบัญญัติว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารใช้วิธีการหน่วงเหนี่ยว โดยชะลอการออกกฎหมายลูกมารองรับ เพื่อกีดกันการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

ดังจะเห็นว่า ที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างแท้จริง อาทิ สิทธิคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิชุมชน สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ ประชาชนเสมือนหนึ่งมองเห็น-อ่านออก แต่จับต้องไม่ได้-เข้าไม่ถึง

ตรงกันข้าม ถ้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) อย่างเต็มที่ต่อไป แมยังไมมีกฎหมายลูกออกมารองรับ ประชาชนก็สามารถใชสิทธิและเสรีภาพเหลานั้นไดทันทีโดยการรองขอตอศาล สามารถอ้างสิทธิบังคับให้รัฐต้องดำเนินการทันที และมีการกําหนดระยะเวลาในการตรากฎหมายลูกเพื่อรองรับเรื่องตางๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนแน่นอน (สวนใหญประมาณ 1 ป) เช่น องค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร สภาเกษตรกร กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เป็นต้น

(3) ตัดสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้แรงงาน

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) ประชาชนผู้ใช้แรงงานจะถูกตัดทอนสิทธิที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทํางาน รวมทั้งหลักประกันในการดํารงชีพทั้งในระหวางการทํางานและเมื่อพนภาวการณทํางาน ซึ่งไดรับการบัญญัติไวเปนครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

(4) ไม่คุ้มครองผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) การดําเนินโครงการขนาดใหญ่ จะไม่ต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเสียก่อน กรณีปัญหาที่ประชาชนและชุมชนถูกทำลายสุขภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ดังเช่น ปัญหาที่มาบตาพุต หรือปัญหาการก่อสร้างหรือการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นต่อไปดังเดิม

(5 ) ตัดตอนสภาเกษตรกร

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) “สภาเกษตรกร” จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีบทบัญญัติรับรองเรื่อง “สภาเกษตรกร” เพื่อเป็นองค์กรปรึกษาหารือ และมีนโยบาย มาตรการ ส่งเสริมการรวมตัวของเกษตร เพื่อแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วยกัน

(6) เปิดโอกาสให้มีการทำสัญญาระหว่างประเทศที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ หรือการเยียวยาจากผลกระทบ

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจบางประเภทบางกลุ่มฉวยโอกาสได้ประโยชน์อย่างไม่โปร่งใสจากการทำสัญญาระหว่างประเทศที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม โดยที่ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากการทําหนังสือสัญญาหรือขอตกลงระหวางประเทศทั้งหลาย (อาทิ เอฟทีเอ) เพราะไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนบังคับให้ฝ่ายบริหารตองเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา รับฟงความคิดเห็นของประชาชน และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อตรวจสอบผลประโยชน์ส่วนรวม และป้องกันการเจรจาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการเอาผลประโยชน์ของประเทศไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว

ยิ่งกว่านั้น ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการลงนามหนังสือสัญญายังจะไม่ได้รับการคุ้มครอง แกไขเยียวยา อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเปนธรรม

ข้ออ้างเรื่องความลับของการเจรจาจะรั่วไหลนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันมิได้บังคับให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างในระหว่างดำเนินการเจราจรต่อรอง

(7 ) เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนการเมืองฮุบสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะเปิดโอกาสให้เอกชนบางรายสามารถเป็นเจ้าของผูกขาดกิจการสาธารณูปโภค

ยิ่งกว่านั้น โครงข่ายสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เป็นสาธารณสมบัติ โดยประชาชนส่วนรวมต้องอาศัยใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิ โครงข่ายสายไฟฟ้า โครงข่ายโทรทัพท์ โทรคมนาคม ดาวเทียม โครงข่ายประปา ท่อก๊าซธรรมชาติ ถนนหนทาง ฯลฯ ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองดังเช่นปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญ 2550) ซึ่งบังคับไว้ว่า รัฐต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายสาธารณูปโภคเหล่านี้ (ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51%) เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับประชาชน

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะเปิดโอกาสแก่กระบวนการผ่องถ่ายผลประโยชน์และความเป็นเจ้าของโครงข่ายสาธารณูปโภคต่างๆ ไปเป็นของกลุ่มทุนการเมือง เกิดขบวนการฮุบสาธารณสมบัติ เช่น ท่อก๊าซ สายส่งไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ผ่านกระบวนการแปรรูปหรือขายหุ้นกิจการต่างๆ

(8) เปิดโอกาสให้นักการเมืองและนายทุน ครอบงำ แทรกแซง บิดเบือนการทำหน้าที่ของสื่อ

นักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะสามารถเป็นเจาของกิจการหรือเปนผูถือหุนในกิจการสื่อมวลชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อใชสื่อสารมวลชนตอยสนองผลประโยชนส่วนตัว อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้มีการครองสิทธิข้ามสื่อ หรือผูกขาดเป็นเจ้าของสื่อหลายๆ แขนง ทำให้มีอิทธิพลอำนาจเหนือระบบข้อมูลข่าวสารของประเทศ

(9) ลดทอนสิทธิและโอกาสของผู้หญิง คนแก่ คนพิการ เด็ก และผู้ด้อยโอกาสในสังคม

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) บัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมโอกาสของกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมปัจจุบันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง เด็ก คนแก่ คนพิการ อาทิ การให้พรรคการเมืองต้องคำนึงถึงการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศหญิง การระบุชัดเจนให้ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือผู้อยุ่ในสภาวะยากลำบากได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น การคุ้มครองให้เด็กต้องได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา รวมถึงการศึกษาทางเลือก การศึกษาตลอดชีวิต การคุ้มครองป้องกันและฟื้นฟูจากความรุนแรง

(10) ปิดโอกาสและตัดช่องทางในการคุ้มครองช่วยเหลือประชาชน

ชุมชนจะสูญเสียสิทธิที่จะฟองศาลไดในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของชุมชน

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่สามารถจะช่วยเหลือประชาชนโดยการฟ้องร้องต่อศาลแทนประชาชนได้

เปิดช่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่าจะต้องได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้เสียหายเสียก่อน

ประชาชนถูกปิดช่องทางในการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และไม่สามารถฟ้องตรงต่อศาลฎีกา เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระแทน ป.ป.ช.

นอกจากนี้ ยังตัดตอน ป.ป.ช.ในระดับจังหวัด ลดทอนช่องทางตรวจสอบการเมือง

4. หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ควรต้องทำอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) ได้ยกเครื่องปรับปรุงขึ้นมาจากพื้นฐานเดิมของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยหลักที่ว่า “ของดีคงไว้ ข้อบกพร่องแก้ไข ให้สิทธิและผลประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น”

การจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 อาจกระทำได้ ตามช่องทางในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม โดยเฉพาะผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม คดีความที่อยู่ในศาล ขัดต่อหลักนิติรัฐ หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

ข้อที่ควรพิจารณา เกี่ยวกับการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย

4.1 ช่วงเวลา

ขณะนี้ ยังไม่สมควรแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่งประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 ยังใช้มาเพียง 9 เดือน สิทธิและผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญยังไม่ทันได้คลอดออกมาสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วย เครื่องยนต์ที่เพิ่งยกเครื่องใหม่ก็ยังทำงานไม่เต็มสูบ ไม่เต็มกำลัง เพิ่งจะอุ่นเครื่องเท่านั้น

4.2 เหตุผลและความจำเป็นของการแก้ไข

การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ใช่การแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ใด หรือเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือนายทุนของพรรคการเมือง หรือไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาหรือฟอกความผิดเฉพาะเฉพาะกลุ่มของผู้ใด

ขณะนี้ ไม่ปรากฏว่า ประเทศชาติจะมีปัญหาจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2550 คงมีแต่เพียงนักการเมืองและพรรคการเมืองบางส่วนที่ทุจริต กระทำผิดรัฐธรรมนูญ จนต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

ตรงกันข้าม หากฝ่ายบริหารเร่งปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ กลับจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล

การแก้รัฐธรรมนูญ ควรจะแก้เมื่อพบว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น ก่อให้เกิดปัญหาหรือความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติส่วนรวมเท่านั้น

4.3 กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมควรจะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเป็นจริง ไม่น้อยไปกว่าเมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญ

สรุป

ขณะนี้ รัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำลังทำงาน

โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมุ่งจะลดการผูกขาดการใชอํานาจรัฐ การใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม การดําเนินการทางการเมืองของนักการเมืองที่ขาดความโปรงใส ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนคุ้มครองการใชสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน

ชมรม สสร.50 จึงมีความเห็นว่า ขณะนี้ ควรชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ตลอดจนสังคมทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาอันกระทบกับชีวอตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรงอย่างเต็มที่ โดยไม่ติดขัด หรือชะงักงันด้วยวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง อันจะเป็นการส่งเสริมและสร้างสรรค์การเมืองที่สุจริตอีกด้วย

“จงมีความสมัครสโมสรเปนเอกฉันท ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษรักษารัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธํารงคงไวซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย”
พระราชปรารภในรัฐธรรมนูญ 2550
........................................




ชมรม สสร.50 เป็นการรวมตัวของอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายเดโช สวนานนท์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ดร.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย ดร.
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.วิชัย รูปขำดี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ดร.ปกรณ์ ปรียากร ดร.วุฒิสาร ตันไชย นายคมสัน โพธิ์คง ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายมานิจ สุขสมจิตร นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ นายวัชรา หงส์ประภัศร นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล นาวสาวอลิสา พันธุ์ศักดิ์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น